เพื่อไทย เปิดเสวนา แก้ค่าโดยสารแพง “ชนินทร์” มั่นใจ ตั๋วร่วมรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย สำเร็จในรัฐบาลนี้ หวังลดค่าครองชีพคนที่กำลังตั้งตัว

เพื่อไทย เปิดเสวนา แก้ค่าโดยสารแพง “ชนินทร์” มั่นใจ ตั๋วร่วมรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย สำเร็จในรัฐบาลนี้ หวังลดค่าครองชีพคนที่กำลังตั้งตัว

เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2568 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถนายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) การคุ้มครองผู้บริโภค เป็นประธานในพิธีเปิดงานเสวนา เรื่อง “เสียงสะท้อนผู้บริโภคกับการขนส่งสาธารณะและบัตรโดยสารร่วม” เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคที่ใช้ระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

โดยได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และสภาองค์กรของผู้บริโภค รวมทั้งนายวิพุธ ศรีวะอุไร สก.บางรัก พรรคเพื่อไทย ร่วมเสวนา

นายชนินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นพื้นที่ที่มีต้นทุนค่าเดินทางในขนส่งสาธารณะสูงมาก ทําให้ประชาชนทั่วไปเข้าไม่ถึงบริการเหล่านี้ หรือหากกลุ่มที่มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นมา ก็จะเลือกที่จะผ่อนรถยนต์ส่วนตัวของตัวเองแทน ซึ่งนำไปสู่ปัญหาอื่น เช่น ปัญหารถติด มลพิษทางอากาศ ซึ่งในประเทศที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงขนส่งสาธารณะได้ จะมุ่งหวังให้ค่าใช้จ่ายทางการเดินทางไม่เกิน 10% ของรายได้เท่านั้น

ทั้งนี้ ปัญหาของขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ สามารถแยกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ปัญหาเรื่องภาระค่าใช้จ่ายสูง 2.ปัญหาเรื่องความไม่สะดวกสบายของการเชื่อมต่อระหว่างระบบ 3.ปัญหาเรื่องการบูรณาการข้อมูลของรัฐที่ขาดฐานข้อมูลกลางในการออกมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุด เพราะระบบรับ-ส่ง-จัดเก็บข้อมูลไม่ได้เชื่อมต่อกัน

นายชนินทร์ กล่าวว่า รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย มีนโยบายหลักในการลดค่าครองชีพและกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม ให้คนทำงานสามารถตั้งตัวได้เร็วขึ้นผ่านหลากหลายนโยบาย เพื่อตอบโจทย์คุณภาพชีวิตของคนเมือง

ไม่ว่าจะเป็นนโยบายตั๋วร่วม รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย หรือบ้านเพื่อคนไทยที่จะต้องทำให้สำเร็จในรัฐบาลนี้ เพื่อช่วยให้ผู้เริ่มเข้าสู่วัยทำงานมีภาระในการครองชีพที่ลดลง มีเงินเหลือเงินเก็บสำหรับตั้งตัวในอนาคตที่มากขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริมการกระจายตัวของเมืองออกไปรอบนอก ลดการแออัดกระจุกตัวของคนและรถในพื้นที่กลางเมืองด้วย

ด้านนายวิพุธ กล่าวว่า ปัจจุบัน กทม.รับหน้าที่กำกับดูแลขนส่ง 3 รูปแบบ ได้แก่ รถไฟฟ้า รถโดยสารด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit: BRT) และ BMA Feeder ซึ่งได้เตรียมการยกระดับในหลายๆ ด้านเพื่อเตรียมพร้อมรองรับนโยบายตั๋วร่วม ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ใช้บริการขนส่งมวลชนได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางเพิ่มขึ้น สามารถเดินทางสัญจรในขนส่งมวลชนประเภทต่างๆ ได้อย่างหลากหลายเพิ่มขึ้น

และหากนโยบายตั๋วร่วมสำเร็จ จะช่วยให้เกิดการบูรณาการกันของระบบตั๋วโดยสารขนส่งสาธารณะทั้งระบบ ทำให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวกสบายมากขึ้นในการชำระค่าโดยสาร และรับบริการโดยใช้บัตรใบเดียว รวมถึงภาครัฐที่จะสามารถเก็บข้อมูลรวบรวมข้อมูลการใช้งานขนส่งทั้งระบบเพื่อการวางแผนพัฒนาต่อไปได้เพิ่มเติม มั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับพี่น้องในกทม.และปริมณฑลอย่างแน่นอน