“วราวุธ” หัวขบวนใหม่ ชาติไทยพัฒนา มองเกมสุพรรณบุรี FC ส่องกล้อง พท.-ปชป.-นายกฯ ทหาร

“วราวุธ ศิลปอาชา” หัวหน้าที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ทายาททางการเมืองของ “บรรหาร ศิลปอาชา” ผู้เป็นทั้งหัวหน้า ชทพ. และผู้เป็นพ่อ-ผู้บ่มเพาะชีวิต-วิญญาณของชายวัย 44 ปี ที่ชื่อ “ท็อป-วราวุธ”

นอกจาก “มรดก” ทางการเมือง-พรรคชาติไทยพัฒนา ที่นายบรรหารทิ้งไว้ให้กับเขาแล้ว

หลายคนอาจยังไม่ทราบว่านายบรรหารยังเป็นผู้ริเริ่มแนวคิด-ก่อตั้งสโมสรฟุตบอลสุพรรณบุรี เมื่อ พ.ศ.2540 ก่อนจะเป็น “สุพรรณบุรี เอฟซี” ในปัจจุบัน

ผลงานที่ “ดีที่สุด” ของสโมสรสุพรรณบุรี บนเวที “ลีกฟุตบอลสูงสุด” ของไทย ภายใต้การกุมบังเหียนประธานสโมสร-นายวราวุธ คืออันดับ 3 ในปี 2558 เขาตั้งเป้าหมายการทำทีมสุพรรณบุรีไว้หนักแน่นว่า “ก่อนตายผมต้องมีดาวติดอก (เป็นแชมป์ไทยลีก) ให้ได้”

“ปีนี้เราตั้งเป้าไว้ว่าทีมสุพรรณบุรีเอฟซีจะไม่ตกชั้น แต่ปีนี้เอาทีมที่ต้องตกชั้นถึง 5 ทีม หนักหนาสากรรจ์เหลือเกิน ดูคะแนนในตารางตอนนี้ มีที่ไหนคะแนนอันดับ 3 ถึงอันดับ 11 ห่างกัน 2 แต้ม บ้าไปแล้ว ทำทีมฟุตบอลมา 8 ปี ไม่เคยมี”

“ตอนนี้ทีมสุพรรณบุรีอยู่อันดับที่ 8 มี 20 แต้ม แต่อันดับที่ 9-11 มีคะแนน 20 แต้มเท่ากัน อันดับ 3-4 อยู่ที่ 22 แต้ม อันดับที่ 5-7 อยู่ที่ 21 แต้ม เพราะฉะนั้น 9 ทีมมีอันดับห่างกัน 2 แต้ม โอ้โห้ มันไม่เคยเบียดกันใกล้ขนาดนี้”

นอกจาก “ความท้าทาย” ในเกมฟุตบอลแล้ว ความท้าทายใน “เกมการเมือง” ก็เป็นกีฬาที่สูบฉีดอยู่ในสายเลือดของเขาเช่นเดียวกัน

“แต่การเมืองมันนับแต้มกันอย่างนี้ไม่ได้ ความซับซ้อนมันมากกว่า ต้องดูกันต่อไปว่า เอาเข้าจริงๆ จะออกมาเป็นอย่างไร แต่ความท้าทาย ความสนุกสนาน บอลสนุกถึงแม้จะเครียดแต่ไม่เครียดเท่าการเมือง”

ความยาก-ง่ายระหว่างการทำงานการเมือง-พรรคชาติไทยพัฒนากับการทำทีมสุพรรณบุรีอันไหนยากกว่ากัน เขาตอบโดยไม่ลังเลว่า “การเมืองยากกว่าเยอะ”

“เมื่อก่อนผมคิดว่าการทำทีมฟุตบอลยากนะ แต่ตอนนั้นนายบรรหารยังอยู่ทำงานการเมือง วันนี้พอนายบรรหารไม่อยู่ เราต้องมาทำเอง มันมีความซับซ้อน…”

“แนวความคิดใกล้เคียงกันแต่จำนวนทีมมันไม่เยอะเหมือนทีมฟุตบอล ไทยลีกมีอยู่ 18 ทีม ปีหน้าจะเหลือ 16 ทีม พรรคการเมืองในไทย ถึงแม้ตอนนี้จะมีร้อยกว่าพรรค แต่ที่ทำงานกันจริงๆ มันก็มีอยู่เพียงหยิบมือเดียว ไม่ถึง 10 พรรค”

“ที่ผ่านมาเรามีพรรคการเมืองมากมายเกิดขึ้น เพราะว่าบางพรรคก็มีความคิดที่แตกต่างกันไป แต่ภายใต้กรอบ-บริบทใหม่ของกฎหมายพรรคการเมือง ต้องการให้มีพรรคการเมืองเยอะก็จริง ร้อยกว่าพรรค แต่จะอยู่คงกระพันได้หรือเปล่า ตอบไม่ได้”

“จำนวนพรรคที่มีอยู่มันไม่ Active เหมือนทีมฟุตบอล แต่ระดับความซับซ้อนของการทำงานและการตัดสินใจมันมากมายกว่าทีมฟุตบอลแน่นอน”

นอกจากการทำพรรคการเมืองที่ซับซ้อนกว่าการทำทีมฟุตบอลให้ไปสู่เป้าหมายสูงสุดแล้ว เขายังมองว่า การแข่งขันฟุตบอลเมื่อนกหวีดเป่าหมดเวลาแล้วต้องเคารพกติกา ทุกทีมต้องยอมรับผลการแข่งขัน แต่กติกาการเมืองไม่ขลังเหมือนเกมฟุตบอล

“ฟุตบอลจบแล้วก็คือจบ อาจจะมีแฟนบอลตีกันบ้าง แต่การเมืองบางครั้งจบแล้ว แต่รู้สึกว่าไม่จบ ยังเล่นกันต่อ เล่นกันนอกสนาม ผลการตัดสินออกมาเป็นอย่างไรแล้ว ยังออกมานอกสนามกันอยู่”

“ผมคิดว่า กติกาการเมืองมันไม่ขลังเหมือนกับกติกาฟุตบอล ฟุตบอลเป่าปรี๊ดขึ้นมาคุณไม่พอใจ อาละวาด ใบแดง คุณออกจากสนาม ถ้าไม่ออกนี่หิ้วออกเลยนะ ฟุตบอลเป่าปรี๊ดลูกโทษ คุณยอมรับหรือไม่ยอมรับ เตะปุ้ง ชนะแล้ว จบเกม”

“การเมืองไม่ยอม ไม่รู้จะให้ใครมาหิ้วออก เป่าปรี๊ดโดนใบแดงแล้ว ฉันไม่ออก ฉันไม่ยอมแพ้ เอาแฟนบอลมารุมกรรมการอีก เพราะฉะนั้น บางครั้งความซับซ้อนของการเมืองมันมากกว่าฟุตบอล”

“ทั้งสองอย่างเรียกว่าเป็นความท้าทายที่ไม่แพ้กัน”

หากเปรียบการทำการเมืองเหมือนกับการทำทีมฟุตบอล เขาเชื่อว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จไม่แตกต่างกันมากนัก ระหว่างพรรคการเมือง 2 พรรคใหญ่ อย่างพรรคเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ กับทีมฟุตบอล “บิ๊กเนม” อย่างทีมเมืองทอง-บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด

“ปัจจัยที่ไม่ค่อยต่างกันคือ ตังค์ ตังค์เขาเยอะเหลือเกิน ทีมบุรีรัมย์ตังค์เยอะมาก…(ลากเสียงยาว) เหมือนกันพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ตังค์เยอะมาก…(ลากเสียงยาว) เราพรรคขนาดกลาง ทีมขนาดกลาง ตังค์ก็น้อยหน่อย”

“ตังค์เยอะทีมใหญ่กว่า ตังค์เยอะก็พรรคใหญ่กว่า ดูแล ส.ส. ได้เยอะกว่า คุณจะเอานักเตะเก่งๆ มาได้ คุณต้องมีตังค์ ถ้าไม่มีตังค์เขาก็ไม่มาเหมือนกัน”

“การจะขึ้นไปเป็นแชมป์ก็ต้องทุนหนาหน่อย การจะทำงานการเมืองให้ไปถึงจุดสุดยอด-เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล คุณก็ต้องทุนหนาหน่อย”

“เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ตังค์เยอะเหลือเกิน ชาติไทยพัฒนาตังค์น้อยหน่อยก็ขอ 20-30 ที่นั่งก็พอแล้วกัน”

“สิ่งหนึ่งที่ผมทำพรรคการเมืองกับทีมฟุตบอลเหมือนกันคือ ไปถามนักฟุตบอลในสโมสรจะรู้สึกว่าสโมสรนี้เหมือนบ้าน เหมือนครอบครัว พรรคชาติไทยพัฒนาก็อยู่กันเหมือนบ้าน เหมือนครอบครัวเหมือนกัน”

“แต่เหตุผลของการย้ายของ ส.ส. กับเหตุผลของการย้ายของนักฟุตบอลอาจจะแตกต่างกัน นักฟุตบอลอาจจะอยู่บ้านนี้แล้วรู้สึกว่า โอ้โห ไม่ชอบประธานสโมสร อยู่แล้วเครียด ย้ายดีกว่า แต่ ส.ส. จะมีปัจจัยในพื้นที่ กระแสทางการเมือง แตกต่างกันไป”

อย่างไรก็ตาม “วราวุธ” เชื่อลึกๆ ว่า “เงินไม่ใช่ทุกอย่าง” เช่น สโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้ แม้จะเป็นทีมเล็กแต่สามารถก้าวขึ้นสู่การเป็นแชมป์ลีกสูงสุดของอังกฤษได้

“การจะขึ้นไปเป็นแชมป์ต้องเก่งบวกเฮง เก่งอย่างเดียวไปไม่รอด เฮงอย่างเดียวไปไม่รอด”

การเป็นนายกฯ ต้องเก่งบวกเฮง?

“การจะเป็นนายกฯ ต้องมีดวง บางคนตั้งเป้าจะเป็น ไม่ได้เป็น บางคนเฮงอย่างเดียว โชคดีอย่างเดียวแต่ไม่เก่ง ก็ไปไม่ถึงไหน จะทำอะไรก็แล้วแต่ ดวงต้องให้ด้วย”

“บทคุณจะไม่ได้ มันก็ไม่ได้ พยายามให้ตายยังไงคุณก็ไม่ได้ แต่บทคุณจะได้ คล้ายๆ นักฟุตบอล นักเตะคนนี้ดวงมันจะมาอยู่สุพรรณฯ เดี๋ยวมันก็มา ดวงมันจะไม่อยู่ ขึ้นเงินเดือนให้ มันก็ไม่มา ฉะนั้น มันต้องประกอบกันทั้งสองอย่าง”

ด้วยความเป็นคนชอบความท้าทาย “วราวุธ” นอกจากการลุ้นทีมฟุตบอลที่เขาทำกับมือแล้ว ยังชอบเล่นกีฬาวิ่ง ว่ายน้ำและปั่นจักรยาน เขาบอกว่า นิสัยชอบความท้าทายเพราะเหมือน “บรรหาร-ผู้พ่อ”

“อย่าท้า ท้าผมแล้ว ผมต้องทำให้ได้ แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับ เหมือนกับฟุตบอล นัดนี้แพ้ นัดหน้ายังมี เลือกตั้งครั้งนี้ไม่เป็นอย่างที่เราคิด เลือกตั้งครั้งหน้า เราก็มาปรับปรุงแผนการ นโยบาย ยุทธศาสตร์กันใหม่”

ขณะที่ความท้าทายทางการเมืองที่เขาต้องไปให้สุด คือ “พรรคการเมืองที่ชื่อชาติไทยพัฒนานั้นต้องอยู่ไปจนกว่าผมจะตาย”

“ถ้าพรรคนี้จะยุบไปก็ต้องรอให้ดินกลบหน้าผมก่อน ค่อยยุบ ค่อยรวมกับคนอื่น”

“ตราบใดที่ผมยังอยู่ผมจะทำทุกอย่างให้พรรคนี้เป็นองค์กรทางการเมือง ให้พรรคนี้เป็นบ้านหลังที่ใหญ่เหมือนอย่างที่นายบรรหารและผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรคสร้างมา ให้พรรคนี้ทำคุณประโยชน์ให้กับแผ่นดินเกิด แข่งขันกับต่างชาติได้ เลิกตีกันเอง”

“เรื่องตำแหน่งไม่ต้องมาพูดกับผม ผมอยากทำงานเพราะผมรู้แล้วว่า สิ่งที่ทำให้คนเราไม่ตาย เป็นอมตะ คือผลงานและความดีที่ทิ้งเอาไว้ เหมือนนายบรรหาร คนก็ยังถวิลหา ระลึกถึงตลอดเพราะผลงานและความดีที่ท่านทำเอาไว้”

“ตัวผมก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ท่านทิ้งเอาไว้บนโลกใบนี้ ระหว่างที่ท่านไม่อยู่ และในอนาคตลูก 3 คนของผมก็คือสิ่งที่ผมทิ้งเอาไว้ในโลกใบนี้ เป็นตำนานของผม โดยลูกทั้งสามคนของผม”

เขาทิ้งท้ายว่า ปรัชญาการทำงานการเมืองกับการทำทีมฟุตบอลสุพรรณบุรี มี 3 คำ คือ “วินัย มั่นเพียร ซื่อสัตย์” เป็นคำ 3 คำที่ติดอยู่ใน “โลโก้” สโมสรสุพรรณบุรี “บนอกเสื้อ” แปลเป็นภาษาละตินว่า “Modestia Peseverantia Probitas”

เป็น 3 คำที่เขาเรียนรู้จากนายบรรหารผู้ล่วงลับ