สว.พันธุ์ใหม่ เรียกร้อง สมาชิกวุฒิสภา ร่วมโหวตวาระแรก แก้รธน. มองหากเสียงไม่ถึง คงไม่ต่างจากชุดคสช.

สว.พันธุ์ใหม่ เรียกร้อง สมาชิกวุฒิสภา ร่วมโหวตวาระแรก แก้รธน. มองหากเสียงไม่ถึง คงไม่ต่างจากชุดคสช. จี้ นายกฯ แสดงจุดยืนสนับสนุน ย้ำเป็นไปตามระบบนิติบัญญัติ

เมื่อวันที่ 10 ก.พ 2568 ที่รัฐสภา กลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ นำโดย น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. กล่าวถึงประชุมร่วมกันของรัฐสภา วาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 เพื่อเปิดทางให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในวันที่ 13-14 ก.พ.นี้ว่า เป็นครั้งแรกที่ประธานรัฐสภาได้บรรจุลงระเบียบวาระ ซึ่งเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกระบวนการที่ถูกต้อง และเป็นที่สนใจของสังคม

น.ส.นันทนา กล่าวว่า เราเห็นด้วยกับการทำประชามติ 2 ครั้ง คือครั้งแรก ภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 โดยให้ประชาชนลงมติว่าเห็นด้วยกับวิธีการที่จะได้มาซึ่งสมาขิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือไม่ และเมื่อ ส.ส.ร.ร่างเสร็จเรียบร้อย จึงจัดประชามติครั้งที่ 2 เพื่อถามประชาชนว่ารับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่

ย้ำว่า การทำประชามติ 2 ครั้ง จะทำให้เราได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมาจากประชาชน และไม่สิ้นเปลืองประมาณจนเกินไป เราเห็นด้วยกับกับการลดอำนาจของ สว.ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีที่มาจากการเลือกกันเอง แตกต่างจาก สส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จึงควรให้น้ำหนักหลักอยู่ที่ สส.

ส่วนที่ สว.ตกเป็นจำเลยของสังคม เพราะการจะแก้รัฐธรรมนูญได้นั้น ต้องใช้เสียง สว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และหาก สว.ไม่ยอมโหวตให้ การแก้รัฐธรรมนูญก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งสังคมจะมองไม่ต่างอะไรจาก สว. 250 คน ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ตั้งขึ้นมา แล้ว สว.ชุดนี้ จะหวงอำนาจไว้กับตัวเองเพื่ออะไร

เราจึงอยากเชิญชวน สว. ที่มีจิตวิญญาณประชาธิปไตย มาร่วมโหวต เพื่อผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปด้วยกัน ให้เราได้กติกาตามประชาธิปไตย ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากประชาชน และเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

เราเรียกร้องให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เนื่องจากในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา นายกฯเคยพูดว่า ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นมรดกของ คสช. รวมถึงประชาชนทุกคนที่รู้สึกได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และไม่พอใจการทำงานขององค์กรอิสระ ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน

ส่วนข้อเสนอให้มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความตามมาตรา 210 นั้น เรายืนยันว่าการบรรจุลงระเบียบวาระ เป็นการปฏิบัติตามกระบวนการนิติบัญญัติที่ถูกต้อง ไม่มีอะไรที่ผิดปกติ และไม่มีอะไรที่ทำให้การกระทำตรงนี้ไม่ถูกต้อง เพราะหากเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ประธานรัฐสภาคงไม่บรรจุลงระเบียบวาระ