สภาล่ม! ไม่ครบองค์ประชุม ถกแก้รธน.ไม่ได้ วันนอร์ นัดใหม่พรุ่งนี้

มติที่ประชุมร่วมรัฐสภา ไม่เลื่อนญัตติส่งศาลรธน.ตีความของ หมอเปรมศักดิ์ ขึ้นมาพิจารณาก่อน สว.ไม่พอ ชี้ประชุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย วอล์กเอาต์ ออกจากห้องประชุม

เมื่อเวลา 09.40 น. วันที่ 13 ก.พ.2568 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม

ก่อนเข้าสู่วาระ นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ลุกขึ้นอภิปรายในฐานะตัวแทนพรรค ว่าวาระที่กำลังจะพิจารณาค่อนข้างผิด และขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ พรรคภูมิใจไทยจึงขอไม่เข้าร่วมพิจารณา

จากนั้น นพเปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. เสนอญัตติขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ถูกสส.พรรคประชาชนทักท้วงว่ายังไม่ได้รับเอกสารญัตติดังกล่าว นายวันมูหะมัดนอร์ จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่แจกเอกสารแก่สมาชิก ก่อนสั่งพักการประชุม 15 นาที เพื่อให้วิป 3 ฝ่ายหารือร่วมกัน

ต่อมาเวลา 10.13 น. การประชุมร่วมรัฐสภา เริ่มขึ้นอีกครั้ง นายวันมูหะมัดนอร์ แจ้งที่ประชุมว่า ตนขออาศัยข้อบังคับการประชุมสภาข้อที่ 32 (1) และ (5) เพื่อรับเรื่องที่นพ.เปรมศักดิ์ กับคณะ ส่งมาเมื่อเช้านี้(13 ก.พ.) ซึ่งข้อบังคับข้อ 32 ไม่ต้องเสนอส่งเป็นหนังสือก่อนหนึ่งวันได้ ถ้าถือว่าเป็นเรื่องด่วนและ (5) คืออำนาจหน้าที่ของประธานว่าจะอนุญาตให้บรรจุได้

แต่ขั้นตอนต่อไปตนจะอนุญาตให้ นพ.เปรมศักดิ์ เสนอญัตติก่อนแต่ไม่ได้หมายความว่าจะอภิปราย ซึ่งเสนอเพื่อให้เข้าใจเป็นญัตตินี้ หจากนั้นตนจะถามกับที่ประชุมว่าจะขออนุญาตให้เอาเรื่องญัตติขอให้หนังสือที่นพ.เปรมศักดิ์ ขึ้นมาพิจารณาก่อนญัตติอื่นๆ ที่บรรจุไว้แล้วหรือไม่ ซึ่งต้องเป็นมติที่ประชุม

ถ้าเห็นว่าควรเลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อนก็จะเริ่มกระบวนการขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งนพ.เปรมศักดิ์ ก็ได้เสนอไปแล้วและขั้นตอนต่อไปคือสมาชิกท่านใด จะขออภิปรายก็มาเสนอชื่อได้ตามสมควร และจะมีมติว่าให้ส่งหรือไม่ส่ง ถ้าส่งก็ดำเนินการตามมติที่ส่ง อาจจะต้องพักเรื่องการพิจารณารัฐธรรมนูญเอาไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เราเคยปฏิบัติมาแล้วไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่

จากนั้นนายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิรายว่า ขอถามว่าญัตติที่ นพ.เปรมศักดิ์ ยื่นนั้นต้องพิจารณาเป็นเบื้องต้นก่อน เพราะยื่นเข้ามาเป็นหนังสือเมื่อบรรจุเป็นระเบียบวาระแล้วต้องเป็นเรื่องด่วนที่ 3 ซึ่งจะต้องพิจารณาตามหลังญัตติของนายพริษฐ์ วัชระสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย

ดังนั้น จะต้องลงมติก่อนว่าเห็นควรให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อนหรือไม่ เพราะหากเลื่อนก็จะมีการอภิปรายโดยผู้เสนอญัตติก่อน และหากเลื่อนจริงก็ไม่ได้หมายถึงญัตติที่ 1 และ2 เป็นอันตกไป สามารถเดินหน้าอภิปรายแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อได้ เพราะหากเลื่อนพิจารณาญัตติของนพ.เปรมศักดิ์แล้ว มีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ จึงจะยังไม่สามารถลงมติรับหลักการได้

ดังนั้น ประธานรัฐสภา ต้องพูดให้ชัด เพราะหลายคนเตรียมอภิปรายเรื่องรัฐธรรมนูญมาแล้วเป็นแรมเดือน ซึ่งจะมีการอภิปราย 2 วัน

ขณะที่นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า เห็นด้วยกับประธานรัฐสภา ที่อธิบายอย่างชัดเจนแล้ว จึงขอให้ดำเนินการต่อ

จากนั้นประธานที่ประชุม ได้ขอมติว่าเห็นสมควรจะเลื่อนญัตติด่วนของนพ.เปรมศักดิ์ ขึ้นมาพิจารณาก่อนหรือไม่ ผลปรากฎว่า เห็นด้วย 247 เสียง ไม่เห็นด้วย 275 เสียง งดออกเสียง 4 ดังนั้น มติที่ประชุมไม่เห็นด้วยให้เลื่อนพิจารณา จึงให้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับก่อน

จากนั้น นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. กล่าวว่า ด้วยเหตุผลที่ไม่เลื่อนวันนี้ ตนอภิปรายไปแล้วว่าเป็นการประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดรัฐธรรมนูญ ที่ขออนุญาตที่ประชุม ขออกจากที่ประชุม

จากนั้นสว.วอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุมสภาฯ โดยก่อนหน้านี้ สส.พรรคภูมิใจไทยก็ไม่เข้าร่วมพิจารณาเช่นกัน

ต่อมา นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ส.ว. ได้เสนอญัตติให้ประธานรัฐสภานับองค์ประชุม เพราะมีสมาชิกรัฐสภาวอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุมหลายคน จากนั้น ประธานรัฐสภาได้ขอให้มีการแสดงตนปรากฏว่ามีสมาชิกแสดงตนในห้องประชุม 204 คน ไม่ครบองค์ประชุม ทำให้ประธานรัฐสภา สั่งนัดประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (14 ก.พ.) เวลา 09.30 น. ก่อนสั่งปิดการประชุมในเวลา 12.04 น.

ภายหลังนพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ส.ว. ยื่นญัตติด่วนเรื่องขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรค 1 (2) โดยมีผู้เข้าร่วมลงชื่อรับรอง ทั้งจากฝั่ง ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งเป็นที่สังเกตว่า มี ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งได้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุมในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ร่วมลงชื่อด้วย

โดยในรายชื่อมีทั้ง ส.ส.จากพรรค พท. อาทิ นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรค นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ใฐานะ สส.นครพนม นพ.เชิดชัย ตันติศิรนทร์ สส.บัญชีรายชื่อ และพรรคกล้าธรรม อาทิ นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา สส.ราชบุรี เป็นต้น ซึ่งหลายคนร่วมลงชื่อกับ สว. แสดงความสนับสนุนให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ

แหล่งข่าวจากพรรค พท.ชี้แจงว่า จากที่ประชุม สส.พรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ มี สส. หลายคนทักท้วงเกี่ยวกับญัตติของนพ.เปรมศักดิ์ ดังนั้น จึงเห็นว่าเพื่อความมั่นใจและความสบายใจของทุกฝ่าย ก็ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้ชัด เพราะอย่างไรถึงลงมติกันไปร่างแก้ไจรัฐธรรมนูญก็อาจจะไม่ผ่าน อีกทั้งเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ก็คงไม่ครบ เพราะพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ก็ไม่เอาด้วยอยู่แล้ว