กรธ.ตั้ง 10 กก.นั่ง กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย อุดมชี้คว่ำทันทีทั้งฉบับ ปมไหน สนช.เสียงไม่ถึง 2 ใน 3

มติ กรธ. ตั้ง 10 กรรมการร่วมนั่ง กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย โต้แย้งเนื้อหา 2 กม.ลูก ‘อุดม’ชี้ถ้ากลับเข้า สนช.มีปมไหนเสียงไม่ถึง 2 ใน 3 คว่ำทันทีทั้งฉบับ

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงถึงการโต้แย้งเนื้อหาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า กรธ.ได้โต้แย้งใน 4 ประเด็นที่ผ่านวาระสามจากที่ประชุม สนช. ดังนี้ 1.การจำกัดสิทธิห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองสำหรับผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 2.การเปิดให้มีการจัดมหรสพระหว่างการหาเสียง 3.การขยายเวลาลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เป็นตั้งแต่ 07.00-17.00 น. และ 4.การให้เจ้าหน้าที่ช่วยผู้พิการกาบัตรลงคะแนนนั้น ซึ่ง กรธ.ก็เห็นว่า ทั้งหมดล้วนเป็นประเด็นปัญหาในเชิงเทคนิค ดังนั้น คงไม่ยากที่จะแลกเปลี่ยนความเห็นและทำให้เกิดข้อยุติได้ ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ทาง กรธ.ได้โต้แย้งใน 3 ประเด็นที่เห็นว่า ขัดแย้งกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 1.การแก้ไขกลุ่มอาชีพ 2.การแบ่งประเภทผู้สมัครเป็น 2 ประเภทโดยวิธีสมัครและคัดเลือกโดยองค์กร ซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการเลือก ส.ว.ตามกฎหมายนี้ และ 3.วิธีการเลือกไขว้ โดยเนื้อหาในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มีความเห็นที่แตกต่างกันมาก แต่ตนยังเชื่อว่า สนช.และ กรธ.จะมีโอกาสหารือกันว่า รัฐธรรมนูญประสงค์จะให้เกิดสิ่งใด และจะมีทางทำให้เจตนารมณ์เกิดขึ้นจริงได้

นายอุดมกล่าวต่อว่า ที่ประชุม กรธ.ยังมีมติเสนอชื่อกรรมการ กรธ.ให้ดำรงตำแหน่งใน กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายจำวน 2 ชุด คือ ชุดร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกอบด้วย 1.พล.อ.อัฏฐพร เจริญพานิช 2.นายภัทระ คำพิทักษ์ 3.ศุภชัย ยาวะประภาษ 4.นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง และ 5.นายนรชิต สิงหเสนี ส่วนกรธ.ที่จะร่วมเป็นกมธ.ร่วม 3ฝ่ายเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ประกอบด้วย 1.นายอัชพร จารุจินดา 2.นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ 3.นายปกรณ์ นิลประพันธ์ 4.นายอภิชาต สุขัคคานนท์ และตน โดยในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ ที่ประชุม สนช.จะตั้ง กมธ.ร่วม 3 กัน โดย กมธ.ร่วมจะต้องแล้วเสร็จภายใน 15 วันนับจากวันที่ที่ประชุม สนช.แต่งตั้ง อย่างไรก็ตาม สำหรับขั้นตอนภายหลังเสร็จสิ้นขั้นตอนของ กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย จะเป็นหน้าที่ของที่ประชุม สนช.ในการลงมติในประเด็นที่มีการโต้แย้งในแต่ละประเด็นว่า จะเห็นชอบหรือไม่ ถ้ามีประเด็นใดประเด็นหนึ่งที่ สนช.มีมติเสียงข้างมากไม่เห็นชอบเกิน 2 ใน 3 จะมีผลให้ร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวตกไปทั้งฉบับทั้งที