“รู้ก่อนตอนนี้ ดีกว่ารู้งี้ตอนหลัง” แค่สร้างวินัยจราจร… ช่วยลดสถิติสงกรานต์ กลับบ้านปลอดภัย

“รู้งี้ ไม่น่าเลย” ประโยคหนึ่งที่ได้ยินกันบ่อยมากหลังจากเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งควรนำมาเป็นข้อเตือนใจสำหรับทุกคนที่ต้องเดินทาง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ว่า “รู้ก่อนตอนนี้ ดีกว่ารู้งี้ตอนหลัง”

คุณพลเสฐ์ เลาหกรรณวนิช  รองเลขาประธานหน่วยกู้ภัย มูลนิธิสว่างเบญจธรรม จังหวัดสมุทรสงคราม ผู้ที่ทำงานด้านกู้ภัยมายี่สิบกว่าปีจนเริ่มเห็นว่าสิ่งที่กำลังทำตามสโลแกน “ช่วยคนเจ็บ เก็บคนตาย” อาจจะเป็นแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และเริ่มเกิดความคิดว่า น่าจะทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น

“เช่น กรณีของ กม. 73 คลองโคน สมุทรสงคราม เป็นจุดกลับรถที่มีสถิติเกิดอุบัติเหตุบ่อยมาก ขึ้นอันดับหนึ่งของเส้นทางที่คนจะกลับบ้านช่วงสงกรานต์ต้องผ่าน เพราะคนจะชิดขวากลับรถในระยะกระชั้นชิดมาก และทั้งๆ ที่ถนนพระรามสองเป็นทางหลวงพิเศษเส้นแรกของประเทศไทย แต่ปรากฏว่าเส้นทาง 22 กิโลเมตรนี้มีจุดกลับรถมากถึง 8 จุด ถนนทางตรงทำให้รถส่วนใหญ่ก็ใส่ความเร็วกันมาเต็มๆ และเมื่อดูสถิติอุบัติเหตุที่ผ่านมา เราก็ ไปแก้ไขปรับปรุงจุดกลับรถให้เลยไปอีกไม่กระชั้นชิด ติดไฟทาง ทำป้ายเตือน คนที่รักษาวินัยจราจรก็ช่วยทำให้สถิติอุบัติเหตุช่วงเทศกาลลดลงไปมาก”

อุบัติเหตุบนท้องถนนนั้นใครๆ ก็ไม่อยากให้เกิด ถ้ามองแค่เป็นอุบัติเหตุและตัวเลขสถิติในทุกปีจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย มาลองดูกันว่าสถิติของอุบัติเหตุช่วงวันสงกรานต์ในรอบปีที่ผ่านมา(2560) วันที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือวันที่ 13 เมษายน และมากกว่าครึ่ง เกิดเหตุขึ้นในเวลาหลังเที่ยงไปจนถึงสองทุ่ม อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (38.82%) ซึ่ง 1 ใน 4 เสียชีวิต และในประเภทของพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ จักรยานยนต์ 82.32% โดยมีผู้ประสบอุบัติเหตุครึ่งหนึ่งได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ เพราะส่วนใหญ่ไม่สวมหมวกกันน็อก

ที่น่าตกใจที่สุด คือ สถิติการเกิดอุบัติเหตุทุก 10 ครั้ง จะมีคนตาย 1 คน และในช่วงสงกรานต์ปีที่ผ่านมา จะมีเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี จะมีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยถึงวันละ 10 คนเลยทีเดียว ซึ่งทั้งหมดนี้นับได้ว่าเป็นโจทย์ใหญ่และท้าทายของคนทำงานด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างมาก

คุณพลเสฐ์กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเริ่มศึกษาหาสาเหตุจากตัวเลขสถิติที่เกิดอุบัติเหตุและได้ร่วมทำงานรณรงค์ลดอุบัติเหตุกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ก็ได้เรียนรู้การทำงานเพื่อลดอุบัติเหตุจริงจัง และเริ่มหาวิธีทำลายสถิติอุบัติเหตุในพื้นที่ เริ่มด้วยทำงานแก้ไขปรับปรุงทางกายภาพของการใช้รถใช้ถนน ก็พอช่วยลดอุบัติเหตุได้บ้าง แต่สุดท้ายสิ่งสำคัญที่สุด คือ ทัศนคติของผู้ขับขี่ เพราะทุกวันนี้ก็ยังได้พบเห็นว่าคนจำนวนไม่น้อย ไม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของวินัยจราจร ความปลอดภัยบนท้องถนน ดังจะเห็นได้จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุที่ยังเกิดขึ้นในทุกวัน และยิ่งสูงขึ้นในช่วงเทศกาล

“เชื่อไหมว่าทุกวันนี้ยังมีคนที่ใส่หมวกกันน็อกเฉพาะตอนอยู่ในเขตเทศบาล ผมถามว่าทำไมตอนอยู่นอกเมืองไม่ใส่ เขาบอก..ใส่แค่กันตำรวจจับก็พอแล้ว”

แต่เหตุการณ์ที่สะเทือนใจและกลายเป็นบทเรียนให้กับทุกครั้งที่คุณพลเสฐ์มีโอกาสไปอบรมหรือเป็นวิทยากรที่ไหน นั่นก็คือเรื่องราวของพี่สุรินทร์ ช่างไม้หนุ่มที่มีอนาคต เพราะมีฝีมือดีและเป็นคนตั้งใจทำมาหากิน มีรายได้พอที่จะให้คนทั้งครอบครัวอยู่ได้อย่างไม่ขัดสน ครอบครัวนี้มีลูกสาวสองคน คนโต ทำงานโรงงาน คนเล็กอีกคนเป็นดาวน์ซินโดรม

“เดิมทีแกก็ไม่เคยขับรถเร็ว วันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุ รถมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งพุ่งออกจากซอยด้วยความประมาท รถกระบะก็ขับเร็วมาทางถนนสายหลักก็หักหลบกะทันหัน เลยหมุนติ้วมาฟาดโดนพี่สุรินทร์ ทั้งๆ ที่แกก็ขี่รถมาช้าๆ ไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่อะไรด้วย

ผลที่เกิดขึ้นคือพี่สุรินทร์แขน ขา สะโพก หัก บาดเจ็บสาหัสต้องพักรักษาตัวเป็นปี กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงทำงานไม่ได้ หลังผ่าตัด 5 ครั้งยังเพิ่งจะหัดเดินได้นิดหน่อย ระหว่างที่หัวหน้าครอบครัวต้องอยู่โรงพยาบาล แฟนแกก็ต้องมาดูแลที่โรงพยาบาล ทำให้ลูกสาวคนโตต้องออกจากงานโรงงานมาเลี้ยงน้องที่บ้าน กลายเป็นว่าทั้งบ้าน4ปาก4ชีวิต ไม่มีใครมีรายได้ ได้รับความลำบากต้องกู้หนี้ยืมสินมาซื้อข้าวกินพอประทังชีวิตไปวันๆ มันเหมือนกับอนาคตดับวูบมืดมนไปเลยก็ว่าได้”

เราจะต้องปล่อยให้เกิดเรื่องเศร้าซ้ำๆ แบบนี้อีกกี่ราย กู้ภัยจะต้องเก็บอีกกี่ศพ จะต้องมีคนบาดเจ็บล้มตายอีกสักเท่าไร ผู้คนถึงจะตระหนักว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะกับตัวเองหรือคู่กรณีเท่านั้น

ดังข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ออกสื่อรณรงค์ลดอุบัติเหตุทุกปี ทั้งดื่มแล้วขับ ใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด ไม่สวมหมวกกันน็อก และที่สำคัญวินัยจราจรไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยที่จะมาโอดครวญภายหลังว่า “รู้งี้…ไม่น่าเลย” เพราะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเรื่องน่าเศร้าได้ไม่แพ้กัน  แล้วมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดสถิติอุบัติเหตุให้เทศกาลสงกรานต์ กลับบ้านปลอดภัยกันทุกคน