ปัจจัย ชี้อนาคต ของ”คสช.” ​​​ขึ้นอยู่กับ “ประชาธิปัตย์”

เหมือนกับพรรคเพื่อไทยจะเป็นปัจจัยชี้ขาดอนาคตของคสช.และโดยเฉพาะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
​อาจใช่
​เพราะว่าท่าทีของพรรคเพื่อไทยแจ่มชัดตั้งแต่หลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 และโดยเฉพาะหลังรัฐประหารเดือนพฤษภา คม 2557
​1 ไม่เอารัฐประหาร 1 ไม่เอานายกรัฐมนตรีจากคณะรัฐประหาร
​ขณะที่ผลการเลือกตั้งนับแต่ปี 2544 ในยุคพรรคไทยรักไทย เรื่อยมาจนถึงปี 2554 ในยุคพรรคเพื่อไทย ชัยชนะยังเป็นของพรรคเพื่อไทยไม่แปรเปลี่ยน
​แต่ที่สำคัญยิ่งกว่ายังมีปัจจัยจาก”พรรคประชาธิปัตย์”

พรรคประชาธิปัตย์ต่างหากคือ ตัวแปรอย่างแท้จริงหากมองจากทางด้านของคสช.
​ตราบใดที่พรรคเพื่อไทยทำแต้มส.ส.ได้ไม่ถึง 250
​ตราบนั้นพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นตัวชี้ขาด ไม่ว่าทางด้านที่เป็นตัวขวางคสช. และไม่ว่าทางด้านที่เป็นตัวเสริมคสช.
​หากพรรคเพื่อไทยทำแต้มอยู่ระหว่าง 200 แต่ไม่ถึง 250 ตัวเลขของพรรคประชาธิปัตย์จะมีผลสะเทือนโดยฉันพลัน หากยัง ยึดอยู่กับหลักการสนับสนุนหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี
​ไม่ยอมรับนายกรัฐมนตรี “คนนอก”
​จึงมีความจำเป็นที่คสช.จะต้องดำเนินกลยุทธ์ 1 ผลักดันให้ พรรคประชาธิปัตย์ชูธงต่อต้านสิ่งที่เรียกว่า”ระบอบทักษิณ”ขึ้นสูงเด่น
​ขณะเดียวกัน ก็พยายามดำเนินกลยุทธ์ 1 ลดธงต่อต้านนายกรัฐมนตรี”คนนอก”ให้ต่ำลง
​หรือกระทั่งไปถึงขั้นพับเก็บไว้ในกรุ

หากมองกลยุทธ์ของ”พรรคคสช.”เฉพาะหน้าในขณะนี้ คือการใช้พลัง”ดูด”อย่างเต็มที่
​แต่กลยุทธ์ที่หมกเม็ดไว้อย่างมิดชิดยังมีอีกเยอะ
​โดยเฉพาะบทบาทของ “กปปส.”อันเหมือนกับ “ม้าไม้”ที่ซ่อนแฝงอยู่ภายในพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งต่อสายกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
​คนเหล่านี้จะโดดเด่นอย่างยิ่งหลัง”เลือกตั้ง”
​คนเหล่านี้จะกำหนด”เกม”ให้พรรคประชาธิปัตย์ก้าวเดิน