นักการเมือง-นักวิชาการ ชี้หมดเงื่อนไข-ไร้ชอบธรรม เลื่อนเลือกตั้งอีก-ป่วนแน่

หมายเหตุ ความคิดเห็นของนักการเมืองและนักวิชาการและกรณีนายวิวรรธนไชย ณ กาฬสินธุ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย (ทรท.) วิเคราะห์ถึงเหตุและปัจจัยที่จะทำให้โรดแมปการเมืองเลือกตั้งของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จากเดิมสิ้นปี 2561 หรือต้นปี 2562 เลื่อนไปเป็นปี 2563


พนัส ทัศนียานนท์

อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การเลือกตั้งจะเกิดเมื่อไหร่ขึ้นอยู่กับสถานะของ คสช. ตอนนี้ส่วนใหญ่เข้าใจกันว่าอยู่ในช่วง “ขาลง” และรู้สึกจะลงไปเรื่อยๆ โอกาสที่จะกลับมาผงาดเหมือนตอนรัฐประหารใหม่ๆ คงไม่มี แต่เขามุ่งหวังที่จะสืบทอดอำนาจ นี่ก็เป็นที่รู้กัน คสช.เองก็ไมได้ปฏิเสธอะไร เพราฉะนั้นขึ้นอยู่ที่ว่าแผนการสืบทอดอำนาจของเขาทำได้สำเร็จแค่ไหน คสช.ก็ยอมรับว่าถึงอย่างไรก็หนีไม่พ้นต้องเลือกตั้ง

ด้วยเหตุนี้แผนการสืบทอดอำนาจของ คสช.คือการลงมาเล่นการเมือง ถ้ามั่นใจเมื่อไหร่ว่าชนะ จึงจะเลือกตั้ง ตรงนี้อยู่ที่การประเมินของเขา ซึ่งคงมีการทำโพลถี่ยิบ เท่าที่รู้ก็ทำโพลตลอดเวลา อีกทั้งพยายามเข้าไปดูด ส.ส.จากพรรคต่างๆ เพื่อเตรียมการ โดยอาจมีพรรคของเขาเอง หรือพรรคแนวร่วม พรรคพันธมิตรอีกหลายพรรค

ส่วนตัวเชื่อว่า คสช.ดำเนินการอยู่ ไม่เช่นนั้นคงไม่ลงพื้นที่บ่อยขนาดนั้น มีการทุ่มงบประมาณไปพอสมควร เอาโครงการนั้น โครงการนี้ไปแจก ทางฝ่ายการเมืองเองก็ติดตามดูว่า คสช. โดยเฉพาะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.ทำอยู่นั้นไปได้ถึงไหน อย่างไร ยิ่งในช่วงที่สถานะทางการเมืองง่อนแง่นไปเรื่อยๆ จะแข็งขืนไม่ให้มีการเลือกตั้งโดยอยู่ไปเรื่อยๆ ถึงปี 2562-2563 เชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะกระแสเรียกร้องการเลือกตั้งแรงขึ้นเรื่อยๆ นี่ก็เป็นตัวเร่งอีกตัวหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาด้วยว่าการเร่งมือในการสร้างฐานทางการเมืองของ คสช. ทำได้สำเร็จมากน้อยแค่ไหน คิดว่าตอนนี้เขาเองก็ประเมินอยู่ ถ้ามั่นใจว่าสืบทอดอำนาจได้ด้วยการเลือกตั้ง โดยสามารถกลับคืนมาได้ เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งทันที

แต่ถ้าให้ฟังธง ส่วนตัวเชื่อว่าทำไม่ได้ เนื่องจากเงื่อนไขค่อนข้างมีพลวัต อาจเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ ทั้งหลายมากกว่า

สำหรับความกดดันจากต่างชาติ มาจนถึง ณ เวลานี้ คิดว่า คสช.ไม่กลัวแล้ว อีกอย่างหนึ่งต่างชาติกดดันอย่างมากก็ทำได้แค่เท่าที่ทำกันมา ทำอะไรไม่ได้มากกว่านั้น ส่วนเศรษฐกิจมองว่า คสช.ค่อนข่างมั่นใจแล้วว่าตอนนี้ดีขึ้น เขาไม่กังวลแล้ว


ชำนาญ จันทร์เรือง

นักวิชาการอิสระ

ไม่ว่ารัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจหรือการเลือกตั้งก็ตาม ถ้าประชาชนไม่เอาและไม่ศรัทธา จะอยู่ไม่ได้ ผ่านมาเกือบ 4 ปีแล้วเป็นไปไม่ได้เลยที่จะยื้อ แล้วจะยื้อได้ยังไง รัฐธรรมนูญล็อกไว้หมดแล้ว จะยื้อโดยกฎหมายเป็นไปไม่ได้เลย การเมืองบนท้องถนนอาจคุมหรือสกัดไว้ แต่มีวิธีการเยอะแยะที่จะทำ ทางที่จะยื้อได้วิธีเดียวคือการรัฐประหารซ้ำ ถ้าเกิดรัฐประหารซ้ำการเมืองจะลงสู่ท้องถนน ขนาดแค่ยืด พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. 90 วัน กลุ่มต้านจากรุงเทพฯ ก็ไปเชียงใหม่ โคราชแล้ว

การยื้อโดยกฎหมายไม่มีทางเลย จริงอยู่ว่ามี มาตรา 44 เกิดขึ้นโดยรัฐธรรมนูญรับรอง แต่จะไปแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ จะไปใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นจะมีรัฐธรรมนูญไว้ทำไม

คนมี 3 ฝ่าย มีฝ่ายเห็นด้วย ฝ่ายไม่เห็นด้วย แต่คนที่อยู่กลางๆ เริ่มเอียงไปฝ่ายไม่เห็นด้วยแล้ว พอคนไม่ศรัทธามากๆ รัฐบาลอยู่ไม่ได้ ยิ่งจะอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร อย่าว่าแต่ปี 2563 เลย จะพ้นปีนี้หรือเปล่ายังไม่รู้เลย ถ้าภายในปีนี้ยังไม่มีกำหนดการเลือกตั้งแน่นอนบ้านเมืองจะปั่นป่วนแน่

อย่าลืมว่าทุกวันนี้ค้ำด้วยทหารประจำการ คสช.เป็นอดีตนายทหารทั้งนั้น นายทหารประจำการเขาก็เริ่มคุยกันว่าทำไมต้องไปค้ำให้ สู้เป็นเสียเองไม่ดีกว่าเหรอ อาจทำเองก็ได้ และอาจไม่ใช่คนนี้เพราะอีกไม่กี่วันก็เกษียณแล้ว สมัย รสช.(คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) เขาก็ให้คนอื่นทำ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ทำ แต่คนคุมอำนาจคือ พล.อ.สุจินดา คราประยูร

การเลื่อนเลือกตั้งออกไปอีก ไม่มีทางทำให้ คสช.ชนะเลือกตั้งขึ้นมา เพราะฝีมือก็เห็นกันอยู่ ทหารไม่ได้รู้ทุกเรื่อง ไม่ได้ถูกฝึกมาทางนี้ จะหาแบบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ สมัยก่อน ที่เลือกใช้คน รู้จักคน จากฉายา “นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา” สมัย พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก มาออกทีวีคืนวันลอยกระทง เช้ามาเขาก็ปลดเลย เตะไปเป็น ผบ.ทสส. ตอนนี้ขนาดนาฬิกา 25 เรือน ยังทำอะไรไมได้เลย พูดกลับไปมา ความน่าเชื่อถือหมดไปแล้ว ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เลื่อนเลือกตั้งเป็นชายสามโบสถ์เลย

การมองว่าจะรอให้อีอีซี (โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก) สำเร็จ และเศรษฐกิจดีขึ้นเพื่อดึงคะแนนเสียงนั้น คนเราทำดีมา 10 ครั้ง ถ้าแย่ครั้งเดียวก็เสร็จเลย แล้วยิ่งอีอีซี ไม่ใช่ของง่ายๆ เปลี่ยนโครงสร้างทั้งหมด แค่ข้อหาขายชาติ ขายแผ่นดิน จากปกติที่ต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ได้ นี่ให้ถือได้แล้ว ไปกระทบการปกครองท้องถิ่น

ตอนนี้มหาดไทยยังไม่ได้ออกมาพูด อีอีซีไปยกเลิกเกือบทั้งหมด อำนาจจังหวัดแทรกไม่ได้เลย ยิ่งกว่าองค์การมหาชนอีก ตรวจสอบถ่วงดุลไม่ได้ ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน โครงการก็สำเร็จยาก อาจจะสวยหรูตอนแรก แต่อยู่ต่อไปไม่ง่ายหรอก

ส่วนการเมืองบนท้องถนนจริงอยู่ที่ว่าไม่เคยล้มรัฐบาลได้ ยกเว้นเกิดการยิงกัน แต่มีวิธีอื่น เดี๋ยวนี้การเมืองเปลี่ยนรูปแบบไปเยอะ จะคิดว่าเดินขบวนขับไล่อย่างเดียวไม่ได้ มันเป็นปัจจัยหนึ่ง แต่วิธีการมีเยอะแยะ การไม่เสียภาษี เปิดไฟหน้ารถ ไม่ให้ความร่วมมือต่างๆ ยิ่งเดี๋ยวนี้ยุคโซเชียลจะไปบล็อกคนไม่ได้แล้ว

ส่วนเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นจะเป็นสิ่งบั่นทอนรัฐบาลแน่นอน เขาเข้ามาบอกจะปราบคอร์รัปชั่น และจะปรองดองซึ่งไม่ได้ทำเลย คอร์รัปชั่นก็เห็นกรณีนาฬิกา ตอนลงประชามติก็พูดถึงรัฐธรรมนูญปราบโกงกัน ตอนนี้ไม่พูดเลย กรธ.กับ สนช.ก็ง้องแง้งกัน เผลอๆ จะเป็นเหตุให้ พ.ร.ป.คว่ำอีก ยิ่งไปกันใหญ่

ทางที่ดีที่สุดคือทำตามโรดแมป จะช้าจะเร็วเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วก็ลงให้มีที่ยืนในสังคม ถ้ายื้อโรดแมปหรือเบี้ยวมันจะไม่มีที่ยืนในสังคม เรื่องการไม่รักษาสัจจะไม่รักษาคำพูดของหลายคนที่มาจากการรัฐประหารนั้นจบไม่สวยสักคน


นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

เรื่องการเลื่อนเลือกตั้ง ผมมองถึงเรื่องความชอบธรรมของแต่ละฝ่ายที่มีอยู่มากกว่า เช่น ความชอบธรรมของฝ่ายมีอำนาจ หรือ คสช.ว่ามีความชอบธรรมอะไร ที่ยังไม่ทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นในตอนนี้ และผู้มีอำนาจมีความชอบธรรมอย่างไร ที่จะให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นในปี 2561 ปี 2562 หรือปี 2563 ก็ตาม

อีกฝ่ายคือ ผู้ที่อยากให้มีการเลือกตั้งเขาก็มีความชอบธรรม ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง คนไทยทุกคนคือหุ้นส่วนของประเทศไทย ทุกคนจึงมีสิทธิมีเสียงเท่ากัน ดังนั้นความชอบธรรมของฝ่ายที่อยากให้มีการเลือกตั้ง ที่พวกเขาออกมาเคลื่อนไหวในขณะนี้ จึงเป็นสิทธิที่ชอบธรรมในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย

ในเมื่อคนเหล่านี้เห็นว่าผู้มีอำนาจไม่ได้ทำตามอย่างที่พูดไว้ ทั้งที่เคยบอกว่าจะมีการเลือกตั้งปี 2561 ก็เลื่อนไปปี 2562 เคยออกมายืนยันกับชาวไทยและนานาชาติว่าทุกจะเป็นไปตามโรดแมป แต่พอถึงเวลากลับไม่เป็นไปตามที่พูดเอาไว้ เมื่อกลุ่มคนที่เขาอยากเลือกตั้งเห็นว่าเริ่มมีทิศทางว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น เขาก็ออกมาทวงถามเรื่องของความชอบธรรม เป็นสัญญาที่ผู้มีอำนาจเคยให้ไว้ และยังมีอีกหลายปัจจัยที่อาจจะทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปเป็นปี 2563-2564 หรือเมื่อใดไม่รู้ ก็เป็นได้

ถามว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะเป็นปัจจัยทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปได้หรือไม่ ผมว่าเป็นไปได้ แต่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใดนั้น ขึ้นอยู่กับความความพอใจของหัวหน้า คสช.เพียงผู้เดียว

ตอนนี้ประเทศไทยเหมือนกับว่ากำลังหาเหตุผลในสิ่งที่ไม่เป็นเหตุผล เพราะทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ ไม่เป็นไปตามที่กำหนด แต่ทุกอย่างกลับกลายเป็นว่าต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยของผู้มีอำนาจเพียงคนเดียว


สามารถ แก้วมีชัย

อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย

หากว่ากันตามกติกาจะต้องเลือกตั้งภายในปลายปี 2561 แล้ว แต่วันนี้มีความพยายามที่จะลากการเลือกตั้งให้ยาวออกไป จึงมีการเขียน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ขยับออกไปอีก 90 วัน ทำให้การเลือกตั้งข้ามไปปี 2562 แต่เมื่อดูเงื่อนไขแล้วคิดว่าน่าจะมีการเลือกตั้งภายในปี 2562 ไม่น่าจะยืดไปถึงปี 2563

หากกฎหมายลูกที่กำลังพิจารณานี้ถูกตีตกไป จะเป็นเหตุให้ขยับการเลือกตั้งออกไปอีกหรือไม่ ต้องบอกว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่ามีส่วนไหนที่ขัดกับรัฐธรรมนูญบ้าง ก็ให้แก้เสีย หากศาลรัฐธรรมนูญชี้มา สนช.ก็มีหน้าที่ปรับแก้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ คงจะไม่ตกไปทั้งฉบับเพราะไม่ใช่ทุกมาตราที่มีปัญหา แต่มีปัญหาเพียงบางมาตราเท่านั้น

รัฐธรรมนูญประกาศใช้บังคับแล้ว หากเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจะถือว่าทำผิดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดแล้วว่าเมื่อร่าง พ.ร.ป.ทั้งสี่ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมีผลใช้บังคับ ก็ให้เลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ก็ไม่มีเหตุที่จะไปอ้างเรื่องอะไรอีกแล้ว

อย่างไรก็ตาม หากประกาศใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ครบ 90 วันแล้ว กฎหมายฉบับอื่นไม่มีปัญหา ก็ต้องเลือกตั้ง วันนี้สังคมต่างก็กดดัน แม้กระทั่งพลังบริสุทธิ์ของนักศึกษา และนักวิชาการ ที่ออกมาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ไม่น่ามีการหาเหตุอื่นเพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกแล้ว

ดังนั้นผมเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดช้าที่สุดคือปี 2562 คงไม่ยืดเยื้อไปถึงปี 2563 ยกเว้นมีเหตุแทรกซ้อน เช่น การปฏิวัติซ้อน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราคาดคะเนไม่ได้