สุรพศถามกลับดี้ ต้องการปท.สงบแบบไหน ชี้ขัดแย้งแบบปชต.ดีกว่าสงบแบบเกาหลีเหนือ

กรณี ดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค นักแต่งเพลงชื่อดัง แสดงความเห็นตอบกลับ กรณี นายรังสิมันต์ โรม แกนนำกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ระบุอยากนัดกินกาแฟถกเถียงประเด็นเรื่องการเลือกตั้งกับ”ดี้ หลังจากก่อนหน้านี้ “ดี้ นิติพงษ์”ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Nitipong Honark” วิจารณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่ม”คนอยากเลือกตั้ง”ที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งภายในปีนี้ พร้อมได้ตั้งคำถาม 9 ข้อ โดยดี้ระบุว่า ขอขอบคุณที่เรียนเชิญ แต่ขออปฎิเสธ เพราะคิดว่าไม่น่าจะมีประโยชน์ ยืนยันตนไม่มีอุดมการณ์การเมืองอะไร แค่อยากให้ประเทศสงบ

ล่าสุดวันนี้ นายสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊กแสดงความเห็นต่อข้อคิดเห็นของดี้ โดยระบุว่า

ไม่ทราบว่าที่ “อยากให้ ปท.สงบ” คุณดี้นิยาม “ความสงบ” อย่างไร เพราะความสงบในสังคมประชาธิปไตย ไม่ได้แปลว่าไม่มีความขัดแย้ง หรือไม่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ เพียงแต่ให้ความขัดแย้งนั้นๆ การเคลื่อนไหวนั้นๆ ได้แสดงออกอย่างเสรีและอย่างสันติวิธี

สุดท้ายแล้วความขัดแย้งและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ก็จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าของสังคม

ที่จริงไม่มีสังคมใดที่ไม่มีความขัดแย้ง สังคมเผด็จการยุคโบราณก็เต็มไปด้วยความขัดแย้งของบรรดาชนชั้นนำ การเปลี่ยนผ่านอำนาจก็มักใช้วิธีรัฐประหารและความรุนแรง สังคมเผด็จการสมัยใหม่อย่างเช่นเกาหลีเหนือ ก็อาจจะมีความสงบแต่เป็นความสงบที่เก็บกดความขัดแย้งไว้ภายใต้อำนาจเผด็จการ

ถ้าความขัดแย้งและความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติของสังคมมนุษย์ และถ้าปล่อยให้ความขัดแย้งและความเห็นต่างได้แสดงออกอย่างเสรีและโดยสันติวิธีคือเงื่อนไขที่ทำให้สังคมก้าวหน้า สังคมที่ความขัดแย้งและความเห็นต่างถูกเก็บกดไว้ภายใต้อำนาจเผด็จการ ย่อมเป็นสังคมที่หยุดชะงัก ถดถอย และล้าหลัง

แล้วคุณดี้ต้องการเห็น ปท.สงบแบบไหน แบบถูกอำนาจเผด็จการเก็บกดความขัดแย้งเอาไว้? แบบที่คุยการเมืองกันไม่ได้เพราะเชื่อต่างกัน? หรือต้องการร่วมกันสร้างสังคมที่เราทุกคนสามารถนำความเห็นต่าง ความเชื่อต่างมาคุยกัน แลกเปลี่่ยนถกเถียงกันได้อย่างเสรี อย่างเคารพสิทธิมนุษยชนของกันและกัน และอย่างสันติวิธี หากเรื่องใดตกลงกันไม่ได้ก็ใช้การลงมติตามกติกาที่ฟรีและแฟร์ในระบอบประชาธิปไตย

เสียดายที่คุณดี้ปฏิเสธคำเชิญของน้องๆ ที่มีความเชื่อมั่นและความหวังว่าทุกฝ่าย ทุกคนที่เห็นต่างสามารถจะสร้างสังคมประชาธิปไตยร่วมกันได้