แอร์บัสส่ง “A350-1000” “เปลี่ยนเกม” โลว์คอสต์ระยะไกล

ที่มาภาพ : Airbus

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท แอร์บัส ได้นำเครื่องบินรุ่นใหม่ “แอร์บัส A350-1000” มาทำการบินสาธิตและจัดแสดงที่กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก หลังจากที่ได้นำเครื่องบินรุ่นนี้ไปแสดงที่งานสิงคโปร์แอร์โชว์ไปก่อนหน้านี้แล้ว

ทั้งนี้ เพื่อบุกตลาดการบินในเอเชีย-แปซิฟิกอย่างเต็มรูปแบบ หลังจากที่ได้นำเสนอขายแก่ลูกค้าสายการบินต่าง ๆ ด้วยยอดคำสั่งซื้อ แอร์บัส A350-1000 จำนวน 169 รายการ จากลูกค้า 11 สายการบิน

“มาครี ลาโล” ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของ A350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี บริษัท แอร์บัส บอกว่า จากการประเมินความต้องการของเครื่องบินทั่วโลกในอีก 20 ปีข้างหน้า แอร์บัสคาดว่าจะมีทั้งหมดราว 35,000 ลำ แบ่งเป็นเครื่องบินลำตัวแคบ (ทางเดินเดี่ยว) จำนวน 24,800 ลำ รองลงมาเป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง (ทางเดินคู่) 8,700 ลำ และเครื่องบินขนาดใหญ่ 1,400 ลำ ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมกันมากถึง 5.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

และเมื่อเจาะจงเฉพาะความต้องการเครื่องบินทางเดินคู่ ซึ่งมีส่วนแบ่งถึง 8,700 ลำแล้ว พบว่าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีความต้องการสูงสุด 50% ของความต้องการทั่วโลก หรือ 3,897 ลำ สามารถรองรับการจราจรทางอากาศที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5.6% ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2560-2579 หรือในอีก 20 ปีนับจากนี้

เรียกว่ามากกว่าภูมิภาคยุโรป ที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 3.4% ต่อปี และอเมริกาเหนือ 2.6% ต่อปี

ทั้งนี้ จากยอดคำสั่งซื้อ แอร์บัส A350-1000 จำนวน 169 รายการ จากลูกค้า 11 สายการบินนั้น พบว่า กาตาร์แอร์เวย์ส ยอดสั่งซื้อเฉพาะรุ่นนี้ 76 ลำ โดยเตรียมส่งมอบเป็นรายแรกด้วย ส่วนสายการบินในเอเชีย-แปซิฟิก คือ คาเธ่ย์แปซิฟิค 46 ลำ เตรียมส่งมอบปลายปีนี้เช่นกัน

ด้านยอดสั่งซื้อของสายการบินอื่น ๆ อาทิ เอทิฮัด จำนวน 62 ลำ, เจแปนแอร์ไลน์ส 31 ลำ, เอเชียน่าแอร์ไลน์ส 30 ลำ, บริติช แอร์เวย์ส 18 ลำ, อิหร่านแอร์ 16 ลำ เป็นต้น

ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส ตระกูล A350 เอ็กซ์ดับเบิลยูบี ถือเป็นตระกูลที่ประสบความสำเร็จในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างมาก มียอดคำสั่งซื้อจากทั่วโลกจำนวน 854 รายการ

แบ่งเป็นยอดคำสั่งซื้อของสายการบินในเอเชีย คิดเป็น 1 ใน 3 หรือ 287 รายการ จากลูกค้า 14 ราย เช่น เอเชียน่าแอร์ไลน์ส คาเธ่ย์แปซิฟิค ไชน่าแอร์ไลน์ส ฮ่องกงแอร์ไลน์ส มาเลเซียแอร์ไลน์ส สิงคโปร์แอร์ไลน์ส เวียดนามแอร์ไลน์ส และการบินไทย

ด้านการบินไทย ปัจจุบันมีเครื่องบินรุ่น A350-900 ที่ปฏิบัติการการบินอยู่ 8 ลำ จากการสั่งซื้อรวม 12 ลำ ทำการบินในเส้นทางไป-กลับ จากกรุงเทพฯ สู่โรม บรัสเซลส์ มิลาน เมลเบิร์น โอซากา โตเกียว (นาริตะ) โซล สิงคโปร์ และเชียงใหม่ สำหรับเส้นทางบินสู่โตเกียว (ฮาเนดะ) จะเริ่มนำมาบินในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้

สำหรับเครื่องบินแอร์บัส A350-1000 นี้ “มาครี” บอกว่า บริษัทยังวางเป้าหมายให้เครื่องบิน แอร์บัส A350-1000 แข่งขันกับคู่แข่งหลักอย่างค่ายโบอิ้งในตลาดเครื่องบินลำตัวกว้างเครื่องรุ่นใกล้เคียงกัน คือ โบอิ้ง 777-300 อีอาร์ และโบอิ้ง 777 เอ็กซ์

โดยจุดเด่นของเครื่องบิน แอร์บัส A350-1000 อยู่ตรงที่ประสิทธิภาพช่วยประหยัดต้นทุนได้กว่า 25% ทั้งด้านการเผาไหม้เชื้อเพลิง การซ่อมบำรุงและการบิน และเครื่องช่วยเดินอากาศ

จากการประหยัดต้นทุนดังกล่าว บริษัทเชื่อว่าจะทำให้เครื่องบินรุ่นใหม่นี้ เป็นตัวเปลี่ยนเกมสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำ หรือโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะจะช่วยเพิ่มความสามารถในการบินระยะใกล้ได้คุ้มค่ามากขึ้น จากที่ผ่าน ๆ มา สายการบินโลว์คอสต์ในเอเชียอาจประสบปัญหาการเปิดเส้นทางบินระยะไกลไม่สำเร็จ เพราะไม่มีเครื่องบินที่สามารถทำการบินได้คุ้มค่าต้นทุนการบินระยะยาวได้

โดยปัจจุบันมีสายการบินโลว์คอสต์ในยุโรปอย่าง เฟรนช์ บลู แอร์ไลน์ส ได้สั่งเครื่องบินรุ่นนี้สำหรับทำการบินระยะไกลแล้ว และนอกจากจะตอบโจทย์สายการบินโลว์คอสต์แล้ว เชื่อว่าจะตอบความต้องการของสายการบินฟูลเซอร์วิสได้เช่นกัน

“มาครี” ยังบอกอีกว่า เครื่องบินแอร์บัส A350-1000 นี้ถือเป็นเครื่องบินลำใหม่ล่าสุด และมีลำตัวกว้างที่สุดในประเภททางเดินคู่ของแอร์บัส ด้วยความยาวที่ยาวกว่าถึง 7 เมตร มีพื้นที่ในห้องโดยสารที่พิเศษ และมีขนาดใหญ่กว่าเมื่อเทียบกับเครื่องบินร่วมตระกูลที่มีขนาดเล็กกว่าอย่าง A350-900 ถึง 40%

นอกจากนี้ เครื่องบิน A350-1000 ยังสามารถจุที่นั่งผู้โดยสารได้ 366 ที่นั่ง ในการจัดห้องโดยสารแบบ 3 ชั้นโดยสารทั่วไป เพิ่มขึ้น 40 ที่นั่ง เมื่อเทียบกับเครื่องบินรุ่น A350-900 ที่เข้าสู่ตลาดก่อนหน้านี้ ซึ่งมีขนาด 325 ที่นั่ง โดยมีข้อดีตรงที่สายการบินสามารถใช้ใบรับรองแบบอากาศยานสำหรับทำการบินแบบเดียวกันและอะไหล่ที่ใช้ร่วมกันได้ 95% รวมถึงใช้ใบอนุญาตการทำการบินของนักบินแบบเดียวกัน

ทั้งนี้ เครื่องบิน A350-1000 เป็นเครื่องบินระยะไกล ด้วยพิสัยการบิน 8,000 ไมล์ทะเล (14,800 กิโลเมตร) ตั้งแต่เริ่มให้บริการจึงสามารถทำการบินตรงจากกรุงเทพฯ ไปยุโรป หรืออเมริกาเหนือ โดยไม่ต้องแวะพักการบิน 8,000 ไมล์ทะเล (14,800 กิโลเมตร) ตั้งแต่เริ่มให้บริการ จึงสามารถทำการบินตรงจากกรุงเทพฯ ไปยุโรป หรืออเมริกาเหนือ โดยไม่ต้องแวะพักได้