ประชาธิปไตยไทยที่ถดถอย: สมรภูมิการเมืองไทยสู่ความขัดแย้งใหม่ที่ยังไม่จบ | ประจักษ์ ก้องกีรติ

4 เมษายน 2568 ที่บูธ J02 ในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ
บูธสำนักพิมพ์มติชนจัดกิจกรรม FRIENDLY TALK ที่ J02 สำนักพิมพ์มติชนเชิญชวนผู้สนใจร่วม ในหัวข้อ “ประชาธิปไตยไทยที่ถดถอย: สมรภูมิการเมืองไทยสู่ความขัดแย้งใหม่ที่ยังไม่จบ” พูดคุยโดย รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติอาจารย์ประจำ สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมดำเนินรายการโดย กษิดิศ อนันทนาธร


กิจกรรมนี้จะมีการพูดคุยเกี่ยวกับผลงานหนังสือเล่มใหม่ของ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ที่มีชื่อว่า “ประชาธิปไตยไทยที่ถดถอย: สมรภูมิการเมืองไทยสู่ความขัดแย้งใหม่ที่ยังไม่จบ” ซึ่งมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ Thailand Contestation, Polarization, and Democratic Regression
โดยอาจารย์ ประจักษ์ ก้องกีรติ เล่าว่าต้นทางของหนังสือก่อนที่จะมาเป็น ประชาธิปไตยไทยที่ถดถอย: สมรภูมิการเมืองไทยสู่ความขัดแย้งใหม่ที่ยังไม่จบ ได้รับการติดต่อจากสำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ให้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการเมืองไทยในซีรีส์การเมืองของแต่ละประเทศ ซึ่งได้รับโจทย์ให้เขียนเนื้อหาที่กระชับและเข้าใจง่ายในขนาดไม่เกิน 70-75 หน้า ผู้อ่านทั่วไปสามารถเข้าใจได้ แม้จะไม่เคยรู้จักประเทศนั้นๆ มาก่อน ซึ่งกระบวนการทำเล่มเล็กๆแค่นี้ทำอยู่ใช้เวลา 3 ปี
กษิดิศ อนันทนาธร ถามว่า หลายคนอาจจะคิดว่าการเขียนหนังสือเล่มบางๆ นั้นอาจจะง่ายกว่าการเขียนเล่มหนาๆ แต่จริงๆ แล้วการเขียนให้สั้น กระชับ และยังคงรักษาความสำคัญของเนื้อหาพร้อมกับความเป็นวิชาการนั้นไม่ง่ายเลย อยากทราบว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้อาจารย์สามารถใช้เวลา 3 ปีในการเขียนและผ่านอุปสรรคต่างๆ มาได้ และอาจารย์มีวิธีการนำเสนอเรื่องราวของการเมืองไทยในช่วง 90 ปีอย่างไรให้กระชับ และเข้าใจได้ง่ายสำหรับคนทั่วไป?
อาจารย์ ประจักษ์ ตอบบว่า หากจะทำความเข้าใจการเมืองไทยในปัจจุบัน จำเป็นต้องมองย้อนกลับไปในอดีต เพราะการเมืองไทยมีความซับซ้อน เข้าใจยาก ไม่ใช่แค่สำหรับชาวต่างชาติ แม้แต่คนไทยเองก็ยังรู้สึกเช่นนั้น การเมืองไทยเต็มไปด้วยเหตุการณ์วุ่นวาย การเปลี่ยนขั้วอำนาจ และฉากหลังอีกมาก โดยเฉพาะจุดเปลี่ยนสำคัญคือ การรัฐประหารปี 2490 และ การรัฐประหารปี 2500 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการที่กองทัพเข้ามามีบทบาทและครอบงำการเมืองไทยอย่างแท้จริง ทั้งนี้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยังถือเป็นบุคคลที่สร้าง “มรดก” ทางการเมืองที่ยังส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เช่น การที่กองทัพกลายเป็นรัฐซ้อนรัฐ การควบคุมสังคมผ่านปฏิบัติการ IO การวางรากฐานเครือข่ายชนชั้นนำ การนำไทยเข้าสู่บริบทของสงครามเย็น จึงเลือกเริ่มต้นเรื่องราวจากช่วงเวลาของจอมพลสฤษดิ์ และลากยาวมาถึงปัจจุบัน
กษิดิศ ถามต่อว่าจากที่อาจารย์อธิบายมา ดูเหมือนว่าอาจารย์ให้ความสำคัญกับบทบาทของกองทัพไทยในฐานะสถาบันทางการเมืองหลัก ที่มีอิทธิพลต่อโฉมหน้าการเมืองไทยอย่างมาก และ โดยเฉพาะหลังยุคจอมพลสฤษดิ์ มากกว่าช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ที่ทำให้กองทัพมีบทบาทในการเมืองไทย
อาจารย์ ประจักษ์ ตอบบว่าเป็นความเข้าใจผิดในสังคมไทยอย่างมากเกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 ที่เป็นความพยายามของนักวิชาการกลุ่มอนุรักษ์นิยมหรือรัฐไทยที่พยายามด้อยค่า การปฏิวัติ 2475 ว่าเป็นเพียงเป็นแค่การชิงสุกก่อนหามหรือเป็นการรัฐประหารครั้งหนึ่งเท่านั้นและสุดท้ายเป็นเรื่องของการมายึดอำนาจของกองทัพของทหารเข้ามาสู่การเมืองไทย ซึ่งจริงแล้วไม่ใช่แต่กลับเป็นว่า 2475 ยาวมาถึง 2490 ยุคนั้นเป็นการเมืองยุคคณะราษฎรมีอำนาจบริหารบ้านเมืองประกอบด้วยคนหลายกลุ่มและโครงสร้างทางการเมืองเป็นประชาธิปไตยที่ยังยึดและรัฐธรรมนูญหรือการเมืองในรัฐสภามีการเลือกตั้งมีการโต้เถียงถกเถียงประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ
ทั้งนี้หนังสือเล่มนี้ใช้กรอบวิเคราะห์เชิง เศรษฐศาสตร์การเมือง โดยให้น้ำหนักกับปัจจัยทางเศรษฐกิจที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในแต่ละช่วงสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย เพราะหากเราย้อนดูทุกจุดเปลี่ยนใหญ่ในการเมืองไทย มักจะพบว่ามีวิกฤตเศรษฐกิจระดับใหญ่เกิดขึ้นควบคู่กันเสมอ
เช่น การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เกิดขึ้นหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่จาก Great Depression ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก หรือในช่วงปี 2514 ก็มีวิกฤตราคาน้ำมันที่สั่นคลอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะในช่วง วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งเป็นหนึ่งในวิกฤตที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เศรษฐกิจแทบจะล้มละลาย คนตกงานเป็นจำนวนมาก และเกิดความรู้สึก “หมดหวัง” อย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชน อาคารมากมายกลายเป็นสิ่งปลูกสร้างร้าง เช่น ตึกที่สาทรซึ่งยังสร้างไม่เสร็จจนทุกวันนี้ ถือเป็นอนุสรณ์ของความพังทลายครั้งนั้น
ในช่วงเวลาแห่งความสิ้นหวังเช่นนี้ คนจำนวนมากเริ่มแสวงหาทางเลือกใหม่ทางการเมือง เพราะหมดศรัทธาต่อพรรคการเมืองเดิมๆ ที่ถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของความล้มเหลว
บริบทนี้เองจึงเปิดทางให้ พรรคไทยรักไทย และ คุณทักษิณ ชินวัตร ก้าวขึ้นมาในฐานะ “ความหวังใหม่” พร้อมนโยบายที่ชัดเจนและแตกต่าง อีกทั้งกติกาทางการเมืองใหม่จากรัฐธรรมนูญปี 2540 เช่น ระบบบัญชีรายชื่อ (Party List) ยังเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจนสามารถเติบโตได้
ทั้งหมดนี้ทำให้พรรคไทยรักไทยกลายเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ ที่ไม่เพียงแต่ชนะการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยไปอย่างถาวร และเป็นจุดเริ่มต้นของการเมืองแบบแบ่งขั้วระหว่าง “เหลือง-แดง” ที่ยังคงมีอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน
การแบ่งขั้วทางการเมือง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นลักษณะเฉพาะของการเมืองไทยในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา — ตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างสีเหลือง-สีแดง จนมาถึงสีส้มในปัจจุบัน ในงานของอาจารย์ การแบ่งขั้วนี้ถูกนำเสนอว่าเป็นประเด็นสำคัญที่สะท้อนถึงสภาพการเมืองไทยอย่างไรบ้าง? แล้วเราควรมองการแบ่งขั้วนี้ในฐานะปัญหาที่ต้องแก้ไข หรือเป็นสภาพความจริงที่อาจต้องอยู่กับมันต่อไป? กษิดิศ ถาม
ซึ่งอาจารย์ ประจักษ์ชี้ให้ว่า สถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบันยังไม่พ้นจากปัญหาเรื้อรังที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเรื่องการรัฐประหารและการแบ่งขั้วทางการเมือง ซึ่งเป็นประเด็นที่สร้างความสนใจให้กับนักวิชาการต่างชาติจำนวนมาก เพราะในขณะที่ประเทศไทยมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาค่อนข้างสูง แต่กลับยังคงวนเวียนอยู่กับวงจรรัฐประหาร คล้ายประเทศที่ยังไม่พัฒนาเต็มที่
หนึ่งในคำถามสำคัญที่หนังสือเล่มนี้พยายามตอบคือ “ทำไมประเทศอย่างไทยจึงยังคงติดกับดักของการรัฐประหารและความขัดแย้งที่แบ่งขั้วลึก?” โดยเฉพาะหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา เราเห็นชัดเจนถึงการแตกแยกระหว่างกลุ่มการเมืองที่มีลักษณะ “ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้” หรือที่ในทางวิชาการเรียกว่า Deep Polarization
ความขัดแยกเช่นนี้นำไปสู่การเมืองที่เป็นอัมพาต ไม่สามารถเดินหน้าได้ เพราะไม่มีฉันทามติร่วมในสังคม สุดท้ายก็มักจบลงด้วยการรัฐประหารซ้ำซาก เพราะกองทัพจะอ้างความจำเป็นในการเข้ามาแก้ปัญหา
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้มุ่งเสนอทางออกโดยตรง แต่พยายามอธิบายรากเหง้าของปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยวิเคราะห์หลายปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกแยก รวมถึงพฤติกรรมของนักการเมืองและกติกาทางการเมืองเองด้วย ไม่มีใครคนเดียวหรือฝั่งใดฝั่งเดียวหรือเหตุปัจจัยเดียวหรอกที่มาทำให้สังคมเราแบ่งแยกกันขั้วเราหรือขนาดนี้มันก็คือเป็นการบรรจบกันของหลายปัจจัยมาร่วมกัน


ช่วงท้าย กษิดิศ ถึงประเด็นประชาธิปไตยไทยจะมีปัญหาเยอะแยะไปหมดเหมือนจะรู้สึกมืดมนสิ้นหวังแต่การเมืองไทยก็ยังคงมีความหวังอยู่บทสุดท้ายที่อาจารย์ทิ้งท้ายว่าความสะดวกความถดถอยหรือว่าปัญหาของการเมืองไทยประชาธิปไตยไทยมันมีทั้งความสิ้นหวังและมีความหวังอยู่ความหมายของอาจารย์ก็ยังเป็นการเคลื่อนไหวต่อสู้อะไรแบบนี้อยู่ใช่ไหมครับ

อาจารย์ ประจักษ์ ยกประโยคท่อนสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ ว่า “ แม้ไม่อาจคาดเดาได้ว่าความชะงักงันทางการเมืองในปัจจุบันจะสิ้นสุดลงอย่างไรและเมื่อใดแต่เราสามารถสรุปได้จากบทวิเคราะห์ข้างต้นว่าระบอบการเมืองไทยยังคงเป็นพื้นที่ของการต่อสู้แข่งขันที่ดุเดือดการเมืองไทยไม่เคยหยุดนิ่งและก่อให้เกิดทั้งความสิ้นหวังและความหวังควบคู่กันไป” อาจารย์ ประจักษ์ กล่าวต่อว่า การเมืองไทยก็เหมือนเหรียญสองด้าน ด้านหนึ่งดูแล้วชวนสิ้นหวัง—เต็มไปด้วยรัฐประหารและการแทรกแซงจากชนชั้นนำ หากดูจากภาพปกหนังสือ ประชาธิปไตยไทยที่ถดถอย: สมรภูมิการเมืองไทยสู่ความขัดแย้งใหม่ที่ยังไม่จบคล้ายภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่เหมือนถูกมือกดทับไว้ แต่จะเห็นว่าสิ่งที่ทำให้อนุสาวรีย์ยังตั้งอยู่ แม้จะเอนเอียง ก็เพราะมีประชาชนคอยค้ำยันอยู่ใต้ฐานทุกครั้งที่บ้านเมืองเดินมาถึงจุดวิกฤต ประชาชนก็จะไม่ยอมให้ทุกอย่างพังทลาย พวกเขาจะลุกขึ้นมา และนี่แหละคือด้านที่ยังเต็มไปด้วยความหวัง ในสายตานักวิชาการต่างชาติ หลายคนมองว่าการเมืองไทยยังมีสัญญาณชีพที่เข้มแข็ง เมื่อเทียบกับหลายประเทศที่ขบวนการประชาชนเงียบเหงา ฝ่ายก้าวหน้าถดถอย แต่ในไทย เรายังเห็นพลังของเยาวชน เห็นการลุกขึ้นของคนรุ่นใหม่ เห็นความพยายามต่อสู้ แม้จะยังไม่ได้เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ และยังมีอุปสรรคจากการแทรกแซงอยู่มาก แต่การเมืองไทยก็ยังไม่ถึงขั้นถูกครอบงำเบ็ดเสร็จ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเรายังไม่ควรหมดหวัง