“มุมไบ” รุกสร้างสนามบินใหม่ สร้างอนาคตอินเดีย รองรับ ศก.เติบโต

“นาวี มุมไบ อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต” สนามบินแห่งใหม่ของเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย กำลังจะเริ่มต้นโครงการก่อสร้าง หลังจากรอคอยมานานถึง22 ปี นับตั้งแต่ครั้งแรกที่ยื่นเสนอโครงการ

เมกะโปรเจ็กต์นี้ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองมุมไบ ศูนย์กลางการเงินทางธุรกิจของอินเดีย 22 ไมล์ ในทางตอนใต้ โดยคาดการณ์ว่า ส่วนแรกของสนามบินนี้จะเปิดใช้งานได้ในธันวาคม ปี 2019 พร้อมรองรับผู้โดยสารได้ 10 ล้านคนต่อปี

“นเรนทรา โมดี” นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดีย กล่าวถึงการจัดสร้างสนามบินมุมไบแห่งใหม่นี้ว่า เป็นความพยายามในการไล่ตามอุตสาหกรรมการบินโลกที่ขยายตัวเร็วขึ้นทุกวัน ๆ ซึ่งปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานการบินของอินเดียยังตามหลังอุตสาหกรรมการบินอยู่มาก

ซึ่งรัฐบาลกลางแห่งอินเดียคาดว่า สนามบินใหม่ เมื่อแล้วเสร็จสมบูรณ์ จะรองรับคนได้กว่า 60 ล้านคนต่อปี และจะช่วยให้ปัญหาไฟลต์ดีเลย์บรรเทาลง ซึ่งหมายถึงโอกาสในการรับนักธุรกิจและนักเดินทางจากทั่วโลก พร้อมกับรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในฐานะตลาดเกิดใหม่ที่โตไวที่สุดในโลก

เมื่อปีที่แล้วสำนักข่าว “เดอะ ไทม์ ออฟ อินเดีย” รายงานว่า สนามบินมุมไบเป็นสนามบินเดียว ที่ขึ้นแท่นสนามบินที่รับมือกับไฟลต์บินมากที่สุดในโลก โดยใน 1 วัน มีมากถึง 969 ไฟลต์บิน ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้สนามบินมุมไบขึ้นชื่อว่าดีเลย์บ่อยมาก

ข้อมูลวิจัยจากมาร์ติน คอนซัลแทนต์ ชี้ว่า เครื่องบินจากสนามบินมุมไบ ต้องใช้เวลารอสลอตเพื่อเทกออฟ ขั้นต่ำ 45-60 นาที ในช่วงเวลาเร่งด่วน ขณะที่สนามบินที่สิงคโปร์ใช้เวลา 25 นาที และสนามบินในกรุงโดฮา 0 นาที

และไม่ใช่แค่มุมไบเท่านั้น แต่ปัญหาสนามบินแออัดก็มีให้เห็นเป็นปกติในหลายเมืองใหญ่ แม้ว่าอินเดียจะเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ และมีศักยภาพในการขึ้นเป็นฮับการบินภูมิภาค แต่กลับเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญหน้ากับปัญหา “ขาดแคลนสนามบิน” อย่างหนัก ด้วยสนามบินส่วนมากที่มีรันเวย์เดียว ไม่เพียงพอต่อความต้องการในการเดินทางของผู้โดยสาร ทำให้การจราจรทางอากาศในแดนภารต ถือได้ว่าคับคั่งมาก

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า ในระยะเวลา 15 ปีข้างหน้า รัฐบาลอินเดียต้องสำรองเงินราว 4 ล้านล้านรูปี หรือ 62,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการสร้างสนามบินเพิ่มทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแห่งอินเดีย “อรุณ เจทลีย์”ประกาศว่า รัฐบาลต้องการเพิ่มสนามบินมากขึ้น 5 เท่าเพื่อรองรับเที่ยวบินกว่าพันล้านเที่ยว โดยเล็งปรับปรุง 56 สนามบิน และ 31 ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ที่ไม่มีการใช้งาน

ขณะที่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา สายการบินราคาถูกเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ประชากรในโลกมีการเคลื่อนย้ายอย่างคล่องตัวมากขึ้น

“เอเชีย-แปซิฟิก” กลายเป็นภูมิภาคที่มีความต้องการด้านการบินเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยในปี 2016 ผลสำรวจจากสภาการบินระดับนานาชาติ ระบุว่า หลาย ๆ สนามบินในเอเชียมีความต้องการใช้งานเติบโตในอัตราสูง โดยสนามบิน 3 อันดับแรกของโลก ที่มีความต้องการใช้งานเพิ่มขึ้นมากสุดคือ สนามบินนิวเดลี อินเดีย (21%) สนามบินอินชอน เกาหลีใต้ (17.1%) สนามบินคุนหมิง จีน (11.9%)

“จีน” ถือเป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมากแซงอินเดียในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินเพื่อรองรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ในปี 2019 รัฐบาลจีนเตรียมเปิดตัวสนามบินปักกิ่งแห่งใหม่ที่่จะรองรับคนได้กว่า 75 ล้านคนต่อปี โดยมีรันเวย์มากถึง 7 เลน ทั้งรัฐบาลยังมีแผนว่าภายในปี 2022 จะสร้างสนามบินเพิ่มขึ้นอีก 66 แห่ง

ขณะเดียวกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 10 ประเทศ ต่างเร่งเครื่องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการบินสุดกำลัง เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน โดยสนามบินถือเป็นหนึ่งสิ่งอำนวยความสะดวก ที่แต่ละรัฐบาลเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ควรพัฒนาและลงทุนเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย เวียดนาม หรือฟิลิปปินส์

รวมทั้ง “ชางงี แอร์พอร์ต” สนามบินของสิงคโปร์ ประเทศแห่งการท่า ซึ่งได้แชมป์สนามบินที่ดีที่สุดในโลก 5 ปีซ้อน ก็ไม่เคยหยุดพัฒนา รองรับความต้องการที่ขยายตัวมากขึ้น

ปลายปีที่แล้ว สนามบินชางงี เปิดให้บริการเทอร์มินอล 4 อาคารผู้โดยสารสุดล้ำ ดีไซน์ล้ำสมัย ที่ใช้ระบบอัตโนมัติเกือบทั้งหมด ตอกย้ำการเป็นผู้นำด้านการบินอย่างแท้จริง