เผยแพร่ |
---|
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมติไม่เลื่อนญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ส.ว. ที่ขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรค 1(2) ก่อนที่จะมีการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ทำให้ต้องมีการตรวจสอบองค์ประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยองค์ประชุมมีเพียง 204 เสียง จากที่ต้องใช้องค์ประชุม 346 เสียง ทำให้องค์ประชุมล่ม
จากการตรวจสอบรายชื่อผู้แสดงตนจากกลุ่มงานรายงานการประชุม สำนักรายงานการประชุมและชวเลข พบว่า พรรคประชาชนแสดงตนเกือบครบทั้งพรรค ยกเว้น นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม., นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนางจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม ส.ส.เชียงราย
ขณะที่พรรคเพื่อไทย แสดงตนเพียง 22 คน จาก ส.ส.ทั้งหมด 142 คน ส่วนพรรคภูมิใจไทย พรรคกล้าธรรม พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคพลังประชารัฐ ไม่แสดงตนทั้งพรรค ด้านพรรคประชาธิปัตย์ แสดงตน 5 คน ได้แก่ นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายยูนัยดี วาบา ส.ส.ปัตตานี และ นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง
ส่วนพรรคประชาชาติ แสดงตน 2 คน ได้แก่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา
ด้านพรรคไทยสร้างไทย มีเพียงนายชัชวาล แพทยาไทย ส.ส.ร้อยเอ็ด ที่แสดงตน ขณะที่พรรคชาติพัฒนา มีแสดงตนเพียง นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ขณะที่ ส.ว. 199 คน แสดงตนเพียง 32 คน ที่เหลือไม่ได้แสดงตน ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ประธานรัฐสภาต้องนัดประชุมใหม่ในเวลา 09.30 น.ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์
ด้าน รายงานข่าวจากพรรคภูมิใจไทย ระบุภายหลังการองค์ประชุมไม่ครบ ระหว่างการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคภูมิใจไทย มีสมาชิกทำหน้าที่ในรัฐสภา 69 คน คิดเป็น 1 ใน 10 ของสมาชิกรัฐสภา เท่านั้น การที่พรรคภูมิใจไทย มีมติไม่ร่วมพิจารณาในวาระดังกล่าว จึงไม่มีผลต่อการประชุม ถึงขนาดทำให้การประชุมเดินหน้าต่อไปไม่ได้ และไม่มีผลต่อการลงมติด้วย หากพรรรคการเมืองที่เสนอแก้ไข และพรรคการเมืองอื่นๆ เห็นด้วย ลงมติให้แก้ไข จึงไม่ควรมองว่า พรรคภูมิใจไทย เป็นต้นเหตุที่ทำให้การประชุม เดินต่อไปไม่ได้ ทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ล้มเหลว หรือสะดุดลง