สามเสนโมเดล ต้นแบบ สกัดแป๊ะเจี๊ยะ

เข้าสู่ฤดูกาลรับนักเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปีการศึกษา 2561 อย่างเป็นทางการ ผู้ปกครองต่างเตรียมพร้อมลูกหลาน
ติวเข้มเพื่อเข้าสู่สนามการแข่งขัน โดยเฉพาะในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง จำนวน 282 แห่งทั่วประเทศ

โดยระดับก่อนประถมศึกษา รับสมัครไปแล้วตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ -6 มีนาคม 2561 เตรียมจับสลากและประกาศผลพร้อมรายงานตัววันที่ 10 มีนาคม มอบตัววันที่ 17 มีนาคม, ป.1
รับสมัครไปตั้งแต่วันที่ 7-11 มีนาคม จับสลาก ประกาศผลและรายงานตัววันที่ 18 มีนาคม มอบตัววันที่ 24 มีนาคม ส่วน ม.1 ห้องเรียนทั่วไป รับสมัครพร้อมกันทั่วประเทศวันที่ 25-28 มีนาคม โดยโรงเรียนที่มีอัตราแข่งขันสูงและโรงเรียนทั่วไป สอบคัดเลือกและใช้คะแนน โอเน็ต วันที่ 31 มีนาคม ประกาศผลและรายงานตัววันที่ 4 เมษายน ส่วนกรณีความสามารถพิเศษ สอบวันที่ 27 มีนาคม ประกาศผลและรายงานตัววันที่ 28 มีนาคม สำหรับการรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษประกาศผลและรายงานตัววันที่ 4 เมษายน จับสลาก ประกาศผลและรายงานตัววันที่ 5 เมษายน โดยชั้น ม.1 มอบตัวพร้อมกันวันที่ 7 เมษายน ทั้งนี้หากนักเรียนยังไม่มีที่เรียนสามารถยื่นความจำนงให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จัดหาที่เรียน ภายในวันที่ 9-11 เมษายน ประกาศผลและรายงานตัววันที่ 18 เมษายน ม.4 รับสมัครพร้อมกันวันที่ 25-28 มีนาคม สอบความสามารถพิเศษ วันที่ 27 มีนาคม ประกาศผลและรายงานตัววันที่ 28 มีนาคม สอบคัดเลือกและใช้คะแนนทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) วันที่ 1 เมษายน ประกาศผลและรายงานตัววันที่ 5 เมษายน กรณีเงื่อนไขพิเศษประกาศผลและรายงานตัว วันที่ 5 เมษายน มอบตัวพร้อมกันวันที่ 8 เมษายน

สำหรับเกณฑ์การรับนักเรียนปีนี้ ทั่วไปไม่มีปัญหา โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงใช้คะแนนสอบของโรงเรียน 70% คะแนนโอเน็ต 30% การรับนักเรียนจากชั้น ม.3 เลื่อนขึ้น ม.4 ในโรงเรียนเดิม ให้โควต้าเด็กโรงเรียนเดิม 80% และเปิดโอกาสให้เด็กโรงเรียนอื่นมาสอบได้อีก 20%

แต่มาติดขัดและต้องปรับแก้ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ในเรื่องของสัดส่วนการรับนักเรียนต่อห้อง ซึ่งเดิมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กำหนดนักเรียนต่อห้อง ในระดับก่อนประถมศึกษา 30 คนต่อห้อง ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา 40 คนต่อห้อง ทำให้ผู้ปกครองกังวลว่าจะกระทบต่อการเลื่อนชั้นโรงเรียนเดิมของเด็ก โดยเฉพาะอนุบาล 3 ขึ้น ป.1 และ ม.3 ขึ้น ม.4

เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา สพฐ.จึงหารือกับผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง และเห็นควรปรับแก้ โดยชั้น ม.1 ให้ยึดตามหลักเกณฑ์ 40 คนต่อห้องตามมติ กพฐ. ส่วนช่วงรอยต่อของนักเรียนชั้น ม.3 เลื่อนขึ้น ม.4 ในโรงเรียนเดิม ซึ่งมีปัญหานักเรียนจะถูกคัดออกจำนวนมาก ก็ยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้โรงเรียนที่มีเหตุผลและความจำเป็นไม่สามารถปฏิบัติตามนโยบายได้ ให้ทำแผนเสนอต่อคณะกรรมการสถานศึกษาขอขยายห้องเรียน หรือเพิ่มจำนวนนักเรียนต่อห้อง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละสถานศึกษา จากนั้นให้ไปขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการรับนักเรียนของเขตพื้นที่การศึกษาที่สังกัดอยู่ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาปัญหาการรับเงินแป๊ะเจี๊ยะเพื่อแลกกับการรับเด็กเข้าเรียนมีมาโดยตลอด และเป็นที่ฮือฮาในปี 2560 กับกรณีโซเชียลออกมาเผยแพร่คลิปวิดีโอกล่าวหาผู้บริหารโรงเรียนสามเสนวิทยาลัยรับเงินเพื่อแลกกับการรับเด็กเข้าเรียนชั้น ม.1 โดยไม่มีการออกใบเสร็จ นำมาสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงกับผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนและพวก

จากเหตุการณ์นี้เอง ทำให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ใช้สามเสนโมเดล?เป็นตัวอย่างเตือนผู้บริหารโรงเรียน และผู้บริหาร ศธ.ย้ำให้สถานศึกษาทั่วประเทศทำตามเกณฑ์การรับนักเรียนของ สพฐ.และของโรงเรียนที่มีการกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด อย่าให้มีการติดสินบนหรือทุจริตเกิดขึ้น การรับเงินหรือระดมทรัพยากรต่างๆ ขอให้เป็นไปอย่างถูกต้อง หากพบว่ามีการเรียกรับสินบนหรือรับเงินแป๊ะเจี๊ยะเพื่อแลกกับการรับเด็กเข้าเรียน ผู้ที่เกี่ยวข้องก็จะถูกดำเนินการตามขั้นตอน หากพบว่าทำผิด ทุจริต เรียกรับเงินมีโทษถึงขั้นไล่ออก และถือว่าผิดทางอาญา ต้องส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการ

ขณะที่ นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ. รับลูกทันที โดยได้ย้ำกับโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง ห้ามระดมทรัพยากรในช่วงที่มีการรับนักเรียนอย่างเด็ดขาด และย้ำว่าการประกาศรายชื่อนักเรียนที่สอบผ่านจะต้องประกาศทั้งตัวจริงและตัวสำรองพร้อมคะแนนที่สอบได้ รวมถึงเงื่อนไขพิเศษของแต่ละโรงเรียนด้วย ห้ามโรงเรียนระดมทรัพยากรในช่วงที่มีการรับนักเรียน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการรับเด็ก และเพื่อความเป็นธรรมกับเด็กทุกคน

เรียกได้ว่า นโยบายระดับบนของ ศธ.ค่อนข้างชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติต้องจับตาดูว่าจะเกิดปัญหาอย่างที่ผ่านมาหรือไม่ แต่เชื่อว่าผู้บริหารโรงเรียนคงระมัดระวังตัวมากขึ้น เพราะหากพลาดถูกแฉในโซเชียล ตกเป็นข่าวครึกโครม อาจจะได้ไม่คุ้มเสียอย่างแน่นอน