‘บิ๊กโย่ง’ ระดมกึ๋นเอ็นจีโอร่วมแก้ปัญหาค้ามนุษย์ เชื่อทิปรีพอร์ต 2018 ไทยจะอันดับดีขึ้น

เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือกับภาคีเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยมีผู้แทนหน่วยงาน NGOs และองค์การระหว่างประเทศ เข้าร่วมประชุม ได้แก่ ผู้แทนมูลนิธิไนท์ไลท์ มูลนิธิเพื่อความเข้าใจเด็ก (FOCUS) มูลนิธิเอ-ทเวนตี้วัน มูลนิธิโซเอ อินเตอร์เนชั่นแนล มูลนิธิพัฒนาการคุ้มครองเด็ก (FACE) มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) สำนักงานกฎหมาย เอส. อาร์. ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเล ศรีราชา และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) เข้าร่วมว่า ได้เชิญเอ็นจีโอมาหารือถึงมุมมองและการทำงานต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งได้สะท้อนมุมมองหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์ ได้แก่

1.การสื่อสารระหว่าง พม.กับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อยากให้มีการสื่อสารรวดเร็วยิ่งขึ้นและเข้าใจง่ายขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงานที่รวดเร็ว 2.การคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นอยากมีให้มีการซักถามในบรรยากาศที่ดี เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงสามารถนำไปสู่การบังคับคดี เนื่องจากที่ผ่านมาการพยายามทำคดีในชั้นตำรวจและอัยการพบพฤติกรรมทางบังคับมีน้อย หลักฐานก็มีน้อยไป ไม่สามารถบังคับเป็นคดีค้ามนุษย์ได้ จึงเป็นคดีไม่มีน้ำหนักขึ้นสู่ชั้นศาล ฉะนั้นได้หารือกับเอ็นจีโอที่จะเข้ามาให้ความร่วมมือมากขึ้น เพื่อจะไม่ให้คดีค้ามนุษย์หลุดชั้นศาล 3.การพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง จะมีการจัดทำคู่มือ โดยจะให้เอ็นจีโอมาร่วมจัดทำคู่มือวิธีการทำงาน เพื่อสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง และต่อไปอาจจะต้องมีการสัญจรไปเยี่ยมเอ็นจีโอเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการทำงานร่วมกันมากขึ้น

รมว.พม.กล่าวอีกว่า 2 ปีที่ผ่านมาคิดว่า พม.ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเรื่องการต่อต้านการค้ามนุษย์ ทำให้การทำงานมีมาตรฐานมากขึ้น ส่วนตัวยังให้น้ำหนักการทำงานต่อต้านการค้ามนุษย์ของรัฐบาลขณะนี้อยู่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องการสร้างความเข้าใจที่จะต้องมีการสื่อสารให้เข้าใจมากขึ้น ส่วนการจัดอันดับในรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ ประจำปี 2561 หรือทิปรีพอร์ต 2018 ที่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายน ก็คาดหวังว่าประเทศไทยจะได้รับการจัดอันดับดีขึ้น เพราะที่ผ่านมาได้มีการจริงจังในการดำเนินงาน ทั้งการดำเนินคดีกับข้าราชการที่กระทำผิด จำนวนคดีแรงงานลดลง เพิ่มคดีค้าประเวณี รวมถึงการคุ้มครองดูแลผู้เสียหาย ทำให้เป็นมาตรฐานมากขึ้น