“มัลลิกา”เปิดหลักฐานบ.จดทะเบียน พบบิ๊กทีโอที-ลูกน้องถือหุ้น ตั้งบริษัทรอโอนโครงข่าย

“มัลลิกา” เปิดหลักฐาน เอกสารกระทรวงพาณิชย์ บริษัททุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท ใช้เงิน 1.6 แสนบาท มีชื่อกรรมการบิ๊กทีโอที และลูกน้องเป็นผู้ถือหุ้น ตั้งบริษัทรอรับโอนโครงข่ายโทรคมนาคมของชาติหลายแสนล้าน

19 เมษายน 2561 ที่พรรคประชาธิปัตย์ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ประธานมูลนิธิมัลลิกาเพื่อประชาชน www.mallikafoundation.com ในฐานะอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แถลงว่า จากกรณีการคัดค้านและเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระงับหรือทบทวนมติคณะรัฐมนตรี กรณีการจัดตั้งบริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศ และศูนย์ข้อมูลอินเตอร์เน็ต ( NGDC Co) และบริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ (NBN Co) เพื่อรับโอนทรัพย์สินที่เป็นโครงข่ายหลักโทรคมนาคมของรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท. โทรคมนาคมจำกัด (มหาชน) โดยมิชอบและไม่ผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนนั้น

นางมัลลิกา กล่าวว่า รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีกระทำการอย่างเร่งรีบเหมือนตั้งธงจากออร์เดอร์ของใครหรือไม่ จึงทำให้กระบวนการการโอนทรัพย์สินที่เป็นโครงข่ายหลักทางด้านโทรคมนาคม และเป็นสมบัติชาติในภาคปฏิบัติของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขณะนี้ดูลุกลี้ลุกลน หากไม่ทบทวนหรือระงับเชื่อว่ารัฐมนตรีที่ร่วมประชุมอนุมัติมตินี้เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 ติดคุกกันหมด

โดยหลักฐานหนึ่งได้จากกระทรวงพาณิชย์นั่น คือเอกสารสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นมีรายละเอียดทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาทแบ่งออกเป็น 200,000 หุ้นมูลค่าหุ้นละ 100 บาท ผู้ถือหุ้นเป็นคนไทย 4 ราย ถ้าตามระเบียบทางบัญชีแล้วเท่ากับว่าบริษัทนี้จัดตั้งขึ้นโดยใช้เงิน 160,000 บาทเท่านั้น

และเมื่อตรวจสอบหนังสือรับรองจากสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเชียงใหม่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ ปรากฏชื่อกรรมการของบริษัท 3 คนทั้งหมดเป็นพนักงานจากรัฐวิสาหกิจที่กำลังจะถูกโอนทรัพย์สินเดียวกันนั้นเอง คำถามก็คือว่าคณะรัฐมนตรีเอาเกียรติยศและความรับผิดชอบใดมาการันตีว่าบุคคลเหล่านี้จะสามารถบริหารทรัพย์สินซึ่งเป็นโครงข่ายโทรคมนาคมของชาติหลายแสนล้านบาทให้รอดได้ และจะไม่ถูกฮุบซื้อหุ้นในอนาคตโดยบริษัทโทรคมนาคมที่เป็นของเอกชน นี่คือคำถาม และเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ ต้องคิดอย่างเฝ้าระวัง

“เข้าใจนายกรัฐมนตรีว่ารอบตัวมีแต่คนไม่มีความรู้ด้านโครงข่ายโทรคมนาคมของชาติ เอกสารและแฟ้มถือหนีบเดินตามก้นนายกรัฐมนตรีไปมาแต่ไม่เคยสามารถที่จะสังเคราะห์ข้อมูลใดๆ รายงานให้ได้ข้อเท็จจริงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ชาติ” นางมัลลิกา กล่าว

อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า จากเอกสารกระทรวงการคลังเรื่องมติการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เนื่องจากกระทรวงการคลังโดยภาษีประชาชนถือหุ้น 100% ในรัฐวิสาหกิจที่กำลังจะดำเนินการโอนสมบัติชาติครั้งนี้ ซึ่งเชื่อว่านายกรัฐมนตรีคงไม่ได้อ่าน รายการที่จะต้องโอนทรัพย์สิน คือ 1.ทรัพย์สินสำหรับให้บริการเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ สิทธิ์ในการใช้วงจรเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ อุปกรณ์สำหรับให้บริการเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ 2.ทรัพย์สินสำหรับการให้บริการเคเบิลใต้น้ำในประเทศ

3.โครงข่ายสื่อสัญญาณที่เชื่อมโยงระหว่างสถานีเคเบิลใต้น้ำและ POP (Point of Present) 4.เคเบิลใหญ่แก้วนำแสง Dark Fiber ที่เชื่อมโยงชายแดนระหว่างประเทศภาคพื้นดินและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง 5.อุปกรณ์สำหรับให้บริการ National Internet Exchange (NIX) และ International Internet Gateway (IIG) 6.อุปกรณ์สำหรับการให้บริการ Data Center และ Cloud 7.โครงข่ายสื่อสัญญาณ DWDM ภายในประเทศ 8.โครงข่าย Optical distribution network (ODN)พร้อมอุปกรณ์ optical Line Termination (OLT) 9.เคเบิลใหญ่แก้วนำแสง Dark Fiber ระดับ Backbone Regional และ Access Network ทั้งหมดนี้เป็นเบื้องต้นเท่านั้น แต่รายการนี้ก็จะหมดประเทศอยู่แล้ว

และถ้าการแปรรูปด้วยการแปลงกายในครั้งนี้ อ้างเรื่องความถูกต้องจากมติคณะรัฐมนตรี ก็ผิดชัดเจนเนื่องจากการจัดตั้งบริษัท ขัดกับมติคณะรัฐมนตรีอันเดิมเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2550 เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจัดตั้งที่จะต้องไม่กระทบบริษัทแม่ หากอ้างเรื่องแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรีใหม่ทางฝ่ายปฏิบัติก็กระทำการผิดขั้นตอนหลายประการ นั่นคือไม่ได้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจกำหนดและประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา คือเท่ากับ ไม่ได้ดำเนินตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจพ.ศ. 2542 และยังขัดพระราชบัญญัติระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2550 ด้วยเพราะทรัพย์สินโครงข่ายโทรคมนาคมของบริษัททีโอทีกับบริษัท กสท. เกิดจากงบประมาณแผ่นดิน

“สรุปคือการกระทำการแปลงร่างเข้าข่ายแปรรูปรัฐวิสาหกิจครั้งนี้มีเงื่อนงำหรือไม่และมีแนวโน้มไม่ถูกต้องตามกฎหมายหลายอย่าง หากดันทุรังต่อไปนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรีทั้งหมดมีความเสี่ยงที่จะติดคุกสูงมาก และในอนาคตเมื่อแก่เฒ่ากว่านี้ต้องมานั่งสู้คดีโดยที่ไม่มีมาตรา 44 โละล้างคดีให้ก็คาดการณ์ชะตากรรมตนในอนาคตได้เลย ” นางมัลลิกา กล่าว