อรรถวิชช์ แนะบิ๊กตู่ ตอบรับพรรค ชิงนายกฯคนใน หวั่นหากมาจากคนนอก ปท.จะวุ่นวาย

เมื่อวันที่ 12 เมษายน นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊ก ‘นายกฯคนใน นายกฯ คนนอก คือใคร?’ ระบุว่า

ขณะนี้ พรรคการเมืองต่างเตรียมความพร้อมเท่าที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะอนุญาตให้ดำเนินการได้ โดยหลายพรรคการเมืองเริ่มประกาศต่อสาธารณะแล้วว่าจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรีในอนาคต และก็มีบางพรรคที่ยังสงวนท่าที เพราะจะรอดูผลการเลือกตั้งก่อน ประเด็นถกเถียงกันในเกือบทุกเวทีในการดีเบตของแต่ละพรรคการเมืองคือ “จะเอานายกฯคนใน หรือนายกฯคนนอก”

ผมขออธิบายเกี่ยวกับวิธีการได้มาซึ่ง “นายกรัฐมนตรี” ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้เข้าใจกันก่อน ที่เราได้ยินกันว่า “นายกฯ คนใน – นายกฯ คนนอก” มันต่างกันยังไง

“นายกรัฐมนตรีในอดีต” ตามรัฐธรรมนูญเก่าปี 2550 คือ สส. ผู้ที่ได้มติเสียงข้างมากเกินครึ่งจากสภาผู้แทนราษฎร ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังนั้น คนมักพูดกันว่า จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ต้องเป็นนายกฯคนในเท่านั้น คือต้องได้รับเลือกเป็น สส. เป็นคนในสภาผู้แทนราษฎรก่อนนั่นเอง

“นายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน” ตามรัฐธรรมนูญใหม่ปี 2560 มี 2 ประเภท

– “นายกฯคนใน” คือ บุคคลที่พรรคการเมืองประกาศชื่อเป็นผู้จะเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสภา โดยจะต้องประกาศรายชื่อนี้ก่อนการเลือกตั้ง พรรคการเมืองหนึ่งจะเสนอได้ 3 รายชื่อ ซึ่งผู้นั้นไม่จำเป็นต้องเป็น สส.ก็ได้ นิยามจึงต่างออกไปจากเดิม เพราะนายกฯคนใน คราวนี้ คือนายกฯที่พรรคการเมืองเสนอชื่อเท่านั้น ไม่ต้องได้รับเลือกตั้งเป็น สส.ก็ได้ ทั้งนี้ พรรคที่จะเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้จะต้องมี สส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของสภาผู้แทนราษฎร และมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสภาผู้แทนราษฎรด้วย

– “นายกฯคนนอก” คือ บุคคลที่ไม่อยู่ในรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมา ขอขยายความต่อว่าปกติแล้ว สส. จะเป็นผู้ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน บทเฉพาะกาล มาตรา 272 มีหลักการว่า ในห้าปีแรกนับแต่มีรัฐสภาชุดแรก ให้รัฐสภาที่ประกอบด้วย สส. 500 คน จากการเลือกตั้ง และ สว. 250 คน จากการแต่งตั้งโดย คสช. รวมทั้งหมด 750 คน ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี และเปิดช่องไว้ว่าหากเกิดกรณีที่ไม่สามารถลงมติเลือกบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอมา ก็ให้เสนอชื่อ “ใครก็ได้” เพื่อลงมติเป็นนายกรัฐมนตรี

นัยของกลไกนี้ ฝ่ายที่ได้เปรียบคือ สว. 250 คน ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นคนที่ คสช. เลือกมา หากไม่เห็นด้วยกับชื่อที่พรรคการเมืองต่างๆ เสนอมา ก็จะไม่สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้ เกิดเป็น “ทางตัน” และทางตันที่ สร้างขึ้นก็จะนำไปสู่การหานายกฯคนนอกต่อไป ทีนี้คงจะเดาได้ไม่ยากว่ารายชื่อหนึ่งเดียวที่จะลอยฟ้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก นั่นก็คือหัวหน้า คสช. “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

อารมณ์หลังเลือกตั้งเกินจะคาดเดาได้ หากประชาชนตั้งใจเลือกตั้งตามหลักครรลองประชาธิปไตยแล้ว แต่หวยยังล็อกออกเบอร์ที่ไม่มีขายในตลาด ได้นายกฯ คนนอกที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอจะเป็นอย่างไร อารมณ์นี้เป็นได้ทั้งสองทาง คือบ้านเมืองวุ่นวายเดินขบวน หรือบ้านเมืองสงบเพราะยังชอบในผลงานของหัวหน้า คสช. แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ชัดเจนคือ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ใช่คนกลางที่จะมาเคลียร์ความขัดแย้ง แต่จะกลายเป็นประเด็นแห่งความขัดแย้งเสียเอง

หาก พล.อ.ประยุทธ์ อยากจะทำงานเพื่อประชาชนต่อไปและไม่กลายมาเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง จะดีกว่าไหม หากท่านจะตอบรับพรรคการเมืองสักพรรคที่มีแนวทางเดียวกัน แค่ตอบรับเพื่อมีชื่อปรากฏในบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีก็พอ ก็จะได้ชื่อว่าเป็นนายกฯ คนในแล้ว จะได้ไม่มีปัญหาในอนาคต เพราะมีพรรคการเมืองอยู่หลายพรรคที่พร้อมสนับสนุนท่านโดยเฉพาะพรรคที่มีกระแสข่าวว่ารองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะตั้งขึ้นมา ที่จะมี ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าพรรค

ผมเชื่อว่าหากพล.อ.ประยุทธ์ เลือกเดินตามระบบนายกฯคนใน บ้านเมืองจะได้สงบเรียบร้อยหลังเลือกตั้ง และเชื่อว่าจะได้รับเสียงโหวตจากประชาชนที่รักท่านเพราะที่ผ่านมา ตลอด 3 เกือบ 4 ปี แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลายเรื่อง แต่คนที่ชอบ พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีไม่น้อย

ผมได้แต่หวังว่า ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีควรจะเปิดหน้าสังกัดพรรคให้ประชาชนเห็นก่อนเลือกตั้ง ยึด “บทหลัก” ตามรัฐธรรมนูญไว้จะดีที่สุด เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งในอนาคต

ด้วยเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันนั้น จะเห็นได้ชัดว่าหลังเลือกตั้งจะเป็นรัฐบาลผสมแน่นอน ยากเหลือเกินที่พรรคการเมืองใดจะมีที่นั่งสส.เกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร และเป็นรัฐบาลเพียงพรรคเดียว

แต่ไม่ว่าอย่างไร กลุ่มพรรคการเมืองใดที่สามารถรวมตัวกันและรวบรวมจำนวน สส.จนได้เสียงข้างมากเกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ก็ควรเป็นรัฐบาล และควรยึดบทหลักตามกติกาคือ บุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องเป็น นายกฯคนใน ที่พรรคการเมืองเสนอมาเท่านั้น เพราะถือว่าเป็นบุคคลที่ได้ฉันทามติจากประชาชน สว.แต่งตั้งก็สมควรลงมติให้บุคคลนั้นด้วยเช่นกัน เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านของประเทศเป็นไปโดยความเรียบร้อยตามระบอบประชาธิปไตย