“สมคิด” ปลุกคนไทยตื่นตัวรับโลกดิจิตัล คาดจีดีพีปี 61 โต 4.1%

“สมคิด” ชี้ โอกาส-ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกใหม่เปลี่ยนเร็ว-แรง พลิกตำรา 5 ปัจจัยดันจีดีพีโตทะลุ 4 เปอร์เซ็นต์ เปลี่ยนแพลตฟอร์มการเมือง-โมเดลประชาธิปไตยใหม่

ชี้ปัจจัยดันจีดีพีปี 61 โตเกิน 4.1 %

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจกล่าว ปาฐกถาพิเศษ Thailand’s development landscape forward ในงาน “Digital Intelligent Nation 2018” ว่า การจัดงานครั้งนี้นับเป็นมิติใหม่ของการสร้างอนาคตใหม่ของประเทศ

ขณะนี้ปัญหาเศรษฐกิจไทยทรุดตัวผ่านพ้นไปแล้ว ผ่านหลุมดำในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ฯ ประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ไตรมาสที่ 4 ขยายตัว 4 % รวมทั้งปี 2560 จีดีพีเติบโต 3.9 % เป็นตัวเลขที่น่าพอใจ และทำนายว่า จีดีพี ปี 2561 จะเติบโต 4.1 %

หากเป็นไปตามแผน กล่าวคือ หน่วยงานราชการขับเคลื่อนเต็มที่ เบิกจ่ายงบประมาณได้เต็มที่ การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เป็นไปตามเป้าหมาย คือ 7 แสนล้านบาท ประกอบกับความเชื่อมั่นไม่น้อยกว่าปัจจุบัน โปรเจคขนาดใหญ่เคลื่อนไปได้ตามเป้าหมาย และที่สำคัญที่สุดเรื่องการส่งออก หากสามารถทะยานต่อไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดตัวเลขการส่งออกเติบโต 17.6 % สูงที่สุดในรอบ 62 เดือน ลักษณะเช่นนี้ ถ้าหากช่วยกันประคับประคองทำให้ดีที่สุด เชื่อมั่นว่าตัวเลขจีดีพีในปี 2561 จะเติบโตเกิน 4.1 % แน่นอน

เครื่องยนต์ศก.เก่า-แข่งขันไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจถึงจุดอิ่มตัว

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ตลอด 10 ปีของการทำงานการเมืองรับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ ตัวเลขเหล่านี้จะทะยานพุ่งไปข้างหน้านั้นมีขีดจำกัดและมีเพดานเป็นข้อจำกัด ซึ่งเป็นขีดจำกัดให้ไม่สามารถทะยานต่อไปได้เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีเครื่องยนต์ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไปต่อได้ 30 กว่าปีเริ่มเก่าและเริ่มไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งที่ผ่านมาสินค้าที่ส่งออกมีไม่กี่ประเภทและแต่ละประเภทเริ่มหายไปแล้ว

“สำคัญที่สุด เมื่อใดที่การผลิตทั่วโลกก้าวไปสู่ดิจิทัล เมื่อนั้นสิ่งที่เคยได้เปรียบจากต้นทุนต่ำจะหายไปทันที เพราะฉะนั้น ช่วงเวลา 3-4 ปีนี้ มันเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงของประเทศในเวลาเดียวกัน”

โอกาส-ความเสี่ยงในโลกดิจิทัล

โอกาสของประเทศเพราะเศรษฐกิจโลกเติบโตและเข้าสู่สภาวะฟื้นตัว ขณะเดียวกันอาเซียนกลายเป็นบ่อทอง เป็นดินแดนที่ทุกค่ายทุกสำนักให้ความสนใจอย่างมากและประเทศไทยเป็นศูนย์กลางที่แท้จริงของการค้าและการลงทุน การท่องเที่ยว

เมื่อพื้นฐานเศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้น โมเมนตัมดีขึ้น ความเชื่อมั่นของคนไทยมีมากขึ้น จึงเป็นจังหวะของการใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันก็เป็นความเสี่ยงเพราะว่า ถ้าไม่ทำวันนี้ อนาคตจะลำบากเพราะแข่งขันไม่ได้ ช่วงเวลานี้ถูกเรียกว่า รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ เพราะดิจิทัล โลกกำลังตื่นขึ้นมา ดิจิทัลกำลังทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้เกิดโอกาสอันใหญ่หลวง ทั้งในเรื่องของการค้นคว้าวิจัย การค้นคว้าแนวคิดใหม่ สามารถแชร์กันได้อย่างรวดเร็ว นวัตกรรมใหม่ที่ต้องใช้เวลาค้นคว้ายาวนานเป็น 10 ปี กว่าจะเกิดการแพร่หลายได้แต่ปัจจุบันสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงข้ามคืนเดียว เกิดเป็นโอกาส โอกาสในการสร้างความรู้ โอกาสในการแปลงความรู้ไปเป็นโอกาสทางธุรกิจ โอกาสในการสร้างประเทศให้ก้าวกระโดด ก้าวกระโดดข้ามคนอื่นได้เลย โอกาสเต็มไปหมด ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ดูเหมือนว่าจะไม่มีที่สิ้นสุด ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะไปถึงไหน ไม่รู้ว่าจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

ปลุกคนไทยตื่นรับโลกดิจิทัล

ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้ทำให้แต่ละประเทศตื่นขึ้น ประเทศตื่น คนตื่น ธุรกิจตื่น เพื่อฉวยโอกาสนั้น ก้าวไปตามกระแสนั้น ประเทศไทยตื่นสาย มาเริ่มตื่นจริง ๆ ภายในเวลาไม่ถึง 3 ปี ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ทางการก็ยังไม่ตื่น แต่เอกชนตื่นตัวมาก อย่างไรก็ตาม ตื่นสายยังดีกว่าไม่ตื่น เพราะฉะนั้น วันนี้เราตื่นแล้ว ภาคเอกชนหลายบริษัทตื่นขึ้นมา คึกคัก เชื่อมโยงกับต่างประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องดิจิทัลเพราะเอกชนของไทยไม่แพ้ใครทั้งนั้น

ภาครัฐตื่นแล้วในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตื่นแล้วไม่งัวเงียแต่ตื่นแล้วทำเลย พยายามปลุกคนไทยให้ตื่นทั้งประเทศ รัฐมนตรีพิเชษได้รับเมนเนจ ให้จัดงานที่ทำให้ปลุกคนไทยให้ตื่นทั้งประเทศเพราะว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงของการก้าวไปสู่อีกยุคหนึ่งแล้ว ยุคซึ่งไม่ใช่เปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนความคิด แต่โลกทั้งโลกเปลี่ยนไปหมด

5 ปัจจัยก้าวสู่โลกศก-การเมืองใหม่

ฉะนั้น เมื่อภาครัฐและเอกชนเห็นว่าต้องก้าวไปอย่างจริงจัง จึงต้องมีหลักการอยู่ 5 ประการสำคัญ ได้แก่ ประการที่ 1 ดิจิทัลที่กำลังจะเกิดจากการทุ่มงบประมาณมหาศาลจะต้องเป็นสิ่งที่เรียกว่า Digital for all เป็นดิจิทัลที่ไปสู่ทุกคนในประเทศนี้ให้ได้

โดยเฉพาะภาคส่วนที่ด้อยโอกาส เช่น ภาคเกษตรกรรม ยากจนข้นแค้น เพราะที่ผ่านมาไม่มีการเปลี่ยนแปลง จึงต้องการขายฝัน ว่า ต้องสร้าง สมาร์ทฟาร์มเมอร์หนุ่มสาวที่กล้าใช้เทคโนโลยีเพราะเป็นผู้นำในการแพร่เทคโนโลยีไปสู่หมู่บ้าน เปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนโครงสร้างการผลิต เปลี่ยนโครงสร้างการค้าขาย ค้าขายกับโลกได้ ในอนาคตอยากเห็นความร่วมมือระหว่างบริษัทเอกชนในการทำสิ่งเหล่านี้ให้มีพลังเพื่อทำให้ Digital for all เกิดขึ้นให้จงได้

เปลี่ยนเครื่องยนต์ศก.จากอะนาล็อคสู่ดิจิทัล

ประการที่ 2 เป็นความฝัน ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เป็น Digital driven economy เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนสู่อนาคตข้างหน้า การทำนายว่า จีดีพีปี 2561 จะเติบโตเพียง 4.1 % นั้น เป็นเครื่องยนต์อะนาลอค การเติบโตทำนายได้เป็นเส้นตรง แต่เมื่อไหร่ที่สามารถเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตไปสู่ดิจิทัล การเติบโตจะเป็นลักษณะยกกำลัง

หากสามารถใช้เครื่องมือดิจิทัลในการทำแพลตฟอร์มใหม่ Business Modelใหม่ เกิดเป็นสตาร์ทอัพขึ้นมา สามารถทำสิ่งที่มีอยู่ในขณะนี้ค้าขายออนไลน์กับทุกแห่งในโลกได้ สามารถนำดิจิทัลเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่ม Productivity สร้างนวัตกรรมใหม่ เพิ่ม Value สินค้า การเติบโตจะขยายตัวเป็นทวีคูณ จีดีพีจะไม่ใช่เติบโตเพียง 4.1 % แน่นอน

ฉะนั้น การจะเป็น Digital driverผู้ประกอบการ SMEs คือ กำลังหลัก ไม่ใช่บริษัทใหญ่เพียงไม่กี่บริษัท เพราะผู้ประกอบการ SMEs มีเป็นล้านราย สตาร์ทอัพเป็นสิ่งที่ต้องสร้างขึ้นเพราะเป็นต้นกล้าซึ่งจะเป็นต้นไม้ใหญ่ในอนาคต โดยการเปลี่ยนผ่านจากอะนาลอคไปสู่ดิจิทัลให้ได้

สร้าง “นักรบธุรกิจ” ใหม่

ประการที่ 3 คือ การสร้าง New Warriorหรือ นักรบเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย เพื่อยืนหยัดเป็นนายของตัวเอง มีการค้าเป็นของตัวเอง ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนแปลงไปทั้งหมด พนันได้เลยว่าช่วงเวลาไม่ถึง 2 ปี จะได้เห็นประเทศไทยมีธุรกิจปล่อยสินเชื่อและให้บริการทางการเงินจำนวนมาก

เปิดข้อมูล Big data ต่อยอดธุรกิจ

ประการที่ 4 ที่เป็นประการสำคัญ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ อนาคตข้างหน้าจะต้องมี Digital Leadership Government สำคัญมาก หน้าที่ของรัฐบาล คือ สร้าง Infrastructure ที่ทำให้เป็นตัวเกาะเกี่ยวของทุกอย่างและสร้าง ecosystem หรือสิ่งแวดล้อมด้านดิจิทัลเพื่อให้เกิดการรวมพลังได้ โดยผลักให้เอกชนนำไปและรัฐบาลส่งเสริม

รัฐบาลรู้ ว่า เอกชนต้องการ Big data มีข้อมูล ซื้อขายข้อมูล ผู้ผลิตสามารถรู้ดีมานด์ เกิดตลาดขยายตัว ผู้บริโภคสามารถดีมานด์ในสิ่งที่ต้องการได้ เกิดเป็น Consumption ที่ขยายตัว มูลค่าของข้อมูลสามารถสร้าง Value ทางธุรกิจได้ ฉะนั้นในอนาคตจะเกิดการซื้อขายข้อมูลกันระหว่างบริษัทเพื่อนำข้อมูลมาต่อยอดทางธุรกิจในอนาคต ขณะเดียวกัน Data ที่ใหญ่ที่สุด ไม่ได้อยู่ที่เอกชน อยู่ที่รัฐบาล นายกรัฐมนตรีประกาศแล้วว่า ทุกแห่งจะต้องเซตระบบ Big data ขึ้นมาและต้องเป็น Open access เปิดข้อมูลเพื่อให้เอกชนใช้ประโยชน์ในการสร้างธุรกิจ

 ปิ๊งไอเดียโมเดลประชาธิปไตยใหม่

ประการสุดท้าย สำคัญที่สุด Digital Politic แต่เดิมให้คนมาโหวตยากเย็นแสนเข็ญ แต่เรารู้ว่า ดิจิทัลจะนำไปสู่ Engagements คนจะเข้ามามีส่วนร่วม เข้ามาพูดคุย เข้ามาแชร์ไอเดีย เข้ามาเสนอ สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การตื่นตัวของการมีส่วนร่วมเข้ามาบริหารประเทศ เมื่อใดก็ตามที่คนสามารถสื่อโดยตรงกับรัฐบาลนอกเหนือไปจากการสื่อผ่านผู้แทน ฯ (ส.ส.) รัฐบาลจะรู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ถูกหรือผิด อะไรที่คนต้องการและไม่ต้องการ เพราะฉะนั้นการมีโอกาสได้ Engage ได้รับฟัง ทำให้เกิดปฏิกิริยา 2 ซีก ระหว่างรัฐกับประชาชน เพราะฉะนั้นเมื่อกติกาเป็นแบบนี้ Model Democracy ย่อมไม่เหมือนเดิมต่อไปแน่นอน

Digital Politic และ Model Democracy ต้อง On the right track ถึงจะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้

ประกาศวางมือ เปิดทางคนรุ่นใหม่

ท้ายที่สุด ใน 3 ปีนี้สำคัญ ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐมนตรีหรือรัฐบาลก็แล้วแต่ ต้องเปลี่ยนผ่านมันให้ได้เพราะมีเวลาอีกไม่เกิน 3 ปี นิเคอิของญี่ปุ่น ฉบับล่าสุด วิเคราะห์ว่า ประเทศไทยต้องก้าวไปข้างหน้าให้ได้เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต 3-4 ปีแล้ว ต้องเปลี่ยนมัน เป็นจังหวะที่ดีที่ต้องเปลี่ยนมันให้ได้

ในอนาคตข้างหน้า อยากให้คนรุ่นใหม่ สามารถเป็นนักธุรกิจ เป็นสตาร์ทอัพที่คิดสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ ใครพร้อมเข้าสู่การเมืองเลย ถึงจะเป็น smart voice ในเมื่อเรามี smart people แต่ถ้ามัวทำมาหากินแล้วประเทศจะอยู่ตรงไหน