พาณิชย์มองบวก ไทยไม่กระทบสงครามการค้า สอท.ปรับเป้าส่งออกปี 61 เป็น 8%

วันที่ 5 เมษายน 2561 นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า จีนได้ประกาศระงับการลดหย่อนภาษีนำเข้าและขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ 128 รายการ มีผลบังคับใช้ทันที โดยการดำเนินการของจีนครั้งนี้มีขึ้นเพื่อ “ตอบโต้” การตั้งกำแพงภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมตามมาตรา 232 สหรัฐ (มีผลตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2561) โดยเป็นไปตามความตกลงว่าด้วยมาตรการปกป้อง (Agreement on Safeguard) และจีนได้ยื่นรายการสินค้าต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อรักษาผลประโยชน์และชดเชยความเสียหายทางการค้าของจีนแล้ว

“การขึ้นภาษีส่งผลกระทบต่อการค้าของจีน แต่คงไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อไทย และเราต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากไทยเป็นซัพพลายเชนด้านการผลิตของจีน” นางสาวพิมพ์ชนกกล่าว

ทั้งนี้การขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐ 128 รายการ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ภาษีนำเข้าอัตรา 15% ครอบคลุมสินค้า 120 รายการ ได้แก่ ผลไม้สดและแห้ง, ถั่วและอื่นๆ, ไวน์, เอทานอลแปรรูป, โสม, ท่อเหล็ก คิดเป็นมูลค่า 1,129.50 ล้านเหรียญ กับกลุ่มที่ 2 ภาษีนำเข้า 25% ครอบคลุมสินค้า 8 รายการ ได้แก่ หมู/ผลิตภัณฑ์จากหมู, อะลูมิเนียมรีไซเคิล/ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม คิดเป็นมูลค่า 1,957.63 ล้านเหรียญ

ด้านนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) กล่าวว่า กกร.ได้ปรับเพิ่มประมาณการ GDP ปี 2561 ใหม่เป็นขยายตัว 4.0-4.5% จากเดิม 3.8-4.5% โดยเป็นผลจากการท่องเที่ยวดีขึ้น ส่วนรายได้จากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น ส.อ.ท.คาดว่าจะขยายตัว 5.0-8.0% จากเดิม 3.5-6.0% แม้ว่าสหรัฐจะประกาศขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนและจีนก็ได้ตอบโต้สหรัฐ แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยโดยตรง อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตามองทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน โดยขณะนี้มีปัจจัยที่สหรัฐมีแผนจะปรับอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง “อาจทำให้อัตราแลกเปลี่ยนรีบาวนด์”

ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการทางการค้ามากที่สุดอย่าง “สินค้าเหล็ก” จำเป็นต้องหาตลาดส่งออกใหม่รองรับ เช่น ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมียนมาที่กำลังลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมีความต้องการใช้เหล็กก่อสร้างจำนวนมาก รวมถึงตลาดใหม่อย่างเอเชียใต้-แอฟริกา ส่วนสินค้าไอที/อิเล็กทรอนิกส์/ฮาร์ดแวร์ ซึ่งไทยส่งออกไปยังสหรัฐจำนวนมาก ทำให้สหรัฐขาดดุลการค้านั้น เป็นผลจากการส่งออกโดยบริษัทสหรัฐที่มาลงทุนในไทย ซึ่งไม่ควรใช้มาตรการทางการค้ารูปแบบนี้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยโดยกรมเจรจาการค้าต่างประเทศ มีแนวทางเจรจาที่จะทำให้บรรยากาศดีขึ้นจนไม่เกิดเป็นสงครามการค้ารุนแรง ขณะที่อะลูมิเนียมถึงจะเป็นสินค้าที่ถูกกีดกันไปด้วย แต่ไม่น่าเป็นห่วงเพราะไทยยังคงเป็นตลาด net import ต่อให้ส่งออกสหรัฐไม่ได้ก็สามารถส่งตลาดอื่นได้

นายชัยชาญ เจริญสุข รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า แม้ว่าการตอบโต้ทางการค้าของ 2 ประเทศจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในทางตรงมากนัก แต่จะมีผลต่อการค้าโลกทำให้มีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น คาดว่าการใช้มาตรการนี้จะใช้เวลา 3 เดือน ระหว่างนั้นปัญหาจะต้องถูกหยิบยกเข้าหารือในที่ประชุมระดับโลกโดยเฉพาะ WTO เพื่อหาทางออกให้ได้โดยเร็ว เพราะหลายประเทศต่างก็วิตกกังวลกันมากและมีแนวโน้มที่หลายประเทศอาจจะนำมาตรการทางการค้าลักษณะนี้มาใช้เพิ่มขึ้น

“สินค้าจีนใช้มาตรการภาษีกับสหรัฐนั้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร ซึ่งไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสหรัฐมากนัก แต่อีกด้านน่าจะเป็นโอกาส เพราะสินค้าดังกล่าวใกล้เคียงกับสินค้าที่ไทยผลิตอาจสร้างโอกาสทางการค้า อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนกังวลว่า มาตรการภาษีสหรัฐที่ใช้กับสินค้าจีน อาจจะทำให้สินค้าจีนไหลทะลักมาสู่เอเชียเพราะไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐได้ ซึ่งเริ่มเห็นผลมากขึ้นแล้ว นอกจากนี้ยังห่วงเรื่องค่าบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด” นายชัยชาญกล่าว