ปลดล็อก กัญชา จาก สายควัน สู่ ห้องผู้ป่วย

ไม่ใช่ครั้งแรกกับการกล่าวถึง กัญชา โอกาสในการวิจัยพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

เพราะแม้จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มสิ่งเสพติดประเภทที่ 5 ผิดกฎหมาย ทั้งการปลูก การเสพ และการวิจัยในมนุษย์ แต่ดูเหมือนว่าครั้งนี้จะแตกต่างจากทุกครั้ง เพราะหากเปิดช่องให้มีการวิจัยและพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ ย่อมหมายถึงความหวังในการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม พาร์กินสัน ลมชัก

และอาจไปถึงโอกาสของผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย

เห็นได้จากคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) นำโดย นพ.โสภณ เมฆธนประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะกรรมการ อภ. นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ อภ. และผู้ที่เกี่ยวข้องราว 8 คน ร่วมเดินทางไปยังประเทศแคนาดาเพื่อศึกษาการปลูกพืชกัญชาสำหรับผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และเพื่อศึกษาการควบคุมพืชกัญชาจากบริษัทในแคนาดา ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้ปลูกอย่างถูกกฎหมาย
แน่นอนว่าจากการไปศึกษาเรื่องของกัญชายังต่างแดน ทำให้ทราบว่ากัญชาสายพันธุ์ดีที่สุดกลับเป็นของประเทศไทย

จึงเกิดคำถามว่า แล้วประเทศไทยจะสามารถทำอะไรได้บ้าง เนื่องจากยังติดล็อกทางกฎหมายอยู่

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรี สธ. ทราบเรื่องนี้ดี และตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัยพัฒนาเพื่อสกัดสารจากกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ โดยได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด

เบื้องต้นทาบทาม นพ.โสภณ ประธานบอร์ด อภ.มานั่งเป็นประธานคณะทำงานชุดนี้ และดึงผู้ที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ ที่ขาดไม่ได้คือ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มารับหน้าที่ในการร่วมศึกษาความเป็นไปได้ในการนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์
กรอบการทำงานของคณะทำงานชุดนี้ แน่นอนว่าต้องรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมายืนยันถึงความเหมาะสมที่ประเทศไทยควรต้องเริ่มทำการวิจัยพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบเสียที
ไม่ใช่ให้ศึกษาวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการ แต่ไม่สามารถศึกษาในมนุษย์ได้ เหมือนดั่งของคณะวิจัยมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ทำการศึกษาวิจัยและผลิตเป็นสเปรย์กัญชา เพื่อหวังใช้บรรเทารักษาอาการเจ็บปวดและอาเจียน โดยมุ่งไปที่ผู้ป่วยมะเร็ง แต่ยังติดปัญหาด้านกฎหมาย จึงยังไม่สามารถเดินหน้าต่อได้

ดังนั้น คณะทำงานที่ตั้งขึ้นจึงต้องพิจารณาจะทำอย่างไร ไม่ให้ตกขบวน สิ่งสำคัญคือ ต้องมีการวิจัยพัฒนาเพื่อหาทางสกัดสารจากกัญชามาใช้ทางการแพทย์ให้ได้

นพ.โสภณอธิบายสิ่งที่กำลังดำเนินการว่า ขณะนี้ อภ.อยู่ระหว่างจัดทำร่างโครงการวิจัยสารสกัดจากกัญชาเพื่อศึกษาประโยชน์ทางการแพทย์ โดยสารสกัดกัญชา หลักๆ จะประกอบด้วย สาร Cannabidiol (CBD) และสาร Tetrahydrocannabinol (THC) ซึ่งนำมาศึกษาเพื่อรักษาโรคลมชัก โดยเฉพาะในเด็กยาที่มีอยู่บางครั้งไม่สามารถคุมการชักได้ แต่กัญชามีบทบาทที่คุมได้ดี

ประเด็นที่ 2 คือโรคทางสมองอื่นๆ เช่น โรคพาร์กินสัน ซึ่งรบกวนชีวิตมากๆ มือสั่น เมื่อได้ยาแผนปัจจุบันก็จะเกร็งจะแข็งไปหมด ประเด็นที่ 3 โรคมะเร็ง โดยต้องวิจัยพัฒนาว่าจะใช้กัญชามาช่วยอย่างไร ทั้งเรื่องลดการปวด เพิ่มความอยากอาหาร และประเด็นที่ 4 ลดความเจ็บปวดแทนการใช้มอร์ฟีนได้หรือไม่ เป็นต้น

นอกจากนี้ในเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์กัญชาก็ต้องมีการพัฒนาต่อยอดอีก เพราะแม้ของไทยจะมีสายพันธุ์ที่ดีที่สุด แต่ประเทศอื่นๆ ก็พัฒนาไปมากแล้ว

ดังนั้น เราก็ต้องพัฒนาต่อไปด้วย รวมไปถึงการพัฒนาเทคนิคในการสกัดสารกัญชาด้วย อย่างแคนาดาใช้การสกัดที่เรียกว่า คาร์บอนไดออกไซต์ แต่ไทยยังใช้เอทานอลในการสกัดสารอยู่

โดยสิ่งสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้สามารถปลดล็อกให้กัญชาเป็นสิ่งเสพติดประเภทที่ 2 แทน ซึ่งสามารถนำมาวิจัยพัฒนาเป็นยาได้ แต่ต้องมีข้อบ่งชี้ทางวิชาการ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ ลักษณะการใช้งานกัญชาทางการแพทย์ที่ประเทศแคนาดาที่ได้รับการยอมรับกันทั้งในแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์ทางเลือกในขณะนี้ คือ ความสามารถในการระงับอาการเจ็บปวดได้ดี ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และลดการพึ่งพายา เนื่องจากในคนไข้บางรายที่จำเป็นต้องกินยาระงับอาการปวดตลอดเวลานั้น อาจทำให้เกิดพิษที่ตับได้

การนำกัญชามาใช้ในการระงับอาการปวด จึงเป็นทางเลือกในการลดผลข้างเคียงดังกล่าว

นอกจากนี้ในระดับนานาชาตินั้น กัญชายังมีงานศึกษาและวิจัยในการเอาไปใช้รักษาบำบัดใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ ซึ่งขณะนี้กลุ่มโรคที่นานาชาติให้ความสนใจในการนำสารสกัดจากกัญชามาใช้ในการบำบัดรักษา อาทิ อาการปวดเรื้อรัง มะเร็ง โรคปลอกประสาทอักเสบ หรือโรคเอ็มเอส โรคอัลไซเมอร์ โรคเบาหวาน โรคลมชัก โรคพาร์กินสัน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ฯลฯ

ส่วนประเทศไทยเบื้องต้นสนใจในเรื่องโรคทางสมอง ทั้งโรคลมชัก พาร์กินสัน สมองเสื่อม เป็นต้น ในเรื่องนี้

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม บอกว่า มีความกังวลที่หากไทยไม่ทำอะไรเลย และปล่อยไปเช่นนี้เรื่อยๆ ในอนาคตเราอาจต้องนำเข้าสารสกัดกัญชาจากประเทศอื่นก็เป็นได้ ดังนั้น แม้ขณะนี้ยังติดเรื่องกฎหมาย แต่ในขณะเดียวกันเราก็จำเป็นต้องมีข้อมูลทางวิชาการมายืนยัน และทำการศึกษาวิจัยให้เป็นรูปธรรมชัดเจน
ท่านประธานบอร์ด อภ.ได้นำเรียนท่านรัฐมนตรีว่าการ สธ.แล้ว ซึ่งแนวทางของประเทศไทยจะเริ่มต้นศึกษาทดลองเชิงยา จากการศึกษาสาร Cannabidiol (CBD) ซึ่งมีผลทางสมองและจิตใจน้อยกว่า แต่อย่างไรก็ตาม Tetrahydrocannabinol (THC) ก็จะเป็นทางเลือกในการรักษาโรคลมชัก ออทิสซึม พาร์กินสัน ซึ่งเราคิดว่าเราจะจับมือกับทางมหาวิทยาลัยกับอาจารย์แพทย์ ทำงานร่วมกันศึกษาอย่างจริงจัง แต่เราก็ต้องปรับปรุงคุณภาพสายพันธุ์กัญชาด้วย เพราะเราไม่สามารถเอากัญชาที่จับกุมได้มาทำ เพราะมาตรฐานจะแตกต่าง ซึ่งมีผลต่อคุณภาพสารสกัด ดังนั้น หาก อภ.จะร่วมทำงานกับนักวิชาการต่างๆ ก็ต้องเริ่มจากพัฒนาสายพันธุ์กัญชา ที่มีการควบคุมเพาะพันธุ์จนได้กัญชาสายพันธุ์ดีและปริมาณชัดเจน เพื่อเข้าสู่กระบวนการสกัดสารต่อไป ซึ่งการสกัดสารนั้นคนไทยมีศักยภาพทำได้อยู่แล้ว และเมื่อได้สารสกัดก็นำมาใช้ทางการแพทย์ แต่อยู่ภายใต้การควบคุมทั้งหมดŽ นพ.นพพรกล่าว

จากการบอกเล่าของตัวแทนบอร์ด อภ.ที่ไปเยือนแคนาดา รวมทั้งทิศทางในประเทศไทย อาจสรุปได้ว่า สารสกัดจากกัญชามีศักยภาพทางการแพทย์จริง เพียงแต่ต้องมีการพัฒนาสายพันธุ์ และใช้เทคนิคในการสกัดสารออกมาใช้ประโยชน์ รวมทั้งต้องมีการทดลองวิจัยทางการแพทย์ตามลำดับ
และถึงแม้กฎหมายยังปิดล็อกแน่นหนา แต่การวิจัยพัฒนาก็ยังจำเป็นต้องดำเนินการ ส่วนจะปลดล็อกให้เหลือลงมาที่สิ่งเสพติดประเภท 2 ได้หรือไม่นั้นก็คงต้องรอ เพราะหากได้เราก็จะสามารถวิจัยในมนุษย์ได้ แต่หากไม่ได้ก็จบ!

อีกประเด็นที่น่าสนใน คือ กลับมีอีกกลุ่มที่มองว่า หากกัญชานำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ยาก ก็อาจใช้กัญชง ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับกัญชา แต่การควบคุมน้อยกว่า ปัญหาคือ สารสกัดน้อยกว่ากัญชา และส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์ทางด้านเส้นใย

งานนี้จึงไม่รู้ว่า สรุปแล้ว ประเทศไทยจะเดินหน้ายาวๆ หรือเดินระยะสั้นเท่านั้น