เผยแพร่ |
---|
ณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 1 จังหวัดสมุทรสาคร โพสต์ถึง “ผลการปรึกษาหารือประเด็นแรงงานต่างด้าว ได้รับการตอบรับจาก 4 หน่วยงานแล้ว” ว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาความท้าทายที่สำคัญของพื้นที่ และเข้าใจดีว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และมีหลากมิติที่ต้องคิดไปพร้อม ๆ กัน ผมจึงได้นำปัญหาของพี่น้องประชาชนในประเด็นเกี่ยวกับ ‘แรงงานต่างด้าว’ เข้าไปเป็นปากเป็นเสียง หารือในรัฐสภา เพื่อให้รัฐบาลทราบถึงปัญหา ซึ่งได้ปรึกษาหารือไป เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 ว่า
“ก่อนอื่นต้องบอกว่าผมเคารพในสิทธิมนุษยชนและพหุวัฒนธรรม แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเน้นย้ำถึงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาต่างด้าวจากการลงพื้นที่ มีประชาชนจำนวนมากพูดถึงปัญหานี้ จึงกังวลว่านี่อาจเป็น “ระเบิดเวลา” ที่ส่งผลกระทบต่อจังหวัดสมุทรสาครและพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ชาวต่างด้าวบางกลุ่มเข้ามาประกอบอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทยตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในขณะนี้ เรื่องนี้เป็นระเบิดเวลา หากรัฐบาลนิ่งเฉย ๆ ไม่ดำเนินการอะไร จะก่อให้เกิดปัญหาที่ใหญ่ขึ้น และมีปัญหาอื่นตามมามากมาย ซึ่งกรณีปัญหาต่างด้าว มีหลากหลายมิติด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น มีการแย่งประกอบอาชีพสงวนของคนไทย เช่น การเปิดร้านขายของ การมาเปิดร้านตัดผม ในหลากหลายพื้นที่ ซึ่งกระทบกับประชาชนคนไทยผู้มีรายได้น้อย ทั้งนี้ ตราบใดที่กฎหมายยังเป็นเช่นนี้ก็คงต้องดำเนินการ ไม่ปล่อยปะละเลย”
“อย่างไรฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกวดขันดูแลเรื่องนี้ด้วยครับ ปฏิเสธไม่ได้อย่างธุรกิจของสมุทรสาคร แล้วก็ธุรกิจจำนวนมากหลาย ๆ พื้นที่ ขาดแรงงานต่างด้าวไม่ได้ ถ้าขาดก็คงจะทำให้ธุรกิจหลายธุรกิจแย่แน่นอนเพราะจะขาดแรงงาน เพราะแรงงานบางประเภทคนไทยก็ไม่เลือกที่จะทำกันแล้ว แต่ทั้งนี้ภาครัฐต้องมาคุยกันว่าตัวเลขที่ต้องการแรงงานจริง ๆ นั้น มีเท่าไร แล้วพื้นที่แต่ละพื้นที่รองรับได้เท่าไร แล้วนำเข้าสู่ระบบที่สะดวกและง่ายแต่รัดกุม เพื่อนำไปสู่การเข้าระบบจัดเก็บภาษี รวมไปถึงการลดขั้นตอนอุปสรรคต่าง ๆ ของการจดทะเบียนแรงงานให้ถูกกฎหมาย หากเกินกว่านี้คือ ไม่รับ และต้องนำมาคำนวณในการออกแบบบริการสาธารณะในพื้นที่ด้วย เพื่อทำให้เกิดบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ให้กับคนไทย ต้องไม่ลดมาตรฐาน ไม่ช้าจากสาเหตุที่มีผู้มาใช้บริการมาก จากการรองรับคนต่างด้าว“
“ยกตัวอย่าง เช่น โรงพยาบาลรัฐ ไม่เช่นนั้นประชาชนคนไทยก็จะรู้สึกว่าบริการเกินศักยภาพ ต้องมารอนาน หากออกแบบบริการสาธารณะและการจัดสรรงบประมาณคำนึงถึงจำนวนคนต่างด้าว รวมถึงประชากรแฝงเหล่านี้ที่อยู่ในระบบ แล้วมีการจ่ายภาษีก็จะไม่เกิดปัญหาการแย่งใช้ทรัพยากร ซึ่งหากเกิดปัญหาเรื่องการแย่งใช้ทรัพยากร ก็จะกลายเป็นความขุ่นข้องหมองใจของคนในพื้นที่ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม”
“ดังนั้น ขอให้นายกรัฐมนตรีรวมถึงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ช่วยมาลงพื้นที่แล้วหาทางแก้ไข ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว มองทั้งระบบ เพื่อจะทำให้ปัญหานี้ไม่กลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ในการที่จะเกิดปัญหาในอนาคต ขอให้พิจารณาการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนด้วยครับ”
หลังการปรึกษาหารือ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานสภาฯ ได้ดำเนินการตามข้อหารือของผม โดยส่งหนังสือสรุปข้อหารือไปยัง 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ล่าสุด ผมได้รับหนังสือตอบกลับจากทั้ง 4 หน่วยงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้แก่ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์
โอกาสนี้ ผมจึงขอนำผลการดำเนินการตามข้อปรึกษาหารือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารายงานให้พี่น้องประชาชนรับทราบ ดังนี้
1. หนังสือตอบกลับจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “…มอบหมายรองนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกำกับติดตามการดำเนินการข้อปรึกษาหารือของนายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งเรื่องไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาโดยตรงแล้ว”
2. หนังสือตอบกลับจากกระทรวงแรงงาน ได้ตอบกลับในสองประเด็น ดังนี้ คำตอบ 1) ประเด็นการแย่งประกอบอาชีพสงวนของคนไทย เช่น การเปิดร้านขายของ การเปิดร้านตัดผมในหลากหลายพื้นที่ – มีการตอบกลับ ใจความตอนหนึ่งว่า…ตาม พ.ร.ก.บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หากพบการกระทำความผิด พนักงานเจ้าหน้าที่จะส่งผู้กระทำผิดให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้ดำเนินคดี และได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันปัญหาแรงงานต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทย โดยเพิ่มความเข้มงวดกวดขันในการตรวจสอบคนต่างด้าวที่เข้ามาและลักลอบทำงานประกอบอาชีพสงวนของคนไทย และได้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในการตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว นายจ้าง/สถานประกอบการ และดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดกฎหมายในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวอย่างเคร่งครัด รวมทั้งยังให้ความสำคัญในเชิงป้องกันกลุ่มทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในลักษณะให้คนไทยเป็นนอมินี โดยมีการบูรณาการและประสานข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น
คำตอบ 2) ประเด็นการคำนวณสัดส่วนจำนวนแรงงานต่างด้าวที่พื้นที่รองรับได้ การนำเข้าสู่ระบบจัดเก็บภาษี และการลดขั้นตอนอุปสรรคต่าง ๆ ของการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย – มีการตอบกลับ ใจความตอนหนึ่งว่า…กระทรวงแรงงานได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ รง 0316.5/1893 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2567 เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา เรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2567 ซึ่งประกอบด้วย 1) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และ 2) การต่ออายุใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวที่ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางตามมติคณะรัฐมนตรีที่ได้รับอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ในลักษณะ MOU
โดยการดำเนินการตาม 1) จะเป็นในส่วนของการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ และการดำเนินการตาม 2) เป็นการผ่อนผันให้คนต่างด้าวที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 หากประสงค์จะทำงานต่อไป สามารถดำเนินการขออนุญาตทำงานในลักษณะ MOU โดยจะได้รับอนุญาตให้ทำงานได้อีก 2 ปี ซึ่งการดำเนินการตาม 1) และ 2) มีการกำหนดขั้นตอนการดำเนินการให้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยนายจ้างสามารถยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวและยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับคนต่างด้าวสามารถเลือกประกันสุขภาพกับกระทระทรวงสาธารณสุขหรือบริษัทประกันภัยตามกฎหมายประกันวินาศภัยซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลการประกันสุขภาพกับกรมการจัดหางานตามความประสงค์ และเมื่อได้รับอนุญาตทำงานแล้วจะสามารถพิมพ์เอกสารรับรองเป็นหลักฐานแสดงต่อเจ้าหน้าที่ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเป็นหลักฐานแสดงต่อเจ้าหน้าที่และดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้ จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและอนุบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวข้องมีผลใช้บังคับ ซึ่งเมื่อการดำเนินการดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะสามารถแก้ไขข้อขัดข้องที่เกี่ยวกับการขาดแคลนแรงงานของนายจ้าง/สถานประกอบการ และทำให้คนต่างด้าวอยู่ในระบบการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งช่วยลดปัญหาแรงงานต่างด้าวหลุดจากระบบการจ้างงานที่ถูกต้อง ตลอดจนทำให้หน่วยงานภาครัฐสามารถควบคุมและดูแลคนต่างด้าวดังกล่าวให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
3. หนังสือตอบกลับจากกระทรวงสาธารณสุข มีเนื้อหาดังนี้ “กระทรวงสาธารณสุข ขอเรียนว่า รับทราบข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ จะนำมาพิจารณาในการแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขในระยะสั้นและระยะยาวทั้งระบบต่อไป”
4. หนังสือตอบกลับจากกระทรวงพาณิชย์ ทางกระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจนักลงทุนต่างชาติ/คนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เป็นผู้ตอบข้อปรึกษาหารือ โดยทางกองธรรมาภิบาลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ตอบกลับใน 2 ประเด็น ดังนี้ 1) พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมประกอบกับประกาศแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมการจัดหางงาน กระทรวงแรงงาน ได้กำหนดให้อาชีพช่างตัดผมเป็นอาชีพสงวนของคนไทยเท่านั้น และการทำงานในประเทศ คนต่างด้าวต้องมีใบอนุญาตทำงาน (work permit) และทำงานตามสิทธิเท่านั้น หากฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับ 5,000-50,000 บาท และเมื่อชำระค่าปรับแล้ว ให้ส่งคนต่างด้าวผู้นั้นกลับนอกราชอาณาจักรโดยเร็ว
2) พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เป็นกฎหมายที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการคุ้มครองการประกอบธุรกิจของคนไทย และสนับสนุนให้คนต่างด้าวเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการแข่งขันทางการค้าในการประกอบธุรกิจ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอันจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย กรณีคนต่างด้าวจำหน่ายสินค้าในร้านขายของชำ หรือเปิดร้านตัดผม จะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการก่อนจึงจะสามารถประกอบธุรกิจได้ ทั้งนี้ หากพบเบาะแสคนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือฝ่าฝืนกฎหมายสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อจับกุมคนต่างด้าวที่กระทำความผิดได้ทันที เนื่องจากความผิดดังกล่าวเป็นคดีอาญาแผ่นดินซึ่งรัฐเป็นผู้เสียหาย
จากการตอบกลับของทั้ง 4 หน่วยงาน ผมจะติดตามเรื่องนี้ต่อไป เพื่อให้แน่ใจว่าได้มีการปฏิบัติให้เกิดผล ตามที่หน่วยงานได้ชี้แจง เพราะผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ของจังหวัดสมุทรสาคร และจากการร่วมศึกษากับคณะทำงาน ภายใต้กรรมาธิการความมั่นคง ก็ได้ข้อสรุปว่า มีกฎหมายหลายข้อ จำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ จะได้นำร่างกฎหมายและข้อสังเกตมาเปิดรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ และภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อที่ในอนาคตอันใกล้ ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ จะได้นำเสนอแก้ไขกฎหมายต่อไปครับ