ค้านร่างกม.สุขภาพแห่งชาติ หวั่นร่วมจ่ายบัตรทอง ด้านปธ.กก.ปฎิรูปแจงข้อเท็จจริง

เมื่อวันที่  8 พฤษภาคม นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวภายหลังเข้ายื่นหนังสือพร้อมด้วยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เพื่อเรียกร้องพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี  ขอให้ถอดร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ  ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล   ว่า ทางกลุ่มฯ ต้องการให้ถอนร่าง พ.ร.บ.นี้ หรือที่เรียกว่า พ.ร.บ.ซุปเปอร์บอร์ดของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  ออกจากการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน เนื่องจากมีปัญหาหลายอย่าง เช่น การมีซุปเปอร์บอร์ดเป็นการรวมอำนาจของ สธ. และทำลายหลักการมีส่วนร่วมระหว่างผู้ซื้อบริการ และผู้จัดบริการ ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจได้เลย

“การแก้กฎหมายนี้ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างคณะกรรมการที่มี 44  คน มีตัวแทนจากประชาชนแค่ 3 คน แล้วจะถ่วงดุลอำนาจได้อย่างไร หรือการเปิดช่องให้มีการร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งอันนี้พวกเราไม่เห็นด้วย จึงมายื่นหนังสือให้รองนายกรัฐมนตรี ยับยั้งเรื่องเอาไว้ก่อน” นายอภิวัฒน์ กล่าว

นายอภิวัฒน กล่าวอีกว่า   กลุ่มคนรักหลักประกันฯ มีข้อเสนอ ดังนี้ คือ 1.ให้ใช้โครงสร้างคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีองค์ประกอบของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างการเป็นผู้อภิบาลระบบ (Regulator) และการเป็นผู้จัดบริการ (Provider) 2.สนับสนุนให้ สธ.เป็นผู้อภิบาลระบบอย่างสมบูรณ์ โดยแยกหน่วยบริการทั้งหมดออกจาก สธ. ให้บริหารจัดการภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน 3.สนับสนุนการจัดสิทธิประโยชน์หลัก สิทธิประโยชน์เสริมตามข้อเสนอ SAFE 4.เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ แต่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งเขตสุขภาพขึ้นใหม่  นอกจากการมายื่นหนังสือครั้งนี้ของพวกตนแล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวในพื้นที่ เช่น กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ภาคเหนือ ร่วมกันส่งจดหมายไปยัง พล.อ.ฉัตรชัย พร้อมส่งสำเนาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เช่นเดียวกัน

วันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวถึงข้อเรียกร้องดังกล่าว ว่า จริงๆ ไม่อยากให้เรียกว่าซุปเปอร์บอร์ด เพราะไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้น อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คิดว่าน่าจะเกิดจากความเข้าใจที่คาดเคลื่อน เพราะเรื่องคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาตินั้น ยังมีอีกหลายขั้นตอนกว่าจะแล้วเสร็จ คิดว่าน่าจะเป็นรูปเป็นร่างได้ประมาณปี 2563 ซึ่งสัดส่วนของคณะกรรมการฯ ก็ยืนยันว่ามาจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ไม่ใช่มีแต่คนของกระทรวงสาธารณสุข  ส่วนเรื่องการตั้งเขตสุขภาพขึ้นมาใหม่และให้มีคณะกรรมการนโยบายเขตสุขภาพนั้น เป็นเรื่องของการกระจายอำนาจ แต่ยังไม่ได้มีการเดินหน้าเต็มทุกเขต หรือว่าจะตั้งมาเพื่อล้มของเดิมที่มีอยู่ ไม่ใช่แบบนั้น

“ที่จะทำคือ เป็นเขตนำร่องประมาณ 2-3 เขต มีคณะกรรมการนโยบายระดับเขต ที่ต้องดูแล กำหนดนโยบายภายในพื้นที่ที่รับผิดชอบ แล้วค่อยประเมินผลว่ามีข้อดี ข้อเสีย เหมาะสมอย่างไรหรือไม่ ควรจะขยายต่อไปหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนที่จะมีคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติออกมาในปี 2563 แต่ตอนนี้ยังไม่ได้กำหนดว่าจะให้พื้นที่ไหนเป็นเขตนำร่อง” นพ.เสรี กล่าว