เร่งผลิต “บุคลากร” ดิจิทัล

ในเวทีสัมมนาหัวข้อ Digital Intelligent Nation 2018 “กานต์ ตระกูลฮุน” หัวหน้าทีมภาคเอกชน การยกระดับนวัตกรรมและ digitalization คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ และประธานคณะกรรมการ เอไอเอส กล่าวว่า ศักยภาพด้านอินโนเวชั่นเป็นสิ่งที่อ่อนด้อยที่สุดของประเทศไทยมาโดยตลอด ขณะที่การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2523 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 ต่อ GDP และคงที่อยู่แบบนี้มาหลายปี แต่ประเทศอื่นอย่างเกาหลีใต้ที่เคยลงทุนด้านนี้เท่ากับประเทศไทยได้เพิ่มการลงทุนด้านวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 4 และกลายเป็นอันดับ 1 ในโลกไปแล้ว

ขณะที่ประเทศไทย ข้อมูลในปี 2559 ได้ขยับการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาไปที่ร้อยละ 0.78 ต่อ GDP รวมเป็นมูลค่าทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่ที่ราว 1.1 แสนล้านบาท แต่ในปีที่แล้วคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ราวร้อยละ 1 ต่อ GDP เป็นครั้งแรก ส่วนจำนวนบุคลากรด้านวิจัยและพัฒนาในปี 2557 อยู่ที่ 12.9 คนต่อหมื่นประชากร และมีแนวโน้มที่ดีในการพัฒนาจนในปี 2559 คือ 17 คนต่อหมื่นประชากร โดยมีเป้าหมายว่าภายในปี 2564 จะมีบุคลากรด้านนี้ 25 คนต่อหมื่นประชากร ซึ่งถือว่าไม่เลว ขณะที่จากการคาดการณ์ของ Bloomberg 2018 ประเทศไทยติดอันดับ 45 ที่มีการสำรวจดัชนีด้านอินโนเวชั่นทั่วโลก”TDRI สำรวจว่า อีก 5 ปีเราต้องการบุคลากร R&D 5-6 หมื่นคน แต่เด็กที่เรียนด้านเทคโนโลยีมีค่อนข้างน้อย”

ขณะเดียวกันแผนยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม 20 ปี รวมถึงการผลักดันบิ๊กดาต้า ดาต้าภาครัฐ ส่งเสริมให้เกิดอีโคซิสเต็มด้านอินโนเวชั่นของประเทศให้ดียิ่งขึ้น และดึงดูดการลงทุนทางเศรษฐกิจและพัฒนาสตาร์ตอัพให้มากขึ้น

“สถานะด้านการวิจัยและพัฒนาของไทยยังมีความหวัง แต่ก็มีข้อกังวลเรื่องความต่อเนื่อง”