ทปอ.เชื่อมั่นคุณภาพบัณฑิต ราชภัฎ-ราชมงคล-เอกชน รุดหารือภาคธุรกิจพัฒนาขีดสามารถ

ทปอ. เผย 4 แนวทางผลักดันขีดความสามารถเด็กไทย เสนอองค์กรธุรกิจหนุนทุนการศึกษา-งบวิจัย พร้อมชวนเข้ามาร่วมพัฒนาหลักสูตรผลิตบัณฑิต พร้อมโชว์คุณภาพบัณฑิตไทยทุกสถาบัน ในงาน University Expo 2018

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) พร้อมด้วยประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ประธานคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และนายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย เข้าพบประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกันหารือแนวทางพัฒนาบัณฑิตจากสถาบันอุดมศึกษาไทยทั่วประเทศ ให้มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ สอดรับตามความต้องการของภาคเอกชนและองค์กรธุรกิจชั้นนำ เสนอ 4 แนวทางทำงานร่วมเพื่อผลักดันขีดความสามารถเด็กไทย ได้แก่ 1. การขยายความร่วมมือในการรับนักศึกษาเข้าฝึกงานในองค์กรธุรกิจเครือข่ายสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยระหว่างเรียน 2. การสนับสนุนให้ทุนนักศึกษาและลงทุนวิจัยกับมหาวิทยาลัยทุกแห่ง โดยผู้สนับสนุนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 200% ตามกฎหมาย 3. การมีส่วนร่วมของเอกชนในการพัฒนาหลักสูตรที่ทันสมัยตามยุทธศาสตร์ชาติ และ 4. การเปิดโอกาสให้บัณฑิตทุกคนได้มีโอกาสสมัครงานโดยเท่าเทียมกัน

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทปอ. เร่งดำเนินการขยายเครือข่ายความร่วมมือครอบคลุมสถาบันการศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศไทย ตามนโยบาย “ทปอ. พลัสพลัส” โดยประสานการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย   ราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และมหาวิทยาลัยเอกชน เพื่อร่วมกันวางกรอบนโยบายและแผนงานพัฒนาคุณภาพบัณฑิตไทย ให้มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ สอดรับตามความต้องการของภาคเอกชนและองค์กรธุรกิจชั้นนำ โดยล่าสุดในวันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2561) ตนในฐานะประธาน ทปอ. พร้อมด้วย ผศ.ดร.เรืองเดช  วงศ์หล้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม ในฐานะที่ปรึกษานายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ผศ.ดร.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้มีโอกาสร่วมหารือในประเด็นดังกล่าวกับ คุณกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

“การหารือในวันนี้ทำให้ทราบว่าปัจจุบันสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยนั้น ได้มีโครงการสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาในหลายด้าน โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับสภาหอการค้าจังหวัด ในการเปิดรับนักเรียนเข้าฝึกงานและสนับสนุนการศึกษาวิจัย ที่สอดคล้องกับความต้องการและทิศทางการพัฒนาท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนนักศึกษาและประเทศชาติเป็นอย่างมาก” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินงานหลักจากนี้เป็นระบบและรูปธรรมยิ่งขึ้น ซึ่งจะสะดวกต่อการหารือและทำงานสอดประสานกันได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น ทปอ. ได้เสนอ 4 แนวทางในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อผลักดันขีดความสามารถบัณฑิตไทย ให้มีมาตรฐานเดียวกัน ได้แก่

  1. การขยายความร่วมมือในการรับนักศึกษาเข้าฝึกงานในองค์กรธุรกิจเครือข่ายสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยระหว่างศึกษาเล่าเรียน โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงระยะเวลาฝึกงานก่อนจบการศึกษาในชั้นปีที่ 4 เพื่อเปิดโอกาศในการสั่งสมประสบการณ์ความรู้และทักษะแก่นักศึกษา ให้พร้อมสำหรับการฝึกงานจริงและสามารถปฏิบัติงานได้ทันทีเมื่อจบการศึกษา

  1. การสนับสนุนให้ทุนนักศึกษาและลงทุนวิจัยกับมหาวิทยาลัยทุกแห่งโดยผู้สนับสนุนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 200% ซึ่งในเรื่องนี้ถือว่ามาสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะงบประมาณสนับสนุนการศึกษาที่ได้รับเพิ่มเติมนั้น ถือเป็นสิ่งที่สามารถนำไปพัฒนาขีดความสามารถของเด็กได้โดยตรง โดยเฉพาะการสนับสนุนในเรื่องของการศึกษาวิจัยนวัตกรรมสมัยใหม่ ซึ่งหากมีการจัดทำฐานข้อมูลอย่างชัดเจนจะทำให้ทราบได้ว่า องค์กรธุรกิจมีความต้องการเทคโนโลยีและนวัตรกรรมอะไร สำหรับนำไปใช้กับองค์กรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงาน

  1. การมีส่วนร่วมของเอกชนในการพัฒนาหลักสูตรที่ทันสมัยตามยุทธศาสตร์ชาติในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาให้เท่าทันจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้น หากภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน จะทำให้มหาวิทยาลัยสามารถจัดสรรเนื้อหาวิชาและรูปแบบการเรียนการสอน ได้สอดรับและตรงกับความต้องการบุคลากรในสายงานต่างๆ ขององค์กรธุรกิจ ซึ่งในภาพรวมจะช่วยแก้ปัญหาการผลิตบัณฑิตไม่ตรงกับสายงาน และมีทักษะความเชี่ยวชาญได้ตรงกับทิศทางการพัฒนาประเทศชาติ

  1. การเปิดโอกาสให้บัณฑิตทุกคนได้มีโอกาสสมัครงานโดยเท่าเทียมกันปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศไทยมีความหลากหลาย มีความโดดเด่นเฉพาะด้าน และมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน ดังนั้น การขยายการทำงานที่ครอบคลุมของ ทปอ. ตามนโยบาย ทปอ.พลัสพลัส จะยิ่งเป็นการการันตีถึงคุณภาพของบัณฑิตไทยทั่วประเทศ ไม่ว่าจะจบการศึกษาจากสถาบันใดก็ตาม

ทั้งนี้ ในเดือนมีนาคม 2561 ระหว่างวันที่ 2 – 4 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ได้จัดงาน University Expo 2018 มหกรรมอุดมศึกษา พลังขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ณ พารากอนฮอลล์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษาไทย โดยความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งจะมีการนำเสนองานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมฝีมือนักศึกษา เพื่อตอกย้ำคุณภาพของบัณฑิตไทยจากทุกสถาบันการศึกษา ไม่เฉพาะมหาวิทยาลัยในเครือข่าย ทปอ. เพียงเท่านั้น แต่ยังมีผลงานจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และมหาวิทยาลัยเอกชน ร่วมจัดแสดงด้วย โดยทุกสถาบันการศึกษาถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติ ทั้งในด้านการผลิตกำลังคน การสร้างงานวิจัยและค้นคว้านวัตกรรมใหม่ๆ และการให้บริการองค์ความรู้ทางวิชาการแก่สังคม ซึ่งในภาพรวมสามารถช่วยสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า สอดรับยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างสมบูรณ์และเป็นรูปธรรม