พริษฐ์ เผย ปชน.เตรียม 30 ขุนพลชำแหละแก้รัฐธรรมนูญ ไม่หวั่นญัตติยื่นศาลรธน. บอกสิ่งที่ทำอยู่เป็นไปตามคำวินิจฉัย

พริษฐ์ เผย ปชน.เตรียม 30 ขุนพลชำแหละแก้รัฐธรรมนูญ ไม่หวั่นญัตติยื่นศาลรธน. บอกสิ่งที่ทำอยู่เป็นไปตามคำวินิจฉัย บอก แม้ถูกตีตกจะหาทางผลักดันให้สำเร็จให้ได้ จี้นายกฯแสดงท่าทีเรื่องนี้

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 11 ก.พ.2568 ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน (ปชน.) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมมาตรา 256 และหมวด 15/1 ในวันที่ 13-14 ก.พ.ว่า มีความสำคัญ 2 ด้านคือ เป็นโอกาสสำคัญที่เราจะเข้าใกล้สู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากที่สุด นับตั้งแต่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาในปี 2564

ที่ผ่านมา คณะกรรมการของประธานสภาฯ ไม่เคยบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมมาก่อน และอีกหนึ่งความสำคัญคือหากรัฐสภาไม่มีมติเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ก็ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ที่เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันการเลือกตั้งในครั้งหน้า

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า วาระการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช่เป็นแค่ข้อเรียกร้องของพรรคแกนนำฝ่ายค้าน หรือเป็นนโยบายของพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เคยแถลงไว้ต่อรัฐสภา

ตนจึงคิดว่าบุคคลที่ควรมีส่วนสำคัญที่จะพยายามช่วยผลักดันให้วาระดังกล่าวสำเร็จคือนายกฯ แต่ที่ผ่านมานายกฯกลับไม่เคยสื่อสารเรื่องนี้ในที่สาธารณะ นอกจากนี้ ยังเห็นว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาประกบมีเพียงของพรรคเพื่อไทย ฉะนั้น ในอีก 2-3 วันนี้อยากเห็นบทบาทของนายกฯ เข้ามาผลักดันวาระดังกล่าวให้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า วันนี้เป็นการประชุมครม. ครั้งสุดท้ายก่อนพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็หวังว่าจะมีสัญญาณอะไรออกมา ส่วนที่มีสว.บางคนออกมาให้สัมภาษณ์เหมือนกับรัฐสภาไม่สามารถที่จะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้

หากไปเปิดดูคำวินิจฉัยเมื่อปี 2564 จะเห็นย่อหน้าสุดท้ายระบุว่ารัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ หรือบางคนอาจจะบอกว่าแม้รัฐสภาจะสามารถจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ก็ต้องทำประชามติ ก่อนพิจารณาในวาระที่ 1 ตนต้องบอกว่าแม้รัฐสภาจะมีมติเห็นชอบแต่ก็ไม่ได้นำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันที แต่ต้องมีการทำประชามติก่อนหลังวาระ 3 ตามมาตรา 256 (8) และหลังจากที่ทำรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วก็จะต้องมีการทำประชามติอีกรอบ

เมื่อถามว่า พรรคประชาชนเตรียมความพร้อมในการอภิปรายอย่างไร นายพริษฐ์ กล่าวว่า เราพยายามเต็มที่สื่อสารกับสังคมและสมาชิกรัฐสภาเพื่อคลายทุกข้อสงสัย โดยเราจัดทัพคนที่จะอภิปรายไว้ประมาณ 30 คน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 โจทย์คือ

โจทย์ที่หนึ่งจะอธิบายให้เห็นชัดว่าทำไมควรต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือทำไมรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จึงมีปัญหา โจทย์ที่สองคือ เราเสนอจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไร และโจทย์ที่สามคือ จะอภิปรายให้คลายข้อสงสัยและข้อกังวลระหว่างการอภิปราย

“แม้เราจะคาดการณ์การลงมติล่วงหน้าไม่ได้ แต่เมื่อเทียบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยเคยเสนอเมื่อปี 2563 และที่ประชุมรัฐสภามีมติรับหลักการไปแล้ว และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีการพิจารณาในวันที่ 13-14 ก.พ.นี้ เราจะเห็นว่ามีเนื้อหาสาระที่สอดคล้องกัน ไม่ได้มีการเสนอเนื้อหาอะไรที่เกินเลยไปกว่าที่เคยเสนอเมื่อปี 2563 เลย อย่างไรก็ตาม เรายินดีรับฟังทุกข้อทักท้วงและชี้แจงทุกข้อสงสัย” นายพริษฐ์ กล่าว

เมื่อถามว่าหากวันที่ 13-14 ก.พ.นี้ ดังกล่าวไม่ผ่านหรือมีการเสนอญัตติส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ พรรค ปชน.จะทำอย่างไรต่อ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ต้องรอดูวันนั้น หากมีการเสนอญัตติให้ส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญก่อน ตนก็จะอภิปรายว่าไม่เห็นด้วย

ยืนยันว่าสิ่งที่เราทำอยู่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทุกอย่าง รวมถึงเราต้องถามกลับไปว่าคนที่จะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญนั้นคาดหวังที่จะได้รับผลอะไร อย่างไรก็ตาม แม้จะลงมติแล้วไม่ผ่าน พรรค ปชน.คงจะต้องมีการหาแนวทางต่อไปในการผลักดันที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่คำถามนี้ก็ควรที่จะทำรัฐบาลด้วย เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลเช่นกัน

เมื่อถามว่าห่วงหรือไม่เพราะวันดังกล่าว จะมีมวลชนมาปักหลักรอติดตามการพิจารณาในสภาด้วย นายพริษฐ์ กล่าวว่า การที่ประชาชนมาแสดงออกหรือชุมนุมอย่างสันตินั้น เป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยอยู่แล้ว แน่นอนว่าอาจมีประชาชนที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เราจะจัดทำ แต่เราก็ยินดีรับฟังทุกเสียง

ขอให้สมาชิกรัฐสภารับฟังทุกเสียงด้วย ถือเป็นเรื่องปกติที่ประชาชนที่ให้ความสำคัญกับวาระที่พิจารณาในสภา อาจจะมาแสดงออกและดูว่ารัฐสภาคิดเห็นอย่างไร