เผยแพร่ |
---|
ชูศักดิ์ ยันต้องระวังเต็มที่ หากตั้งรมต. รับมีปัญหาเรื่องตีความ คนตั้งต้องรับผิดชอบ โอดนักการเมืองไม่ใช่พระ เชื่อ 17 มี.ค. รัฐสภาส่งตีความปมประชามติได้ เพราะเกิดความขัดแย้งแล้ว
เมื่อเวลา 09.20 น. วันที่ 13 มี.ค.2568 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัย การตีความเรื่องมาตรฐานจริยธรรม และความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ว่า ศาลรัฐธรรมนูญตอบมาค่อนข้างชัดเจน ซึ่งจริงๆเราทราบแนวทางของศาลพอสมควร
แต่เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาจริงๆ ในแง่การตีความหลักสำคัญจะแต่งตั้งบุคคลใด ต้องเอาประวัติมาดู ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนถูกปรับในข้อหาจอดรถในที่ห้ามจอด ต้องถามสื่อมวลชนว่าถือว่าไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตหรือไม่ ฉะนั้นดุลพินิจกว้าง ซึ่งตามหลักนิติรัฐและนิติธรรม กฎหมายต้องมีความแน่นอนเราถึงพยายามทำเรื่องนี้ให้ชัด แต่ในเมื่อศาลไม่ตอบก็ไม่รู้จะทำอย่างไร และหลังจากนี้จะแต่งตั้งใครต้องใช้ดุลพินิจกันเอง
ผู้สื่อข่าวถามว่าหลังจากนี้จะตั้งใครต้องสุ่มเสี่ยงเองเลยใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า จะว่าสุ่มเสี่ยงก็ได้ แต่ต้องใช่ความระวัดระวังเต็มที่
ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่าต้องสแกนคุณสมบัติถี่ยิบเหมือนตั้งครม.แพทองธาร 1 ใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาให้สำนักเลขาธิการครม. (สลค.)ตรวจสอบ สอบถามไปคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมันไม่จบเพราะเมื่อเป็นดุลยพินิจก็จะเป็นปัญหาตามมา ต้องชั่งน้ำหนักดู
เมื่อถามว่าหากในอนาคตปรับครม. และเสนอชื่อใครแล้วสังคมตั้งคำถามจะทำอย่างไร นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งหมดต้องเอามาประมวลกันว่าใครคิดเห็นอย่างไรมาชั่งน้ำหนักเอาเพราะท้ายที่สุดคนที่ตั้งต้องรับผิดชอบ
ผู้สื่อข่าวถามว่าต่อไปจะตั้งใครต้องมีประวัติใสกิ๊งเลยใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า หากพูดตรงไปตรงมา การเมืองบ้านเรามาแบบนี้ นักการเมืองก็ไม่ใช่นักบวช ขนาดพระยังมีข้อครหา ต้องดูจนกว่าจะทำการเมืองให้ใสสะอาด เราก็เห็นกันอยูว่าเมื่อมาถึงจุดนี้เป็นอย่างไร เขาถึงเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า รัฐธรรมนูญปราบโกง แต่หลักสำคัญควรจะมีการกำหนดมาตรฐานชัดเจน ไม่เปิดโอกาสให้ตีความได้หลายทาง
เมื่อถามว่าต้องไปหวังในการแก้รัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ต้องไปพูดคุยกันหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ตนไม่ได้หมายความว่าจะให้ลดมาตรฐานจริยธรรม แต่อยากให้ชัดเจน
ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญส่งสัญญาณมาเช่นนี้ จะกระทบเหตุการณ์ในวันจันทร์ที่ 17 มี.ค. ที่รัฐสภาจะขอมติให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าต้องทำประชามติก่อนการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่แตกต่างกัน เนื่องจากประธานรัฐสภาบรรจุวาระ และเกิดความขัดแย้ง สส.ส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย โดยมองว่าประธานสภาฯ ไม่มีอำนาจบรรจุ และถือเป็นคนละกรณีกับกรณียื่นถามเรื่องมาตรฐานจริยธรรม พร้อมกับมองว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจจะรับวินิจฉัยเรื่องการทำประชามติ