ม.เกษตร หนุนรถไฟฟ้า-ชี้หมดยุคสมัยสร้างทางด่วนแล้ว ต้องลดปริมาณรถยนต์

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดการแถลงข่าวด่วนพิเศษ “ฟันธง!!! ไม่ขอสนับสนุนทางด่วนทุกรูปแบบ” ที่ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี, ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่าย บริหารกิจการภายใน ,รศ.ดร. ศรปราชญ์ ธไนศวรรยางกูร รักษาการแทนรอง อธิการบดีฝ่ายวางแผน และนายสุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งเเวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมแถลงการ

ดร.จงรัก กล่าวว่า ภาพรวมแล้วม.เกษตรฯ สนับสนุนโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล เราไม่ได้เป็นคนค้านรัฐบาลแต่เราพร้อมสนับสนุนถ้าโครงการเหล่านั้นเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และเป็นประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยไม่มีข้อกังขา ดังนั้นความเห็นที่เป็นเชิงวิชาการที่แตกต่างออกไปบ้างก็ด้วยความปราถนาดีที่อยากจะให้เราพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

“1.ประเทศเปลี่ยนไปแล้ว ก็ต้องการคิดการเปลี่ยนแปลง บริบททางด่วนอาจจะเป็นเรื่องที่เหมาะสม ใน 30 – 40 ปีที่แล้ว นี้เราประกาศตัวเองเป็นไทยแลนด์ 4.0 ก็คิดใหม่ทำใหม่ได้ไหมโดยการสร้างระบบแนวทางใหม่ใช้การส่งเสริมแบบใหม่โดยการสร้างแรงจูงใจให้คนลดการใช้รถแล้วหันมาใช้บริการสาธารณะ 2.ม.เกษตรฯ และประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียเห็นว่าเราสนับสนุนรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ตรงนี้มีความชัดเจนแม้ว่าโดยส่วนตัว ม.เกษตรฯ จริงๆเราเห็นว่ารถไฟฟ้ามันจะสูงมากเกินไปเพราะมันจะต้องอยู่บนดอนเมืองโทรเวย์แล้วรถไฟฟ้า 2 สายเราอยากให้มุดลงดินในระยะทาง 4-5 กิโลเมตรเพื่อไม่ให้มีทัศนะอุจาด เพื่อลดต้นทุนเราก็เข้าใจ ยินดีที่จะสนับสนุนให้มีขนส่งมวลชนรถไฟฟ้า 3. ม.เกษตรฯไม่สนับสนุนระบบทางด่วนเส้นหมี่หรือเส้นไหนที่ผ่านเข้ามาในเมืองอีกแล้ว ส่วนที่มีอยู่แล้วก็บริหารจัดการให้ดี เราเห็นว่าหมดทุกทางด่วนแล้ว หรือว่าควรจะคิดรูปแบบใหม่ใหม่โดยเฉพาะเรื่องของการขนส่งมวลชนและการจราจรในรูปแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็น รถจักรยานหรือการเดินเท้าและรถเมล์สาธารณะ เป็นต้น 4.ม.เกษตรฯว่าข้อมูลทางวิชาการที่แท้จริงควรจะต้องได้รับการพัฒนาให้มันเป็นรูปธรรมชัดเจนไม่ใช่แค่คิดว่าใช้ตอหม้อที่มีอยู่ ตอหม้อนี้ลงทุนไปแล้วก็จริงไม่ใช่ก็คือไม่ใช่เพราะถ้ามันไม่ใช่แล้วยังฝืนใช้ช ก็ไม่ค่อยเห็นด้วย ควรจะมีการศึกษาทางวิชาการไม่ใช่แค่จะใช้ตอหม้อ หมดนี้เป็นสี่ข้อหลักที่มหาลัยให้ความคิดเห็น”

นายจงรัก กล่าวอีกว่า ส่วนการต่อสู้ของมหาวิทยาลัยก็เป็นในเชิงวิชาการ ด้วยการนำเสนอข้อมูลต่อไป และย้ำว่า ไม่ขอสนับสนุนทางด่วนทุกรูปแบบ พร้อมเตรียมยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเเละหัวหน้าคณะรักษาความสงบเเห่งชาติเเละรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ยกเลิกโครงการระบบทางด่วนขั้นที่3 สายเหนือ เเละเสนอให้เห็นควรพิจารณาโครงการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าแทน เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนเเละการขนส่งควรผ่านระบบรางอย่างเดียว เพื่อลดปัญหามลพิษด้วย โดยก่อนหน้านี้เคยส่งหนังสือเเล้ว เเต่ไม่ได้รับคำตอบใดๆเเละยังคงมีการดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไป

ด้านนายสุรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพเผชิญปัญหามลภาวะทางอากาศ มีฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจได้ ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดที่อาจรุนเเรงถึงขั้นเสียชีวิต เเละอาจส่งถึงผลประกอบการทางเศรษฐกิจให้ตกต่ำ ฝุ่นละอองนี้สาเหตุหลักมาจากการใช้รถยนต์เเละการก่อสร้างต่างๆ ซึ่งจะเเก้ปัญหานี้ได้ โดยการลดใช้รถยนต์ ดังนั้นการก่อสร้างทางด่วนบนเเนวสายทางนี้ จะเป็นการดึงรถยนต์จำนวนมากออกไปจากเขตชุมชน จึงสนับสนุนการสร้างรถไฟฟ้ามากกว่าการสร้างทางด่วน ที่จะเพิ่มมลภาวะทางอากาศ เรามีตัวอย่างในหลายประเทศอย่างประเทศสเปนเเละเกาหลีใต้ ทุบทางด่วนทิ้งเพื่อเเก้ปัญหามลพิษที่ตามมาจำนวนมากจากการสร้างทางด่วน

รศ.ดร. ศรปราชญ์ กล่าวว่า ม.เกษตรฯ ให้ความร่วมมือในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลเพื่อการพัฒนาประเทศมาโดยตลอด เราตระหนักว่าสิ่งใดที่เป็รประโยชน์ต่อสังคม มหาวิทยาลัยก็พร้อมที่จะสนับสนุนทุกโครงการ ในอดีต มหาวิทยาลัยให้พื้นที่ 40 ไร่เพื่อขยาย ถนนวิภาวดี ต่อมาก็ให้พื้นที่ในการขยายถนนวามวงศ์วาน เป็นต้น เพราะฉะนั้นเราพร้อมสนับสนุน สำหรับโครงการที่เกิดขึ้น มหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาทางวิชาการ ตลอดเส้นทางว่าโครงการนี้จะส่งผลอย่างไร กระทบคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม สังคม ความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินอย่างไร เป็นที่มาของรายงานซึ่งเป็นข้อมูลทางวิชาการ สามารถตรวจสอบได้

“ข้อมูลนี้เป็นที่มาของการสรุปเสนอรัฐบาลว่า ม.เกษตรฯ ไม่สนับสนุนการก่อสร้างทางด่วนผ่านชุมชน เพราะจะก่อให้เกิดผลกระทบและมลภาวะ ตลอดจนความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นข้อมูลที่ผ่านการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนรอบข้าง”

“เราพยายามสื่อสารให้เห็นว่าถ้าไม่วิ่งขึ้นข้างบน ก็วิ่งลงข้างล่างด้วยการขุดอุโมงค์ได้หรือไม่ แต่ก็ได้รับการชี้เเจงว่าจะติดในส่วนของสาธารณูปโภค ต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 3 เท่า เราเสนอทางเลี่ยงอื่น เขาก็บอกว่าต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มอีก ขณะเดียวกันก็บอกว่าเรื่องนี้ต้องเดินหน้า มหาลัยจึงทำข้อมูลยื่นกับผู้บริหาร ไม่ว่าจะเป็นคณะรัฐมนตรี กระทรวงคมนาคม”

รศ.ดร. ศรปราชญ์ กล่าวอีกว่า โครงการทั้งหลายหากเป็นประโยชน์ มหาวิทยาลัยและชุมชนรอบข้างเราเห็นประโยชน์ส่วนรวม อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราทักท้วงและเสนอแนะไปผลจะเป็นประการใดก็พร้อมจะน้อมรับการตัดสินใจ แต่เรามาให้ข้อมูลอีกด้านเพื่อให้ท่านได้พิจารณา