เผยแพร่ |
---|
สมศักดิ์ดัน สธ.ตั้งเป้าลดผู้ป่วย NCDs รายใหม่เป็นศูนย์ ดันนโยบาย ‘กินเป็น ไม่ป่วย สวยหล่อ อายุยืน’ สู่วาระแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบทิศทางการดำเนินงานนโยบายคนไทยห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) สำหรับปีงบประมาณ 2568 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ภูวเดช สุระโคตร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงเข้าร่วม
โดยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (Non-communicable diseases) คือ ภัยคุกคามที่ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้าอย่างหนักหน่วง สถิติย้อนหลังจากรายงานขององค์การอนามัยโลก ระบุว่าในกลุ่มคนไทยที่เสียชีวิตเพราะ NCDs ปีละกว่า 400,000 ราย โดยในปี 2565 ผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากกลุ่มโรค NCDs สูงถึง 74% หรือ คิดเป็นจำนวน 45 ล้านคนทั่วโลก และในรายงานนี้ คนไทยเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรค NCDs สูงถึงร้อยละ 77 มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก
นโยบายลดโรค NCDs ตั้งเป้าลดผู้ป่วยรายใหม่เป็นศูนย์
นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มนโยบายคนไทยห่างไกล NCDs ครั้งแรกที่จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 และได้จัดกิจกรรมทั่วทุกภูมิภาคทั้งหมด 6 ครั้ง เพื่อประกาศเป้าหมายในการลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่จากโรค NCDs เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคไตเรื้อรัง พร้อมทั้งมุ่งลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยในผู้ป่วยรายเก่า โดยตั้งเป้าหมายลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ให้เป็นศูนย์ โดยเน้นการปรับพฤติกรรมสุขภาพที่ดีขึ้น เพื่อป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรค NCDs ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว โดยในปี 2562 ประเทศไทยต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 1.6 ล้านล้านบาท โดยร้อยละ 91 หรือประมาณ 1.495 ล้านล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายแฝงที่เกิดจากการขาดงาน ทำงานไม่เต็มความสามารถและการสูญเสียกำลังผลิตจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร อีกร้อยละ 9 หรือประมาณ 1.39 พันล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายทางตรงในการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นรายจ่ายส่วนใหญ่ของระบบสาธารณสุข
“ที่ผ่านมามีการมอบหมายให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีกว่า 1.08 ล้านคน เป็นแกนนำถ่ายทอดความรู้ด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการกินแบบนับคาร์โบไฮเดรต หรือ นับคาร์บ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเกิดผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ มี อสม.และประชาชนทั่วประเทศสามารถนับคาร์บได้ถึง 14,592,424 คน ช่วยให้เกิดความตระหนักและปรับพฤติกรรมการกิน รวมถึงเข้าใจและตระหนักถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต หลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรค NCDs โดยเป้าหมายของการนับคาร์บภายในปี 2568 จะต้องครอบคลุม 50 ล้านคน” นายสมศักดิ์ กล่าว
4 แนวทางหลักในการลดโรค NCDs ปี 2568
- ลดการบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อป้องกันโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ
- ส่งเสริมการออกกำลังกาย ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรค NCDs ได้ถึง 20-30%
- เพิ่มการบริโภคโปรตีน เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ โดยเน้นโปรตีนจากธรรมชาติ เช่น ปลา ไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน
- เพิ่มไขมันดี เพื่อปรับสมดุลร่างกายและลดความเสี่ยงโรคหัวใจ โดยแหล่งไขมันดี เช่น ปลาทะเลน้ำลึก อะโวคาโด้ และน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์
เตรียมผลักดันเป็นวาระแห่งชาติและขยายความร่วมมือหลายภาคส่วน
นายสมศักดิ์เน้นย้ำว่า การลดโรค NCDs จำเป็นต้องผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ เพราะไม่สามารถทำได้เพียงกระทรวงสาธารณสุขเพียงลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายกระทรวงและทุกภาคส่วน โดยขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการร่างแผนดำเนินการ และเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 1-2 เดือน
สโลแกน “กินเป็น ไม่ป่วย สวยหล่อ อายุยืน”
นโยบายคนไทยห่างไกล NCDs มีสโลแกนสั้นๆ ว่า “กินเป็น ไม่ป่วย สวยหล่อ อายุยืน” ซึ่งเน้นการปรับพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตอย่างสมดุล โดยมีเป้าหมายต่อไปในการปลูกฝังการนับคาร์บให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างความตระหนักรู้และลดปัญหาสุขภาพในระยะยาว
นโยบายนี้คาดว่าจะช่วยให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขได้อย่างยั่งยืน
ศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs และโรงเรียนเบาหวานวิทยา ช่วยลดผู้ป่วยได้จริง
ในปีที่ผ่านมา มีการจัดตั้งศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs เพื่อให้ความรู้และดูแลผู้ป่วยอย่างครอบคลุม นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนเบาหวานวิทยาซึ่งเป็นต้นแบบของนโยบายนี้ โดยมีผู้ป่วยที่เข้าร่วมและสามารถควบคุมโรคได้ดี เช่น เขตสุขภาพที่ 9 ที่มีโรงเรียนเบาหวานวิทยา 959 แห่ง มีผู้ป่วยที่โรคสงบ (DM Remission) ถึง 15.04% และลดค่ายาได้ถึง 31.6 ล้านบาทต่อปี ซึ่งช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว มีการดำเนินการ 3 ส่วน ได้แก่ 1.การสร้างระบบบริการด้านสุขภาพ โดย จัดตั้งศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs 2.ส่งเสริมความร่วมมือสหสาขาวิชาชีพ โดยพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์และร่วมมือกับสหสาขาวิชาชีพในการดำเนินงาน และ 3.ให้ความรู้ อสม. เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชน เชิญชวนกลุ่มเสี่ยงเข้าศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs พร้อมทั้งเป็นพี่เลี้ยงและติดตามผล โดยล่าสุด มี อสม. ที่สอนนับคาร์บ 1,075,255 คน และมีประชาชนทั่วไปร่วมนับคาร์บ 13,517,169 คน รวมคนที่สามารถนับคาร์บได้ 14,592,424 คน นพ.โอภาส กล่าวว่า
ด้าน นพ.ภูวเดช กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งเป็นต้นแบบเรื่องโรงเรียนเบาหวานวิทยา ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ นโยบายคนไทยห่างไกล NCDs โดยปัจจุบันภาพรวมในเขต มีโรงเรียนเบาหวานวิทยา 959 แห่ง มีครู ก ครู ข 3,501 คน นักเรียนที่เข้าร่วม 9,635 คน และจากการประเมินผลผู้ป่วยที่เข้าโรงเรียนเบาหวานวิทยาครบตามหลักสูตร 7,505 คน มีผู้ป่วยที่โรคสงบ (DM Remission) 1,129 คน คิดเป็นร้อยละ 15.04 หยุดยาได้ 715 คน คิดเป็นร้อยละ 9.52 ปรับลดยาได้ 1,819 คน คิดเป็นร้อยละ 24.23 รับยาเท่าเดิม 3,505 คน คิดเป็นร้อยละ 46.96 มีเพียง 339 คน คิดเป็นร้อยละ 4.52 ที่รับยาเพิ่ม ช่วยลดค่ายาได้ถึง 31,612,000 บาทต่อปี ส่วนในเขตสุขภาพที่ 11 จากการจัดทำโครงการ “NCDs หายได้ที่เขตสุขภาพที่ 11” ผู้ป่วยเข้าร่วม 27,203 คน มีผู้ป่วยโรคสงบ 1,305 คน หยุดยาได้ 787 คน ปรับลดยาได้ 3,471 คน และ ลดน้ำหนักได้รวม 8,609 กิโลกรัม ช่วยลดค่ายาได้ถึง 1,034,832 บาทต่อปี
ทั้งนี้นพ.ภูวเดช กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดตั้งหน่วยบริการตามนโยบายฯ ปัจจุบันมีคลินิก NCDs รักษาหาย สำหรับรักษาผู้ป่วย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแล้ว 131 แห่ง จาก 134 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 563 แห่ง จาก 770 แห่ง และ รพ.สต. 2,343 แห่ง จาก 4,794 แห่ง, มีศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs ช่วยประเมินสุขภาพ ส่งต่อผู้ป่วยเข้าระบบรักษาในคลินิก NCDs รวมถึงดูแลกลุ่มเสี่ยง/ผู้ป่วย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในรพ.สต. 1,567 แห่ง จาก 7,256 แห่ง และมีศูนย์ป้องกันโรคติดต่อในชุมชน (NCDs Prevention Center) ในสำนักงานสาธารณสุขอำเภอครบทั้ง 878 แห่ง