สหรัฐฯออกรายงานสิทธิมนุษยชน ปี60 อัด คสช.ละเมิดรุนแรง

รัฐบาลสหรัฐเผยแพร่รายงานสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ระบุคนไทยยังถูกละเมิดสิทธิรุนแรงในยุครัฐบาลคสช. ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังเกินกว่าเหตุ คุกคามผู้ต้องหาคดีอาญา จับกุมคนเห็นต่างทางการเมือง จำกัดเสรี ภาพสื่อ ใช้คำสั่งคสช.ควบคุมตัวโดยไม่มีหมายศาล เหมือนใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก 

สหรัฐชี้คนไทยถูดละเมิดสิทธิ์รุนแรง

วันที่ 21 เม.ย. นายจอห์น ซัลลิแวน รักษาการ รมว.ต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แถลงรายงานการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ เกือบ 200 ประเทศทั่วโลก ประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นการอ้างอิงข้อมูลจากหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐ และรายงานของรัฐบาลประเทศต่างๆ รวมถึงองค์กรเอกชนทั่วโลก

ในส่วนของไทยนั้นเป็นรายงานความ ยาว 44 หน้า อ้างอิงข้อมูลทางการไทยระหว่างเดือน ต.ค. 2559-ก.ย. 2560 มีเนื้อหาสำคัญระบุว่า นอกจากจะพบการจำกัดเสรี ภาพพลเมืองโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) แล้ว ยังพบปัญหารุนแรงด้านสิทธิมนุษยชนอีกหลายเรื่อง อาทิ เจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังเกินกว่าเหตุ รวมถึงการคุกคามหรือข่มเหงผู้ต้องหาคดีอาญา ผู้ถูกคุมขัง และนักโทษผู้ต้องขัง

รายงานระบุว่า นอกจากนี้ยังพบกรณีที่ทางการจับกุมและคุมขังประชาชนตามอำเภอใจ กรณีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงข่มเหงกลุ่มผู้เห็นต่างในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปัญหาการทุจริต การหาประโยชน์ทางเพศกับเด็ก และการค้ามนุษย์ แม้ที่ผ่านมาทางการจะดำเนินการสอบสวนเพื่อลงโทษเจ้าหน้าที่ผู้ก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่การที่เจ้าหน้าที่ได้รับการละเว้นจากการถูกลงโทษยังคงเป็นปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่มีการใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถาน การณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551

ระบุฝ่ายมั่นคงใช้กำลังเกินกว่าเหตุ

รายงานระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยมีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อ ผู้ต้องสงสัย ผู้กระทำผิด หรือเกี่ยวข้องกับการวิสามัญฆาตกรรม โดยข้อมูลจากสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง กระทรวงมหาด ไทย ระบุว่าตั้งแต่เดือนต.ค. 2559-ก.ย. 2560 เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งหมายรวมถึงตำรวจ ทหาร และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้วิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยระหว่างการจับกุมไป 16 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากตัวเลขในปีก่อนหน้านี้

รายงานได้ยกตัวอย่างกรณีทหารวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ ป่าแส หรือจะอุ๊ เยาวชน นักกิจกรรมชาวลาหู่ บริเวณจุดตรวจยาเสพติดบ้านริมหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือนมี.ค.2560 กรณีนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ผู้นำการเคลื่อน ไหวเพื่อสิทธิชุมชนกะเหรี่ยง ซึ่งหายตัวไปเมื่อเดือนเม.ย.2557 รวมถึงกรณีของนาย วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ ที่สมาชิกกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระบุว่าเขาถูกอุ้มหายไปจากประเทศลาว ซึ่งนายวุฒิพงศ์หลบหนีไปพำนักหลังถูกตั้งข้อหามีอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง ซ่องสุมอาวุธเพื่อก่อเหตุความรุนแรง และคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

คสช.จับกุมคนเห็นต่างการเมือง

รายงานของทางการสหรัฐระบุว่า ที่ผ่านมา คสช.มักคุมตัวผู้ที่แสดงความคิดเห็นต่างทางการเมือง โดยข้อมูลจนถึงเดือนส.ค.2560 กรมราชทัณฑ์รายงานว่ามีผู้ถูกจำคุกหรือควบคุมตัวในความผิดฐานหมิ่นพระ บรมเดชานุภาพ 135 คน องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนหลายแห่งระบุว่าการดำเนินคดี กับบุคคลเหล่านี้มักมีมูลเหตุมาจากเรื่องการเมือง

รวมถึงกรณีนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นักเคลื่อนไหวที่ถูกจับกุม

รายงานระบุว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/ 2558 กำหนดให้ทหารมีอำนาจตรวจค้น ยึด และควบคุมตัวบุคคลไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ต้องมีหมายของศาล การใช้อำนาจดังกล่าวเป็นลักษณะเดียวกับการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน ส่งผลให้ที่ผ่านมาพบกรณีทหารใช้อำนาจดังกล่าวคุกคามบุคคลที่แสดงความเห็นตรงข้ามกับ คสช.หรือสมาชิกครอบครัวของบุคคลนั้น เช่น กรณีองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานการข่มขู่คุกคามคนใกล้ชิดของนายชัยภูมิ ป่าแส

จำกัดเสรีภาพสื่อออนไลน์

นอกจากนี้ ทางการยังเฝ้าติดตามและตรวจสอบผู้เห็นต่าง รวมถึงชาวต่างชาติ โดยเดือนเม.ย.รัฐบาลได้ออกประกาศห้ามประชาชนติดต่อ หรือเผยแพร่ข้อความทางสื่อสังคมออนไลน์ จากบุคคลต้องห้าม 3 คน ซึ่งเขียนวิจารณ์ประเทศไทยผ่านสื่อสังคมออนไลน์บ่อยครั้ง ได้แก่ นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งลี้ภัยอยู่ในฝรั่งเศส และนายแอนดรูว์ แม็ก เกรเกอร์ มาร์แชล ผู้สื่อข่าวจากสกอตแลนด์

รายงานระบุว่า ทางการไทยใช้กฎหมาย เป็นเครื่องมือเอาผิดผู้ที่วิจารณ์สถาบันอย่างต่อเนื่อง แม้ที่ผ่านมาองค์กรสื่ออิสระจะยังดำเนินงานอยู่ได้ แต่ต้องเผชิญอุปสรรคในการทำงานอย่างอิสระ ผู้คนในแวดวงสื่อหลายรายแสดงความวิตกกังวลว่าคำสั่งของ คสช.จะจำกัดเสรีภาพสื่อ และสั่งระงับการทำงานของสื่อโดยไม่มีหมายศาล ขณะเดียว กันก็กังวลเรื่องที่ทางการเข้าไปจำกัดหรือ ขัดขวางการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตอย่างเสรี รวมถึงการเซ็นเซอร์เนื้อหาต่างๆ ทางออนไลน์ โดยที่ผ่านมามีรายงานว่ารัฐบาลได้ตรวจสอบผู้ให้บริการสื่อออนไลน์เอกชนโดย มิชอบด้วยกฎหมายด้วย