เผยแพร่ |
---|
ผลสำรวจเห็นว่า ควรยกเลิกอำนาจยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธินักการเมือง ของศาลรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 40.03
: ‘อาจารย์ธำรงศักดิ์โพล’
งานวิจัยส่วนบุคคลของ รองศาสตราจารย์ ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต เก็บข้อมูลแบบสอบถามจากคนทั้งประเทศ จำนวน 4,679 คน เก็บแบบสอบถามระหว่าง 5-15 ตุลาคม 2567 โดยนักศึกษาปริญญาตรี-โท-เอก คณะรัฐศาสตร์ และปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต 193 คน เก็บแบบสอบถามใน 55 จังหวัด
1.ข้อคำถามว่า
“ท่านคิดว่า ควรยกเลิกอำนาจยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธินักการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่”
ผลการวิจัยพบว่า (มี 4,664 คนตอบคำถามข้อนี้)
ควรยกเลิก ร้อยละ 48.03 (2,240 คน)
ไม่ควรยกเลิก ร้อยละ 20.8 (970 คน)
ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 31.17 (1,454 คน)
2.พิจารณารายภาค
เห็นว่าควรยกเลิกอำนาจยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธินักการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญ กรุงเทพ ร้อยละ 52.4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 50.2 ภาคเหนือ ร้อยละ 48.5 ภาคกลาง ร้อยละ 46.9 ภาคใต้ ร้อยละ 43.9
เห็นว่าไม่ควรยกเลิก ภาคใต้ ร้อยละ 23.8 กรุงเทพ ร้อยละ 22.3 ภาคกลาง ร้อยละ 20.5 ภาคเหนือ ร้อยละ 19 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 16.5
3.พิจารณาผลสำรวจที่เกี่ยวเนื่อง
3.1 ผลสำรวจ ธำรงศักดิ์โพล ที่จัดเก็บเมื่อเมษายน 2566 ใน 57 จังหวัด จำนวน 4,588 คน
เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับ คสช. 2560 “เป็นเผด็จการ” ร้อยละ 56.80
เห็นว่ามีความ “เป็นประชาธิปไตย” ร้อยละ 12.96
ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 30.24
3.2 ผลสำรวจ ธำรงศักดิ์โพล ที่จัดเก็บเมื่อตุลาคม 2567 ใน 55 จังหวัด จำนวน 4,679 คน
เห็นว่า ควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แทนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันปี 2560 ที่เกิดจากกระบวนการรัฐประหาร คสช. ร้อยละ 61.17
ไม่ควรจัดทำฉบับใหม่ ร้อยละ 9.8
ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 29.03
3.3 ผลสำรวจ ธำรงศักดิ์โพล ที่จัดเก็บเมื่อเมษายน 2567 ใน 47 จังหวัด จำนวน 4,290 คน คำถามว่า ท่านเห็นด้วยกับการยุบพรรคก้าวไกลหรือไม่
เห็นด้วยกับการยุบพรรคก้าวไกล ร้อยละ 10.86
ไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคก้าวไกล ร้อยละ 68.58
ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 20.56
- ประวัติศาลรัฐธรรมนูญฉบับย่อ
รัฐธรรมนูญไทยเริ่มต้นปี 2475 ด้วยการให้ที่ประชุมสภามีอำนาจในการพิจารณาตีความแห่งรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2489 ให้รัฐสภา (สส. และพฤฒสภา) ทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการตีความแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ให้มี “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” มาจากการเลือกของที่ประชุมรัฐสภาที่มาจากเลือกตั้งโดยประชาชน รวม 15 คน วินิจฉัยตีความประเด็นปัญหารัฐธรรมนูญ และ “ให้ถือเป็นเด็ดขาดและให้ศาลปฏิบัติตามนั้น” (ม.86-89)
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มี “ศาลรัฐธรรมนูญ” เป็นองค์กรที่มาจากการสรรหาของวุฒิสภาที่มาจากเลือกตั้งแบบห้ามหาเสียง มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยตีความประเด็นปัญหารัฐธรรมนูญ ยุบพรรคการเมือง และตัดสิทธินักการเมือง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ (ม.255-270) เป็นองค์กรที่มีอำนาจเหนือสถาบันทางการเมืองอื่นๆ
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร คสช. 2557 ทั้งสิ้น
ข้อมูลพื้นฐานของผู้ตอบแบบสอบถาม (ตุลาคม 2567)
เพศ : หญิง 2,445 คน (52.26%) ชาย 2,042 คน (43.64%) เพศหลากหลาย 192 คน (4.10%)
อายุ : Gen Z (18-27 ปี) 2,368 คน (50.61%) Gen Y (28-44 ปี) 1,153 คน (24.64%) Gen X (45-59 ปี) 818 คน (17.48%) Gen Baby Boomer ขึ้นไป (60 ปีขึ้นไป) 340 คน (7.27%)
การศึกษา : ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า 416 คน (8.89%) มัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า 1,194 คน (25.52%) อนุปริญญาหรือเทียบเท่า 531 คน (11.35%) ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 2,315 คน (49.47%) สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 223 คน (4.77%)
อาชีพ : นักเรียนนักศึกษา 1,978 คน (42.27%) เกษตรกร 318 คน (6.80%) พนักงานเอกชน 550 คน (11.75%) รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน 418 คน (8.93%) เจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ 601 คน (12.85%) ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 441 คน (9.43%) พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน 224 คน (4.79%) อื่นๆ 149 คน (3.18%)
รายได้ต่อเดือน : ไม่มีรายได้ 1,168 คน (24.96%) รายได้ไม่เกิน 10,000 บาท 1,034 คน (22.10%) รายได้ 10,001-20,000 บาท 1,229 คน (26.27%) รายได้ 20,001-30,000 บาท 627 คน (13.40%) รายได้ 30,001- 40,000 บาท 257 คน (5.49%) รายได้ 40,001 บาทขึ้นไป 364 คน (7.78%)
เขตที่อยู่อาศัย : อบต. 1037 คน (22.16%) เทศบาลตำบล 1316 คน (28.13%) เทศบาลเมือง 767 คน (16.39%) เทศบาลนคร 230 คน (4.91%) กรุงเทพมหานคร 1,229 คน (26.27%) เมืองพัทยา 100 คน (2.14%)
#รัฐธรรมนูญ #รัฐธรรมนูญ2560 #ศาลรัฐธรรมนูญ #ยุบพรรคการเมือง