สปส.ดันกม.เงินทดแทนฉบับใหม่ครอบคลุมลูกจ้างทั้งรัฐ-เอกชน รายวัน รายเดือน

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงกรณีมีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ ที่จะครอบคลุมให้ลูกจ้างส่วนราชการเป็นครั้งแรก หากบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากการทำงานจะได้รับเงินทดแทนการว่างงาน หรือหากทุพพลภาพก็จะได้รับการเยียวยาช่วยเหลือตลอดชีวิต ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะครอบคลุมทุกคนที่ทำงานให้กับนายจ้างไม่ว่าจะเป็นภครัฐหรือเอกชน อย่างลูกจ้างก็รวมทั้งลูกจ้างส่วนราชการและเอกชน ที่ได้รับเงินเป็นรายเดือนและรายวันก็จะได้รับหมด จากเดิมลูกจ้างส่วนราชการ ที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวนั้นจะไม่ได้รับสิทธิกรณีเงินทดแทนการหยุดงาน เนื่องจากเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุจากงาน ปัญหา คือ กลุ่มลูกจ้างส่วนราชการแม้จะได้รับการดูแลรักษาจากกองทุนประกันสังคม หรือการรักษาโดยปกติทั่วไปก็ตาม แต่การดูแลหลังจากนั้นไม่มีเลย ยกตัวอย่าง หากอุบัติเหตุจากการทำงานจนทำให้ต้องทุพพลภาพ ในกลุ่มลูกจ้างเอกชนจะได้รับการดูแลจากกองทุนเงินทดแทนฉบับเดิมเป็นระยะเวลา 15 ปี แต่ร่างพ.ร.บ.ใหม่จะได้ตลอดชีวิต และยังขยายไปให้กับกลุ่มลูกจ้างส่วนราชการจะได้รับสิทธิตรงนี้ด้วย

“กรณีการดูแลหลังจากออกจากงาน หรือไม่สามารถทำงานได้ เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเมื่อทุพพลภาพแล้ว ย่อมกลับมาทำงานไม่ได้ จึงต้องได้รับเงินทดแทนส่วนนี้ แต่ที่ผ่านมาลูกจ้างส่วนราชการไม่ได้รับ ซึ่งเราเห็นความสำคัญว่า ลูกจ้างทุกกลุ่มต้องได้รับการดูแลเหมือนกันหมด อย่างที่ผ่านมา พนักงานขับรถของภาครัฐหากประสบอุบัติเหตุและสูญเสียอวัยวะ หรือพนักงานกวาดถนนประสบอุบัติเหตุรถชนระหว่างปฏิบัติงาน หากทุพพลภาพ หรือพยาบาลเกิดภาวะติดเชื้อจากการช่วยเหลือคนไข้ กรณีเหล่านี้เป็นปัญหามาก เพราะเดิมไม่มีกฎหมายมาช่วยเหลือ แต่จากนี้จะมี ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นคณะกรรมาธิการพิจารณา คาดว่าเดือนพฤษภาคมนี้จะเสร็จสิ้นในขั้นตอนนี้ เพื่อเข้าสู่กระบวนการอื่นๆ แน่นอนว่าปีนี้จะได้รับสิทธิจากกฎหมายใหม่แน่นอน” เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า งบประมาณในการจ่ายให้แก่ลูกจ้างส่วนราชการจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ นพ.สุรเดช กล่าวว่า กองทุนเงินทดแทนเดิมที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างส่วนเอกชนนั้น ใช้งบประมาณราว 4,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่เก็บจากเงินสมทบของนายจ้างในสัดส่วนร้อยละ 0.2 ไปจนถึงร้อยละ 1 ของค่าจ้าง แต่หากบริษัทไหนดูแลความปลอดภัยของพนักงานในบริษัทเป็นอย่างดี ซึ่งจะมีระบบประเมินก็จะลดการส่งเงินสมทบให้บริษัทลง เหลือ 0.08 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง ซึ่งส่วนราชการก็เช่นกันจะเป็นผู้จ่าย โดยส่วนราชการจะรวมถึงองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือเอ็นจีโอด้วย เพราะลูกจ้างที่ทำงานองค์กรดังกล่าวก็ไม่ได้รับสิทธินี้มาก่อนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สำหรับเงินทดแทนเฉพาะส่วนลูกจ้างราชการจะอยู่ที่ประมาณ 270 ล้านบาทต่อปี

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีลดเงินจ่ายสมทบให้นายจ้าง หากไม่มีเคสลูกจ้างประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน จะกลายเป็นช่องโหว่ให้นายจ้างไม่แจ้งเคสเพื่อเข้ากองทุนเงินทดแทนหรือไม่ นพ.สุรเดช กล่าวว่า จริงๆหากมีนายจ้างปกปิด และลูกจ้างทราบสิทธิก็สามารถแจ้งมายัง สปส.ได้ หรือหากไม่แน่ใจให้สอบถามมาได้เช่นกัน ซึ่งทางสปส.จะเข้าไปตรวจสอบทันที