เผยแพร่ |
---|
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งคำถามถึงความโปร่งใสและยุติธรรมในกรณีที่แพทองธาร ชินวัตร ซื้อหุ้นบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ด้วยตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN) ที่ไม่มีกำหนดชำระและไม่มีดอกเบี้ย พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า แม้บางฝ่ายอ้างว่าเป็น “การวางแผนภาษี” ที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่กลับไม่มีใครกล้าเปิดเผยว่ามีใครเคยใช้วิธีนี้จริง
วิโรจน์ ชี้ว่าการลดหย่อนภาษีโดยวิธีทั่วไป เช่น การซื้อประกันหรือกองทุนต่างๆ นั้นโปร่งใสและตรวจสอบได้ ต่างจากการใช้ PN ที่ไม่มีใครกล้าพูดถึงอย่างเปิดเผย และหากกรมสรรพากรยอมรับแนวทางนี้โดยไม่ตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย อาจเปิดช่องให้การโอนทรัพย์สินกลายเป็นการ “ขาย” หลอกๆ เพื่อเลี่ยง “ภาษีการรับให้”
วิโรจน์ทิ้งท้ายด้วยคำถามสำคัญว่า สังคมไทยจะยอมรับความไม่เท่าเทียมเช่นนี้หรือไม่ ขณะที่ประชาชนทั่วไปเสียภาษีอย่างสุจริต บางกลุ่มกลับใช้เครื่องมือทางการเงินเลี่ยงภาระภาษีได้อย่างแนบเนียน โดยไม่มีหน่วยงานใดจัดการได้
มีคนจำนวนไม่น้อยพยายามอธิบายว่า การที่คุณแพทองธาร ชินวัตร ซื้อหุ้นบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ โดยใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note – PN) ที่ไม่มีกำหนดชำระ และไม่มีดอกเบี้ยนั้น เป็นเพียง “การวางแผนภาษี” ที่ไม่ผิดกฎหมาย และใครๆ เขาก็ทำกัน
แต่เมื่อถามกลับว่า “ใครล่ะที่ทำแบบนี้?” ช่วยยกตัวอย่างให้ดูหน่อยสิ ปรากฏว่า ไม่มีใครกล้าตอบ ไม่มีใครกล้าระบุชื่อ หรือแสดงตัว เหตุผลที่ได้ยินอยู่เสมอคือ “กลัวสรรพากร”
คำถามก็คือ ถ้าวิธีการนี้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างแท้จริง แล้วจะต้องกลัวอะไร ถ้าไม่มีอะไรต้องปิดบัง ทำไมถึงไม่กล้าบอกชื่อ หรือเปิดเผยว่าใครทำแบบเดียวกัน
ลองเปรียบเทียบกับการลดหย่อนภาษีที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ เช่น การซื้อประกันชีวิต กองทุน SSF, RMF หรือ Thai ESG ที่ประชาชนทำกันอย่างเปิดเผย ธนาคารยังกล้าโฆษณา แข่งกันเสนอโปรโมชันให้ลูกค้าซื้อ คนที่ลงทุนก็บอกต่อ แชร์ข้อมูล และแนะนำกันได้อย่างภาคภูมิใจ ไม่มีอะไรต้องหลบซ่อน เพราะเป็นวิธีที่กฎหมายส่งเสริม และรัฐเองก็สนับสนุน
เพราะสิ่งเหล่านี้ช่วยสร้างวินัยทางการเงินระยะยาว ลดภาระรัฐในอนาคต ทั้งด้านการดูแลผู้สูงวัยและเหตุไม่คาดฝัน เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวม
ตรงกันข้าม การใช้ตั๋ว PN แบบไม่มีกำหนดจ่าย ไม่มีดอกเบี้ย มาซื้อหุ้นในครอบครัว โดยไม่ต้องเสีย “ภาษีการรับให้” แล้วอ้างว่าเป็นวิธีบริหารภาษี ทั้งที่ไม่เคยเปิดเผยกับสาธารณชนว่าใครใช้บ้าง นี่คือสูตรลับเฉพาะของคนบางกลุ่มหรือเปล่า
หากกรมสรรพากรยอมรับวิธีการเช่นนี้โดยไม่มีการตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย นั่นเท่ากับเปิดประตูให้ใครก็ตามสามารถ “ขาย” หุ้นหรือทรัพย์สินให้ลูกหรือเครือญาติ แล้วให้ลูกออกตั๋ว PN แบบไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีกำหนดชำระมาแลกเปลี่ยน แทนการโอนแบบให้โดยตรง
เมื่อไม่ใช่ “การให้” ตามนิยามทางกฎหมาย กรมสรรพากรก็จะไม่มีสิทธิเก็บ “ภาษีการรับให้” อีกต่อไป หรือเก็บได้น้อยลงอย่างมาก
หากวิธีนี้กลายเป็นแบบอย่าง จะไม่มีใครโอนทรัพย์สินให้ลูกหลานโดยตรงอีกแล้ว ทุกคนจะ “ขาย” แล้วเอาตั๋ว PN มาแลก ทั้งที่ไม่คิดจะเก็บเงินจริง เพราะตั้งใจจะยกให้กันอยู่แล้ว
คำถามคือ เราจะยอมรับเรื่องนี้กันจริงหรือ?
ในวันที่ประชาชนต้องเสียภาษีอย่างสุจริต กลับต้องมาเห็นคนบางกลุ่มเดินข้ามช่องว่างของกฎหมายได้อย่างแนบเนียน ด้วยเครื่องมือทางการเงินที่ซับซ้อน จนกรมสรรพากรเองยังทำอะไรไม่ได้
นี่หรือคือความยุติธรรมของระบบภาษีไทย