การโจมตีซีเรีย และความเหนือกว่า ของขั้วอิหร่าน-รัสเซีย ตอนที่ 1

จรัญ มะลูลีม

แม้ว่าการร่วมกันใช้ขีปนาวุธถล่มซีเรียของสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2015 จะเป็นการลงโทษซีเรียจากการใช้อาวุธเคมี

แต่ก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ในดินแดนที่เรียกกันว่า Levant (หมายถึงดินแดนขนาดใหญ่ทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและดินแดนทางเหนือของทะเลอาหรับและทางใต้ของตุรกี ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะรวมทั้งอิสราเอล จอร์แดน ปาเลสไตน์และซีเรีย แต่ในกรณีนี้คือซีเรีย) แต่อย่างใด

อิทธิพลของขั้วรัสเซีย-อิหร่านได้เข้าครอบคลุมพื้นแผ่นดินแถบนี้ไปเรียบร้อยแล้ว

อิทธิพลดังกล่าวของสองประเทศที่ขยายจากเลบานอนไปจนถึงอิรักยังคงมีอยู่อย่างไม่มีอะไรจะมาสั่นคลอนได้

อย่างดีที่สุดสิ่งที่อาจจะเกิดหลังการโจมตีที่แลเห็นได้ก็คือการถอยห่างของตุรกีจากรัสเซียและอิหร่านไปสักระยะหนึ่ง

 

กล่าวกันว่าซีเรียเป็นภาพย่อๆ ในทางภูมิรัฐศาสตร์ของกระดานหมากรุก เป็นกลุ่มก้อนของสามประเทศที่ทำงานร่วมกันอย่างหลวมๆ เพื่อเอาชนะกลุ่มไอเอส (Islamic State) ทั้งนี้ รัฐบาลอะสัดได้รับการสนับสนุนทั้งจากอิหร่านและรัสเซีย

ในความขัดแย้งดังกล่าวสหรัฐได้เข้าไปหนุนช่วยชาวเคิร์ดและกบฏซีเรียกลุ่มต่างๆ เพื่อโค่นล้มรัฐบาลในขณะที่ตุรกีพยายามวางแผนให้สองกลุ่มมาชนกัน

ถึงทุกวันนี้ไพ่ทั้งหลายที่เล่นกันอยู่ได้เอนเอียงไปทางรัสเซียและอิหร่าน การสนับสนุนของพวกเขาช่วยให้รัฐบาลบาชัร อัล-อะสัดทำหน้าที่ได้ต่อไป รัฐบาลของอะสัดได้ทำให้ฝ่ายกบฏหมดกำลังไปทีละกลุ่ม

การเข้าโจมตีซีเรียของสหรัฐและพันธมิตรตะวันตกในเมืองดูมา (Douma) ด้วยข้ออ้างว่าซีเรียใช้อาวุธเคมี เปิดโอกาสให้ซีเรียถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธ

แต่มันก็นำไปสู่การยอมแพ้ของกบฏกลุ่มต่างๆ ในเวลาเดียวกัน

 

การมีอยู่ของทหารสหรัฐก็จำกัดไว้ที่ 2,000 นายเพื่อปกป้องชาวเคิร์ด (Kurdish) ที่รวมกันอยู่ทางตอนเหนือของซีเรีย ซึ่งเวลานี้ตุรกีได้หันปากกระบอกปืนไปที่คนเหล่านี้

แม้ว่ารัสเซียอาจจะไม่แสดงความเป็นปรปักษ์กับอิสราเอลให้เห็นอย่างอิหร่าน และก็ไม่ได้ต่อต้านชาวเคิร์ดอย่างที่ตุรกีได้กระทำ

แต่ทั้งรัสเซีย อิหร่าน และซีเรียได้ตกลงร่วมกันที่จะผลักดันให้ประเทศตะวันตกหลุดออกไปจากความข้องเกี่ยวในซีเรียให้เร็วที่สุด

จากขีปนาวุธที่ถล่มใส่ซีเรีย ทำให้ตุรกีหันไปอยู่กับพันธมิตร NATO พร้อมเรียกการถล่มนี้ว่าเป็นความ “เหมาะสมดีแล้ว” แต่ในเมื่อสหรัฐในเวลานี้ไม่มียุทธศาสตร์ในซีเรียและดินแดนอื่นๆ ของ Levant ในที่สุดตุรกีก็อาจกลับไปสู่วงจรอันยากลำบากที่ล้อมรอบไปด้วยรัสเซียและอิหร่านอีกครั้ง

ทั้งรัสเซียและอิหร่านต่างก็ชอบที่จะให้ตุรกีออกห่างจากประเทศตะวันตก แต่ทั้งสองประเทศก็รู้ว่าซีเรียเป็นศัตรูที่ขมขื่นของตุรกี ทั้งสองประเทศต่างก็เตือนตุรกีมิให้ใช้ความพยายามที่จะเอาเมืองอัฟริน (Afrin) อันเป็นเมืองของชาวเคิร์ดในซีเรียมาอยู่ในมือของตน

ดังได้กล่าวมาแล้วสหรัฐนั้นไม่มีนโยบายอะไรให้เห็น นอกไปจากการส่งขีปนาวุธไปยังพื้นที่ที่คาดหมายกันว่ามีการใช้อาวุธเคมีของซีเรีย

พร้อมกับคาดหมายให้ตัวแสดงต่างๆ ในภูมิภาคทำงานต่อไปหลังจากได้ทิ้งพื้นที่ไปก่อนที่จะมีการถล่มด้วยขีปนาวุธจากพันธมิตร NATO

อนาคตของชาวเคิร์ดกำลังถูกทำให้มืดมิดลง ทรัมป์ต้องการเอาทหารของตนกลับบ้าน ในขณะที่ฝ่ายความมั่นคงต้องการให้ทหารสหรัฐอยู่ที่ซีเรียต่อไปเพื่อป้องกันอิสราเอลเอาไว้จากอิหร่าน และตรึงกำลังของรัสเซียเอาไว้

อย่างไรก็ตาม การไม่ได้รับความร่วมมือจากทำเนียบขาวทำให้ในที่สุดฝ่ายความมั่นคงอาจจะต้องเลือกเอาเส้นทางทางยุทธศาสตร์มาใช้เสียมากกว่า

รัสเซียและอิหร่านร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นเพื่อขจัดอิทธิพลของสหรัฐให้หมดไป ไม่ว่าการร่วมมือกันระหว่างสองประเทศจะมีระยะเวลาสั้นๆ หรือต้องยืดยาวออกไปก็ตาม

 

เชื่อกันว่าความมุ่งหวังของรัสเซียจะอยู่ที่การทำให้ซีเรียมีความมั่นคงทางการเมือง รัสเซียจึงสนับสนุนให้มีการประชุมที่กรุงอิสตานา ในการประชุมซึ่งมีอิหร่านและตุรกีร่วมอยู่ด้วยนี้ รัสเซียต้องการให้ชาวเคิร์ดและกบฏซีเรียบางกลุ่มร่วมด้วยเพื่อหาทางออกให้กับสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานมาถึงเจ็ดปี

อาจกล่าวได้ว่าสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศสเข้าโจมตีกองทหารอาหรับซีเรีย ด้วยข้อกล่าวหาว่ามีอาวุธเคมีในเมืองดูมา (Douma) ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการตรวจสอบว่าอาวุธดังกล่าวเป็นการกระทำของซีเรียหรือไม่

ทรัมป์ได้ออกมาประชาสัมพันธ์แผนการของเขาเพื่อ “ลงโทษ” ซีเรียมานับตั้งแต่สำนักข่าวตะวันตกได้รายงานถึงการใช้ก๊าซคลอรีนกับประชาชนในเมืองดูมา

ทรัมป์ข่มขู่ที่จะโจมตีประเทศที่ถูกทำลายด้วยสงครามกลางเมืองมา 7 ปี เป็นสงครามที่ประชาชนซีเรียต้องแบกรับ ทั้งๆ ที่สงครามนี้ถูกชี้นำโดยสหรัฐและพันธมิตรใกล้ชิดในภูมิภาค

เมื่อการโจมตีเกิดขึ้นจริง มันกลับกลายเป็นสงครามที่มีขอบเขตสั้นๆ ใช้เวลาแค่หนึ่งชั่วโมงและเป็นปฏิบัติการในช่วงที่เต็มไปด้วยความมืด

รัฐบาลซีเรียได้กล่าวปฏิเสธมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าซีเรียไม่ได้ใช้อาวุธเคมีต่อประชาชนของตน ความจริงในปี 2014 ซีเรียได้มอบอาวุธเคมีทั้งหมดของตนให้อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การระหว่างประเทศไปเรียบร้อยแล้ว

องค์การ OPCW ได้ยืนยันว่าในปัจจุบันไม่มีโรงงานอาวุธเคมีในซีเรียแต่อย่างใด

องค์กร VIPS หรือองค์กรข่าวกรองที่ประกอบไปด้วยอดีตเจ้าหน้าที่สหรัฐได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้หาหลักฐานให้ชัดเจนก่อนที่ทรัมป์จะออกคำสั่งให้มีการถล่มซีเรีย

หน่วยงาน VIPS กล่าวว่า ทหารรัสเซียและกองทัพซีเรียได้เข้ามาที่เมืองดูมาโดยทันทีหลังจากภาพเหยื่อที่ถูกอาวุธเคมีได้ถูกแพร่ขยายออกไป และยังไม่พบร่องรอยของก๊าซพิษหรือเคมีในเมืองดูมาซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเมืองหลวงแต่อย่างใด

เป็นที่รับทราบกันเป็นอย่างดีว่าสหรัฐและพันธมิตรอย่างซาอุดีอาระเบียได้สูญเสียความสามารถที่จะเอาชนะซีเรียทางภาคพื้นดินไปนานแล้ว

คำถามใหญ่สำหรับพวกเราในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ข่าวกรองก็คือ ด้วยแรงบันดาลใจอะไรที่ซีเรียจะทำอาวุธเคมีเพื่อจะมาโจมตีประชาชนของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่กำลังได้รับการสนับสนุนมากขึ้นและได้รับการช่วยเหลือทางทหารเพิ่มขึ้น แล้วทำไมจึงจะมาเสี่ยงกับประเทศตะวันตก?

หน่วยงาน VIPS ให้ข้อคิดเห็น

 

พลเมืองชาวอเมริกันคนหนึ่งได้แสดงความห่วงใยในเรื่องนี้ด้วยการเขียนจดหมายไปถึง The New York Times ก่อนหน้าที่ทรัมป์จะใช้การคุกคามของเขาต่อซีเรีย โดยเขาได้ถามคำถามที่ตรงประเด็นดังต่อไปนี้

1. ทำไมการเสียชีวิตด้วยก๊าซพิษของคนจำนวนสองสามโหลในซีเรียจึงเลวร้ายกว่าการบดขยี้คนนับพันด้วยอาวุธตามรูปแบบ

2. ทำไมจึงเป็นข้อบังคับของสหรัฐที่ต้องลงโทษซีเรีย

3. ด้วยเหตุใดสหรัฐจึงได้รับสิทธิทางกฎหมายให้โจมตีประเทศอื่น ในเมื่อประเทศนั้นมิได้คุกคามพวกเรา?

มีองค์การอิสระใดที่พบว่าซีเรียใช้ก๊าซพิษ?

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายระหว่างประเทศได้กระตุ้นประธานาธิบดีสหรัฐด้วยแถลงการณ์ที่จะหยุดยั้งจากการถล่มทางทหารว่า “การสังหารใดๆ ต่อมนุษย์ซึ่งหาเหตุผลทางกฎหมายไม่ได้ ภายใต้ระบบกฎหมายใดๆ ก็ตามถือเป็นการฆาตกรรมเป็นการกระทำโดยรัฐบาลหนึ่ง และการใช้ความรุนแรงทางทหารกับอีกรัฐบาลหนึ่ง ซึ่งหาเหตุผลทางกฎหมายไม่ได้นั้นถือเป็นอาชญากรรมแห่งการรุกราน

เป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศสูงสุด ซึ่งกระทำขึ้นด้วยอาชญากรรมที่ชั่วร้ายระหว่างประเทศ ตามที่ได้มีการบันทึกไว้โดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่ Nuremberg ในปี 1946″

 

สมาชิก 80 คนจากสภาของสหรัฐเตือนทรัมป์มิให้ใช้ปฏิบัติการทางทหารเพื่อต่อต้านซีเรียโดยไม่ได้รับการรับรองจากสภา

ในจดหมายที่มีไปยังทรัมป์ สมาชิกสภาได้กล่าวว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดการแยกอำนาจ ซึ่งได้อธิบายเอาไว้ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐ