พาณิชย์นำทัพเอกชนรุกเจาะตลาดเมืองรองอินเดีย

ที่มา : กระทรวงพาณิชย์

ชุติมานำทัพเอกชนบุกตลาดเมืองรองอินเดีย “อุตตรประเทศ-อานธรประเทศ” เดินหน้ายุทธศาสตร์ strategic partnership พร้อมดึงดูดนักลงทุนสู่ EEC ด้านทูตอินเดียจีบไทยลงทุนอุตสาหกรรมอาหาร-บริการ เชื่อมโยงการใช้ประโยชน์ trilateral highway

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในโอกาสที่จะนำคณะภาคเอกชนไทยเดินทางเยือนอินเดีย ระหว่างวันที่ 21-24 กุมภาพันธ์ 2561 เพื่อเข้าร่วมงาน UP Investors Summit 2018 ที่อุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย ในวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งจะมีการแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับศักยภาพในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและอินเดีย ตามนโยบายในการผลักดันการสร้างหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ (strategic partnership) ของไทย พร้อมทั้งจะเข้าพบคารวะมุขมนตรีของรัฐอุตตรประเทศ (ฐานะเทียบเท่ากับนายกรัฐมนตรีของรัฐ) และพบตัวแทนภาคเอกชนจากหอการค้า และกลุ่มนักลงทุนอินเดีย หลังจากนั้นจะเดินทางเข้าร่วมการประชุมหารือ (panel discussion) กับตัวแทนภาครัฐและเอกชนอินเดียที่รัฐอานธรประเทศในวันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ 2561

“ไทยมุ่งหวังจะใช้เวทีนี้ในการประสานกับตัวแทนรัฐบาล ช่วยส่งเสริมให้นักธุรกิจอินเดียเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษระเบียงตะวันออก (EEC) ของไทย พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลกับนักธุรกิจจากทั่วโลกที่ตอบรับเข้าร่วมงานนี้ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ศรีลังกา งาน Investors Summit 2018 เป็นงานที่จัดขึ้นทุกปี แต่ละปีได้รับความสนใจจากนักธุรกิจจากทั่วโลก เช่นในปีก่อนมีญี่ปุ่นและแคนาดาไปร่วมด้วย”

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 ได้พบกับเอกอัครราชทูตอินเดีย (Mr.Bhagwant Singh Bishnoi) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการค้าการลงทุนในเมืองรองของอินเดีย ซึ่งเป็นการสานต่อการหารือจากที่ก่อนหน้านี้ตนที่ติดตามคณะนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เข้าร่วมการประชุมอาเซียน-อินเดียเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา และได้มีโอกาสลงพื้นที่เมืองรองทั้งคุชราต และอุตตรประเทศ ทำให้เห็นว่าภาพเศรษฐกิจของอินเดียเปลี่ยนแปลงไปมาก จากเดิมที่เคยเดินทางไปเมื่อ 7-8 ปีก่อน โดยปัจจุบันเป็นช่วงที่อินเดียมีนโยบายส่งเสริมการเชื่อมโยงการค้ากับประเทศทางภาคตะวันออก (ACT East) ซึ่งจะมาเชื่อมโยงกับเส้นทางหลวง 3 ประเทศ (trilateral highway) ระหว่างไทย-เมียนมา-อินเดีย

ทางอินเดียแนะนำให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในเมืองรองของอินเดีย โดยเฉพาะในรัฐอุตตรประเทศ ซึ่งเป็นรัฐที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในอินเดีย และมีรายได้ระดับปานกลาง-ล่าง จำนวนมาก และต้องการดึงการลงทุนเข้าไปยังรัฐอานธรประเทศ ซึ่งได้รับการจัดอันดับเป็นรัฐที่มีความง่ายในการประกอบธุรกิจ (ease of doing business) อันดับ 1 ในอินเดีย ประกอบกับทั้ง 2 รัฐนี้มีศักยภาพในเรื่องเทคโนโลยีไอที และยังต้องการลงทุนภาคการผลิตในหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร ด้านบริการท่องเที่ยว โรงแรม ก่อสร้าง ทางรัฐบาลในแต่ละรัฐของอินเดียได้มีการออกนโยบายที่เปิดกว้างรับการสร้างพันธมิตรธุรกิจและการลงทุนจากต่างชาติ ในลักษณะที่เป็นสิทธิประโยชน์คล้ายกับสิทธิพิเศษของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอของไทย

“ทางท่านนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ให้ความสำคัญกับเรื่องการส่งเสริมการลงทุนมาก ตลอดทั้งปีนี้อินเดียจะมีกิจกรรมโดยแต่ละรัฐจะคลอดนโยบายของตัวเองเพื่อดึงดูดการลงทุน และมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งไทยควรเข้าไปทำความรู้จักกับอินเดียในขณะนี้ซึ่งเป็นช่วงที่เปิดรับการลงทุนจึงต้องไปไขว่คว้าโอกาส ที่ผ่านมาไทยมักจะลงทุนในเมืองหลัก เช่น เชนไน มุมไบ แต่ยังเข้าไปไม่ถึงเมืองรอง ขณะที่นักลงทุนจากญี่ปุ่น และเกาหลีเข้าไปลงทุนเยอะแล้วในตอนนี้ ส่วนนักธุรกิจไทยมีไปบ้าง เช่น กลุ่ม SCG เข้าไปตั้งสำนักงานตัวแทน บริษัทผลิตยางรถยนต์, ศรีไทยซุปเปอร์แวร์, ซี.พี. แต่ยังไม่มากนัก”

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันระดับอัตราภาษีที่อินเดียผูกพันไว้ในกรอบการเจรจาองค์การการค้าโลก (WTO) ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งโอกาสที่จะลดภาษีตามกรอบนี้ยังยาก ขณะที่การเจรจาในกรอบอาเซียนก็ยังไม่สำเร็จ ไทยมุ่งหวังที่จะผลักดันการเจรจาหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาค (RCEP) ให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อลดภาษีต่าง ๆ ได้ แต่คงจะใช้ระยะเวลานาน ดังนั้น ไทยจึงมองว่าควรไปเป็นพาร์ตเนอร์ชิปกับอินเดียก่อน เริ่มจากการขายสินค้าก่อน ต่อไปขยับไปสู่การลงทุน ซึ่งหากจะดำเนินการตามยุทธศาสตร์นี้ไทยต้องทำความรู้จักกับอินเดียให้มากยิ่งขึ้น จากเดิมที่นักธุรกิจไทยรู้จักอยู่เพียงไม่กี่เมืองเท่านั้น

รายงานข่าวระบุว่า อินเดียเป็น 1 ใน 12 ประเทศที่มีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับไทยนับจากปี 2547 โดยล่าสุดในปี 2560 มูลค่าการส่งออกไปยังอินเดีย 6.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และยานยนต์ เป็นต้น