‘สามารถ’หวั่นเสียค่าโง่ 1.1 พันล้าน ชงทางออก ขสมก.ยอมรับรถเมล์เอ็นจีวีเบสท์ริน

วันนี้ (17 เมษายน) นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯกทม.และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความเสนอทางออกรถเมล์เอ็นจีวี ไม่ต้องเสียค่าโง่ 1.1 พันล้าน! โดยระบุว่า

ผมเขียนบทความนี้โดยมีจุดมุ่งหวังที่จะให้คนกรุงเทพฯและปริมณฑลได้ใช้รถเมล์ที่มีคุณภาพดีอย่างทั่วถึงภายในเวลาไม่นาน ผมทราบดีว่ารถเมล์ที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ใช้วิ่งรับส่งคนกรุงมีอายุการใช้งานมาอย่างยาวนาน ทำให้รถมีสภาพเสื่อมโทรม

ขสมก.ได้พยายามจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 แต่มีปัญหาต่างๆ นานา จนถึงรัฐบาลนี้ ปัญหาก็ยังไม่จบสิ้น แม้ว่าต้องการซื้อล็อตแรกเพียง 489 คันเท่านั้น จากทั้งหมด 3,183 คัน ปัญหาก็ยังคงมีอยู่ จนถึงบัดนี้มีการประมูลจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีทั้งหมด 8 ครั้งแล้ว ล้มเหลวไป 7 ครั้ง จนถึงครั้งที่ 8 ซึ่งผลจากการประมูลปรากฏว่าบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท สแกนอินเตอร์ จำกัด (มหาชน) ชนะการประมูล ทำให้มีรถเมล์เอ็นจีวีใหม่มาวิ่งอยู่บนท้องถนนจำนวน 100 คัน ดังที่เห็นกันอยู่ทั่วไป แต่ยังไม่ครบ 489 คัน ตามที่ต้องการซื้อล็อตแรก

แต่ก่อนจะถึงการประมูลครั้งที่ 8 มีการประมูลที่น่าสนใจอย่างมาก นั่นคือการประมูลครั้งที่ 4 ซึ่งบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ชนะ แต่ถูก ขสมก.บอกเลิกสัญญา

เป็นที่รู้กันในวงการผู้ประกอบการรถโดยสารว่า ช.ทวี และเบสท์ริน เป็นคู่แข่งที่หวังจะคว้าชัยชนะจากการประมูลจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ของ ขสมก. มีการผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ จนถึงการประมูลครั้งที่ 4 เบสท์รินเป็นผู้ชนะ ด้วยการเสนอราคารถและค่าซ่อมบำรุงรักษาระยะเวลา 10 ปี เป็นเงินรวมประมาณ 3,389.7 ล้านบาท จากราคากลางประมาณ 4,021.7 ล้านบาท หรือเบสท์รินเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางถึง 632 ล้านบาท ต่อมาเบสท์รินนำรถเข้ามาจำนวน 489 คัน แต่ได้ส่งมอบให้ ขสมก.จำนวน 292 คัน และ ขสมก.ได้มอบอำนาจให้เบสท์รินนำรถจำนวน 292 คัน ไปจดทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบก โดยมี ขสมก.เป็นเจ้าของ ทั้งนี้ ก่อนจดทะเบียน ขสมก.ได้ติดตั้งระบบติดตามรถหรือจีพีเอสในรถทุกคันเพื่อให้ถูกต้องตามระเบียบของกรมการขนส่งทางบกที่กำหนดให้ติดตั้งจีพีเอสก่อนจึงจะสามารถจดทะเบียนได้ แต่ต่อมา ขสมก.ได้บอกเลิกสัญญากับเบสท์ริน โดยอ้างว่า (1) เบสท์รินส่งมอบรถช้ากว่ากำหนดในสัญญา และ (2) ไม่ได้เป็นรถที่ผลิตในประเทศจีนและประกอบในประเทศมาเลเซียตามที่ระบุไว้ในสัญญา แต่เป็นรถที่ผลิตในประเทศจีนทั้งหมด ทำให้เบสท์รินนำเรื่องนี้ไปฟ้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองกลาง

ในที่สุดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ ขสมก.ชดใช้ค่าเสียหายให้เบสท์รินเป็นเงินจำนวนประมาณ 1,160 ล้านบาท โดยศาลปกครองกลางมีเหตุผลดังนี้ (1) การที่ ขสมก.อ้างว่าเบสท์รินส่งมอบรถช้ากว่ากำหนดนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะ ขสมก.ได้มีการขยายเวลาการส่งมอบแล้ว และการมอบอำนาจให้เบสท์รินนำรถไปจดทะเบียนโดยมี ขสมก.เป็นเจ้าของนั้นถือว่าเป็นการรับรถโดยปริยาย และ (2) ในประกาศประกวดราคาของ ขสมก.ระบุชัดว่ารถที่จะส่งมอบให้ ขสมก.ต้องเป็นรถที่ผลิตในต่างประเทศหรือประกอบในประเทศไทยก็ได้ ดังนั้น หากรถที่นำเข้ามาทั้งหมดเป็นรถที่ผลิตในประเทศจีนก็ไม่ถือว่าเป็นข้อแตกต่างที่เป็นสาระสำคัญที่จะนำไปสู่การบอกเลิกสัญญา

เมื่อย้อนดูราคาที่เบสท์รินเสนอต่อ ขสมก. คือ 3,389.7 ล้านบาท ซึ่งถูกกว่าราคากลางของ ขสมก.ถึง 632 ล้านบาท เป็นค่าซื้อรถ 489 คัน และค่าบำรุงรักษารถระยะเวลา 10 ปี หรือคิดเป็นราคาต่อคันได้เท่ากับ 6.93 ล้านบาท พบว่าถูกกว่าราคาที่ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์เสนอต่อ ขสมก.ในการประมูลครั้งที่ 8

กล่าวคือ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์เสนอราคา 4,260 ล้านบาท ซึ่งแพงกว่าราคากลางถึง 240 ล้านบาท เป็นราคารถจำนวน 489 คัน พร้อมค่าบำรุงรักษารถระยะเวลา 10 ปี เหมือนกัน หรือคิดเป็นราคาต่อคันได้เท่ากับ 8.71 ล้านบาท นั่นหมายความว่าราคาของเบสท์รินถูกกว่าราคาของ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ถึงคันละ 1.78 ล้านบาท ดังนั้น หาก ขสมก.ซื้อรถจากเบสท์รินทั้งหมด 489 คัน จะทำให้ประหยัดงบประมาณได้ถึง 870 ล้านบาท

แต่น่าแปลกมากที่ได้มีความพยายามบอกเลิกสัญญากับเบสท์ริน จนถูกศาลปกครองกลางสั่งให้ ขสมก.ชดใช้ค่าเสียหายให้เบสท์รินถึงประมาณ 1,160 ล้านบาท ดังกล่าวแล้วข้างต้น ในขณะที่กรณีของ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ซึ่งเสนอราคาแพงกว่าถึงคันละ 1.78 ล้านบาท รวม 489 คัน เป็นเงินที่แพงกว่าถึง 870 ล้านบาท และที่สำคัญ ราคาของ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์สูงกว่าราคากลางของ ขสมก.ถึง 240 ล้านบาท แต่กลับมีความพยายามเร่งรัดให้มีการทำสัญญา ทั้งๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าไม่มีมติของคณะกรรมการ ขสมก.อนุมัติให้ ขสมก.ทำสัญญากับ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ จนถูกศาลปกครองกลางสั่งให้ทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการ ขสมก.ในคราวประชุมครั้งที่ 15/2560 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น นั่นหมายความว่าไม่มีมติของคณะกรรมการ ขสมก.ที่อนุมัติให้ ขสมก.ทำสัญญาซื้อรถเมล์กับ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์เกิดขึ้นในการประชุมดังกล่าว สำหรับรายละเอียดของประเด็นนี้ผมจะนำเสนอในบทความต่อไป

เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและของพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ผมขอเสนอให้ ขสมก.รับรถของเบสท์รินจำนวน 292 คัน ซึ่ง ขสมก.ได้มอบอำนาจให้เบสท์รินไปจดทะเบียนโดยมี ขสมก.เป็นเจ้าของแล้ว จะทำให้ ขสมก.ไม่ต้องเสียค่าโง่ 1,160 ล้านบาท และจะทำให้คนกรุงมีรถใหม่ใช้ได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขให้เบสท์รินชำระภาษีให้ถูกต้องตามที่ถูกกล่าวหาว่าเบสท์รินสำแดงแหล่งกำเนิดของรถอันเป็นเท็จ

ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังที่อยากให้คนกรุงเทพฯและปริมณฑลได้ใช้รถเมล์ที่มีคุณภาพดีอย่างทั่วถึงในอนาคตอันใกล้ และที่สำคัญ จะต้องเป็นรถที่ได้มาจากการประมูลที่โปร่งใส ในราคาที่เป็นธรรม และประหยัดงบประมาณของประเทศ

โปรดติดตามตอนต่อไป “เบื้องลึกประมูลรถเมล์เอ็นจีวีที่คนไทยต้องรู้” ในวันพรุ่งนี้ (วันพุธที่ 18 เมษายน 2561)