ศาลปค.แจงมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวป้าทุบรถ ให้ผู้ว่าฯกทม.-เขตประเวศ ดูแลห้ามตลาดสร้างความรำคาญ

ศาลปค.แจงมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ผู้ว่าฯกทม.-เขตประเวศ ดูแลห้ามตลาดสร้างความรำคาญ

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ นายวชิระ ชอบแต่ง รองโฆษกศาลปกครอง  กล่าวชี้แจงคดี น.ส.บุญศรี แสงหยกตระการ และพวกรวม 4 คนซึ่งพักอาศัยในหมู่บ้านเสรีวิลล่า ย่านสวนหลวง ร.9 ยื่นฟ้องผู้ว่าฯ กทม. , ผอ.เขตประเวศ , สำนักงานเขตประเวศ และกรุงเทพมหานคร ต่อศาลปกครองกลาง เรื่องละเลยต่อหน้าที่ปล่อยให้มีการดำเนินกิจการตลาดนัดข้างบ้านจนสร้างความเดือดร้อนรำคาญ ซึ่งภายหลังได้มีเหตุการณ์ การทุบรถกระบะที่มาจอดบริเวณหน้าบ้านว่า คดีฟ้องร้องดังกล่าวปรากฏข้อมูลในคดีของศาลปกครองกลาง ที่ น.ส.บุญศรี กับพวกที่พักอาศัยในหมู่บ้านเสรีวิลล่า ร่วมกันยื่นฟ้องผู้ว่าฯ กทม. , เขตประเวศ และพวก รวม 2 สำนวน

สำนวนแรก ยื่นฟ้องเมื่อปี 2553 โดยครั้งแรกศาลปกครองกลาง ที่เป็นศาลปกครองชั้นต้นก็ได้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการคุ้มครองชั่วคราว และคำพิพากษาให้ผู้ว่าฯ กทม. และเขตประเวศ ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 , พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ดำเนินการใดๆ ในการจัดระเบียบตลาดให้เกิดความเรียบร้อย ไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญ แต่ขณะนั้นหน่วยงานรัฐผู้ถูกฟ้อง ก็ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด แล้วในปี 2556 ศาลปกครองสูงสุด จึงได้มีคำพิพากษายกย้อนคำตัดสินของศาลปกครองชั้นต้นใหม่ ด้วยการให้ศาลปกครองชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีใหม่โดยเรียกเจ้าของตลาดนัด 2 แห่ง ที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อาจจะต้องถูกบังคับตามคำสั่ง ให้มาเข้าร่วมในคดีด้วยเพื่อจะได้ข้อเท็จจริงตามฟ้องได้ครบถ้วน ดังนั้นคดีนี้จึงยังไม่ถือว่ามีคำสั่งหรือคำพิพากษาใดๆ โดยคดีเริ่มกระบวนการพิจารณาใหม่มาตั้งแต่ ปี 2556 และจนถึงปัจจุบันนี้คดียังไม่มีคำพิพากษาเพราะยังอยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนชั้นพิจารณา

นายวชิระ กล่าวต่อว่าส่วนคดีที่ 2 นั้น น.ส.บุญศรี กับพวก ก็ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางในปี 2555 เนื่องจากขณะนั้นมีตลาดนัดสร้างเพิ่มมาอีก ซึ่งขณะนั้นศาลได้เปิดแผนกคดีสิ่งแวดล้อมแล้วจึงอยู่ในกลุ่มคดีสิ่งแวดล้อม โดยผู้ฟ้องก็ขอให้ศาลกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นก็มีคำสั่งให้ผู้ว่าฯ กทม. และเขตประเวศ ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.สาธารณสุขฯ ดูแลจัดการไม่ให้ผู้ใดสร้างความเดือดร้อนรำคาญกับผู้ฟ้องไว้เช่นกัน ส่วนเนื้อหาคดีหลักนั้นก็ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล อย่างไรก็ตามปัจจุบันเนื้อหาคดีหลักทั้ง 2 สำนวน อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลางที่เป็นศาลชั้นต้น โดยการแสวงหาข้อเท็จจริงมีความคืบหน้าไปมาก แต่คู่กรณียังยื่นข้อโต้แย้งประเด็นยิบย่อยเล็กๆน้อยๆ อีกพอสมควร จึงทำให้ข้อเท็จจริงคดียังไม่นิ่งพอที่ศาลจะมีคำพิพากษา ดังนั้นก็ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง แต่ขณะนั้นถือว่า น.ส.บุญศรี กับพวก ได้รับความคุ้มครองตามคำสั่งวิธีการชั่วคราวของศาลปกครองชั้นต้นในสำนวนที่ 2 อยู่ ที่การดำเนินกิจการตลาดต้องไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญซึ่งศาลสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐดูแล ส่วนกิจการตลาดก็ยังดำเนินไปได้เพราะศาลยังไม่มีคำสั่งทางคดีว่าการอนุญาตให้สร้างตลาดนั้นชอบ หรือไม่ชอบเพียงใด

 

“ประเด็นปัญหาขณะนั้นทางออก ก็คือ เมื่อ น.ส.บุญศรี กับพวก ผู้ฟ้อง เห็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่ศาลสั่งตามวิธีการคุ้มครองชั่วคราว ไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้ครบถ้วน หรือละเลย ย่อหย่อน ล่าช้า ก็สมารถที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายคดีปกครอง ยื่นคำร้องเข้ามาใหม่ในการขอให้ศาลบังคับวิธีการคุ้มครองชั่วคราว ตามกฎหมายใหม่ที่ศาลปกครองได้แก้ไขเกี่ยวกับอำนาจของศาลในการไต่สวนเพื่อบังคับคดีที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งหากยื่นคำร้องเข้ามาศาลก็จะได้ใช้อำนาจที่มีตามกฎหมายในการเรียกหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบและเกี่ยวกับเรื่องนี้มาไต่สวนว่าดำเนินการครบถ้วน ตามที่ศาลสั่งไว้ไม่ อย่างไร หากละเลยก็ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งตักเตือน หรือปรับหน่วยงานรัฐที่ละเลยได้ หรือการแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาลงโทษวินัยตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยเรื่องนี้จะต้องคู่กรณีที่ยื่นเข้ามาให้ศาลพิจารณา มิใช่เรื่องที่ศาลจะหยิบยกมาเอง”รองโฆษกศาลปกครองกล่าว

นายวชิระ รองโฆษกศาลปกครอง กล่าวอีกว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้ในแง่ของสังคม คงทำให้ได้เรียนรู้ถึงการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน การอยู่ร่วมกันโดยไม่ละเมิดสิทธิที่แต่ละฝ่ายมี ขณะที่การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ และเจ้าหน้าที่ ก็ต้องยึดหลักที่ถูกต้องตามกฎหมายบัญญัติไว้เป็นขั้นตอนให้ครบถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดเป็นข้อพิพาทละเมิดสิทธิต่อกันในภายหลัง อย่างไรก็ดีลักษณะของการฟ้องคดีเกี่ยวกับการควบคุมอาคาร และการสร้างความเดือดร้อนรำคาญนั้น ก็มีไม่น้อยในศาลปกครอง ซึ่งศาลก็ต้องพิจารณาข้อมูลรอบด้านให้ครบถ้วน เพื่อคุ้มครองสิทธิทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม