พลิกที่มาบ้านบนดอย ศาลยัน-ถูกกฎหมาย “บิ๊กตู่” เข้าใจกลุ่มค้าน เผยศาลถอย-ไม่ใช้แล้ว

กลายเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

สำหรับโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 พร้อมบ้านพักข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ที่ใช้พื้นที่ราชพัสดุ เชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่

แม้จะมีการยืนยันชัดเจนจากสำนักงานศาลยุติธรรม

แต่ก็ยังส่งผลให้เกิดความคลางแคลงใจให้กับชาวเชียงใหม่และกลุ่มภาคประชาสังคม

เนื่องจากเหตุว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่สมควรใช้ก่อสร้างเป็นพื้นที่บ้านพักใดๆ

อีกทั้งรูปแบบหรูหรา ยิ่งใหญ่ ก็ดูจะเกินความเหมาะสมของการเป็นบ้านพักข้าราชการ แถมยังใช้เงินภาษีจากประชาชนร่วมพันล้านบาท

นอกจากนี้ ยังไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า จะไม่ส่งผลให้เกิดการรุกล้ำป่าธรรมชาติให้มากยิ่งขึ้นไป

เมื่อกระแสคัดค้านรุนแรงขึ้น สำนักงานศาลยุติธรรม จึงออกมาแถลง พร้อมส่งข้อเท็จจริงให้รัฐบาลพิจารณาว่าควรดำเนินการอย่างไรต่อไป

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ออกมายืนยันว่าเมื่อมีกระแสคัดค้านเช่นนี้ ศาลคงไม่ใช้พื้นที่ดังกล่าวแล้ว

ส่วนจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร เป็นสิ่งที่ต้องติดตาม

ย้อนที่มา “บ้านบนดอย”

วันที่ 9 เมษายน นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า จากกรณีมีบุคคลกลุ่มหนึ่งคัดค้านและเรียกร้องให้ยุติการก่อสร้าง พร้อมให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 พร้อมบ้านพักข้าราชการฝ่ายตุลาการยุติธรรม ที่เชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่

ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ได้หารือในเรื่องดังกล่าว มีมติให้สำนักงานยุติธรรมชี้แจงข้อเท็จจริงการขอใช้พื้นที่ การและดำเนินโครงการดังกล่าว

เรื่องนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2540 กระทรวงยุติธรรมมอบหมายให้สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ขอใช้พื้นที่ทหารด้านหลังหน่วยกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 7 เนื่อที่ประมาณ 106 ไร่ เพื่อกอสร้างบ้านพักและที่ทำการของกระทรวงยุติธรรม

วันที่ 20 สิงหาคม 2543 ศาลยุติธรรมแยกจากกระทรวงยุติธรรมตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ให้มีสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานอิสระ มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีอำนาจหน้าที่ ที่เกี่ยวกับงานธุรการของศาลยุติธรรม เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้แก่ศาลยุติธรรม

ต่อมา มทบ.33 มีหนังสือลงวันที่ 4 มีนาคม 2547 แจ้งว่าไม่ขัดข้อง ที่จะให้สำนักงานศาลยุติธรรมใช้ที่ดินเนื้อที่รวม 147-3-41 ไร่ เพื่อก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 และบ้านพักข้าราชการฝ่ายตุลาการและขอให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การดูแล บำรุงรักษาที่ราชพัสดุ

ประกอบกับก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2546 มณฑลทหารบกที่ 33 มีหนังสือถึงอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 แจ้งว่า ในการขอใช้ที่ดินของสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 มทบ.33 ได้ตรวจสอบแล้ว บริเวณพื้นที่ที่ขอใช้ไม่คาบเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ สุเทพ-ปุย ป.พัน.7 และหน่วยในพื้นที่แต่อย่างใด ประกอบกับสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 มีความจำเป็นเร่งด่วนในการขอใช้ที่ดิน จึงเห็นควรสนับสนุน

สำนักงานศาลยุติธรรมมีหนังสือ ลงวันที่ 19 กันยายน 2548 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ขอใช้ที่ดินเนื้อที่ประมาณ 147-3-41 ไร่

ขณะที่กรมธนารักษ์มีหนังสือ ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2549 แจ้งอนุญาตให้สำนักงานศาลยุติธรรม ใช้ที่ดินราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชม. 1723 (บางส่วน) เนื้อที่ 147-3-30 ไร่

จากนั้นจังหวัดเชียงใหม่มีหนังสือลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2549 จัดส่งหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ราชพัสดุให้สำนักงานศาลยุติธรรม

ยืนยันว่าเป็นการอนุญาตโดยถูกต้องตามกฎหมาย

แจงยิบ 3 โครงการ 955 ล้าน

จากนั้นจึงดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง จนได้ผู้รับจ้างและได้ลงนามในสัญญาโครงการก่อสร้างดังกล่าวในที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชม. 1723 (บางส่วน) กับบริษัท พี.เอ็น.เอส.ไซน์ จำกัด ผู้รับจ้าง โดยมีบริษัท เอ็นจิเนียริ่งดีไซน์ คอนซัลแตนส์ จำกัด เป็นผู้คุมงาน วงเงินรวม 3 โครงการ จำนวน 955,064,056.28 บาท

ประกอบด้วย

1. ก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ ตามสัญญาเลขที่ 87/2557 ลงวันที่ 8 กันยายน 2557 และบันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาจ้าง (ครั้งที่ 1-14) เป็นเงิน 290,495,056.28 บาท กำหนดเสร็จภายในวันที่ 28 สิงหาคม 2559 ได้รับอนุมัติให้ขยายเวลาก่อสร้างออกไปอีก 242 วัน สัญญาสิ้นสุดวันที่ 27 เมษายน 2560

ผู้รับจ้างได้มีหนังสือส่งมอบงานเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2560 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงรับหนังสือเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 โครงการแล้วเสร็จโดยสมบูรณ์และได้เข้าใช้งานแล้ว

2. ก่อสร้างบ้านพักผู้พิพากษา 38 หน่วย อาคารชุดพักอาศัยข้าราชการตุลาการ 16 หน่วย บ้านพักผู้อำนวยการ 1 หน่วย และอาคารชุดพักอาศัยข้าราชการศาลยุติธรรม 36 หน่วย พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ ตามสัญญาเลขที่ 31/2557 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 และบันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาจ้าง (ครั้งที่ 1-12) เป็นเงิน 321,670,000 บาท กำหนดเสร็จวันที่ 4 สิงหาคม 2558

ได้รับอนุมัติให้ขยายเวลาก่อสร้างออกไปอีก 1,048 วัน สัญญาสิ้นสุดวันที่ 18 มิถุนายน 2561 ขณะนี้อยู่ระหว่างผู้รับจ้างก่อสร้างตามสัญญา ตรวจรับและเบิกจ่ายเงินแล้ว 82 งวดงาน เป็นเงิน 244,962,886 บาท ยังไม่ได้ส่งมอบ 16 งวดงาน เป็นเงิน 76,707,114 บาท

3. ก่อสร้างบ้านพัก รวม 9 หน่วย และอาคารชุดพักอาศัยข้าราชการตุลาการ 64 หน่วย พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ ศาลยุติธรรมในจังหวัดเชียงใหม่ตามสัญญาเลขที่ 55/2556 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2556 และบันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาจ้าง (ครั้งที่ 1-16) เป็นเงิน 342,900,000 บาท กำหนดแล้วเสร็จวันที่ 9 กรกฎาคม 2558 ได้รับอนุมัติให้ขยายเวลาออกไปอีก 1,066 วัน สัญญาสิ้นสุดวันที่ 9 มิถุนายน 2561

ยืนยันตระหนักถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ต้นไม้ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 30 เซนติเมตรขึ้นไป ก็ขุดล้อมแล้วนำไปปลูกบริเวณใกล้เคียง รวม 240 ต้น นอกจากนี้ ภายหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จสำนักงานศาลยุติธรรมมีโครงการปลูกต้นไม้อย่างต่อเนื่องรวม 6,400 ต้น แต่เนื่องจากสำนักงานศาลยุติธรรมมีข้อจำกัดในเรื่องกำลังคนและงบประมาณ จึงขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล

แต่เมื่อมีกลุ่มบุคคลคัดค้าน ให้ยุติและรื้อถอนโครงการ สำนักงานศาลยุติธรรมที่เป็นคู่สัญญา ไม่สามารถทำได้ ไม่เช่นนั้นจะเป็นฝ่ายผิดสัญญา ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย ทำให้รัฐต้องเสียงบประมาณชดใช้ค่าเสียหาย

อีกทั้งจะรื้อถอนก็ไม่ได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม จึงมีมติให้เสนอนายกฯ ถึงข้อเท็จจริง หากรัฐบาลเห็นสมควรประการใด เช่น ให้ชะลอการใช้บ้านพักเฉพาะส่วนที่มีการคัดค้านไว้ชั่วคราว หรือดำเนินการอื่นในระหว่างฟื้นฟูสภาพแวดล้อม สำนักงานศาลยุติธรรมก็ไม่ขัดข้อง

เป็นอำนาจนายกฯ พิจารณา

บิ๊กตู่เผยศาลถอย-ไม่ใช้แล้ว

ขณะที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. และเลขาธิการ คสช. ระบุว่า แม่ทัพภาคที่ 3 พยายามแก้ไขปัญหาในพื้นที่ด้วยการจัดประชุมเสวนา เมื่อวันที่ 9 เมษายน ซึ่งพบว่าผู้ที่ไม่ยอมรับสรุปประเด็นคือต้องการให้รื้อบ้านพัก 45 หลังที่อยู่ด้านบน

แต่ในส่วนที่ใช้ก่อสร้างอาคารสำนักงานศาล และอาคารที่พักอื่นๆ ประชาชนไม่ติดใจ ดังนั้นคาดว่าจะได้ข้อยุติภายใน 1-2 เดือน

ส่วนพื้นที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว ต้องดูว่าจะดำเนินการอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด อาจจะดัดแปลงเป็นศูนย์การเรียนรู้ และปรับภูมิทัศน์ให้สอดรับกับพื้นที่ แต่ก็ต้องผ่านกระบวนการของประชาชนในพื้นที่ คาดว่าศาลคงไม่มีปัญหา

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ระบุว่า กรณีนี้ได้รับอนุมัติก่อนหน้ารัฐบาลนี้เข้ามา แต่รัฐบาลก็ต้องแก้ไขให้ชัดเจน ให้เป็นไปตามกฎหมายและตามที่ประชาชนต้องการ ซึ่งต้องดูว่าจะดำเนินการอย่างไร

แต่เชื่อว่าในส่วนของสำนักงานศาลยุติธรรมคงไม่มีปัญหา แต่การอนุมัติงบประมาณรัฐ จนใกล้จะเสร็จ ซึ่งมีสัญญาระหว่างรัฐและผู้รับเหมา ก็มีโอกาสถูกฟ้องร้อง ต้องดูว่าจะแก้ไขอย่างไร แต่มีหลายคนเสนอให้ทุบทิ้ง แล้วใครจะรับผิดชอบ

ต้องดูว่าใช้ประโยชน์ในด้านอื่นได้หรือไม่ หรือให้ประชาชนใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ เพราะศาลคงใช้ไม่ได้แล้ว เนื่องจากประชาชนออกมาประท้วง

“อย่าเอาเรื่องนี้ไปเกี่ยวพันกับการรื้อรีสอร์ตของเอกชน เป็นคนละเรื่อง เรื่องนั้นทำผิดกฎหมายชัดเจน ก็ต้องดำเนินคดี ส่วนเรื่องการก่อสร้างบ้านพักตุลาการ เป็นงบฯ ของราชการที่อนุมัติโดยรัฐบาล ก็ต้องไปสอบสวนกันว่าใครเกี่ยวข้องบ้าง”

ชัดเจนในระดับหนึ่งว่าพื้นที่บางส่วนไม่สามารถใช้ได้แน่ๆ

ส่วนจะดำเนินการปรับปรุงให้เป็นอย่างไร ต้องติดตาม

ขณะที่กลุ่มคัดค้านชื่นชมต่อการแก้ไขปัญหา และยกให้เป็น “ดอยสุเทพโมเดล”

เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐเคารพสิทธิของประชาชน