เผยแพร่ |
---|
- ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ประกาศกฎอัยการศึก แบบกะทันหันช็อกคนทั้งโลก
- เหตุผลช่วงแรก เพื่อป้องกันภัยคุกคามเกาหลีเหนือ อ้างว่าฝ่ายค้านมีคนหนุนเกาหลีเหนือ มีการพยายามนำกำลังทหารมาปิดทางเข้ารัฐสภา แต่มีประชาชนออกมาต่อต้าน
- ฝ่ายค้านซึ่งครองเสียงข้างมาก ประกาศสู้ รวมตัวกันที่สภายกมือเลิกกฏอัยการศึกในชั่วโมงถัดมา
- สมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้านยื่นญัตติถอดถอนประธานาธิบดี คาดเป็นช่วงปลายสัปดาห์นี้
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า นายยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ประกาศกฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม โดยกล่าวหาฝ่ายค้านของเกาหลีใต้ที่ควบคุมสภาอยู่ อ้างว่า มีความเห็นอกเห็นใจเกาหลีเหนือ และทำให้รัฐบาลหยุดนิ่ง ด้วยการต่อต้านการทำงานของรัฐ
นายยุน ออกแถลงการณ์ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ ประกาศจะกำจัดกองกำลังที่สนับสนุนเกาหลีเหนือ และปกป้องประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เพื่อปกป้องเสรีนิยมของเกาหลีใต้จากภัยคุกคามของกองกำลังคอมมิวนิสต์ของเกาหลีเหนือ และเพื่อกำจัดกลุ่มต่อต้านรัฐบาล จึงขอประกาศกฎอัยการศึกขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า การประกาศดังกล่าวจะส่งผลต่อการปกครองและประชาธิปไตยของประเทศอย่างไร
ทั้งนี้ นายยุน ซอกยอล ได้ประกาศกฎอัยการศึกและสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ โดยแถลงผ่านทางสถานีโทรทัศน์ในช่วงกลางดึกโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า
วันนี้เอง มีรายงานว่าพรรคฝ่ายค้านเกาหลีใต้ DPK ซึ่งครองเสียงข้างมากในสภา ได้เรียกประชุมฉุกเฉินของสมาชิกสภานิติบัญญัติทันที โดยบีบีซี รายงานอ้างรายงานของสำนักข่าวยอนฮัประบุว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติยังไม่สามารถเข้าไปในอาคารรัฐสภาที่ยออิโด ในกรุงโซลได้ โดยมีภาพคลิปวิดีโอในโซเชียลมีเดียเผยให้เห็นภาพตำรวจเข้ามาประจำการแน่นหนาอยู่ภายนอกรัฐสภา
โดยมีรายงานผู้นำฝ่ายค้านเรียกร้องให้ประชาชนรวมตัวนอกรัฐสภา โดยต่างตะโกน “ไม่เอากฏอัยการศึก” ทั่วบริเวณ
ห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง
ด้านอัลจาซีร่า รายงานงาน พลเอก ปาร์ค อันซู ผู้บัญชาการกฎอัยการศึก ได้ประกาศมาตรการต่างๆ ภายใต้การประกาศกฎอัยการศึก รวมถึงการห้ามไม่ให้มีการทำกิจกรรมทางการเมืองทั้งหมด “รวมถึงกิจกรรมของรัฐสภา สภาท้องถิ่น พรรคการเมือง และสมาคมการเมือง ตลอดจนการชุมนุม และการเดินขบวน”
ห้ามการกระทำใดๆ ที่เป็นการพยายามล้มล้างระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม รวมถึงการเผยแพร่ข่าวปลอม การบิดเบือนความคิดเห็นสาธารณะ หรือการโฆษณาชวนเชื่อที่เป็นเท็จ”
ห้ามการหยุดงานของแรงงานทั้งหมด รวมถึง “การชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในสังคม”
สื่อทุกรูปแบบจะอยู่ภายใต้การควบคุมของกองบัญชาการกฎอัยการศึก ตามคำสั่งดังกล่าว
เจ้าหน้าที่ด้านการดูแลสุขภาพ รวมถึงแพทย์ที่กำลังนัดหยุดงาน จะต้องกลับมาทำงานภายใน 48 ชั่วโมง มิฉะนั้นอาจจะต้องถูกลงโทษ
“ผู้ที่ฝ่าฝืนประกาศนี้จะถูกจับกุม คุมขัง และตรวจค้นโดยไม่ต้องมีหมาย” ผู้บังคับบัญชา ระบุ
ทั้งนี้ ตามรายงานของสำนักข่าว Yonhap ผู้ที่ละเมิดกฎอัยการศึกอาจถูกจับกุมได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล
ฝ่ายค้านสู้กลับ-ยื่นถอดถอน
หลังประกาศกฏอัยการศึกได้เพียงไม่นาน สมาชิกรัฐสภาเกาหลีใต้ 190 คน จากยอดสมาชิกรัฐสภา 300 คน ได้ร่วมกันลงมติเพื่อระงับคำสั่งกฎอัยการศึกที่ประกาศโดยประธานาธิบดียุน ซอก ยอล แต่ถึงขณะนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าการลงคะแนนเสียงครั้งนี้จะส่งผลต่อการประกาศกฎอัยการศึกอย่างไร ตามกฎหมายของเกาหลีใต้ ประธานาธิบดีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามการลงคะแนนเสียงครั้งนี้
โดยเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.สมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้านในเกาหลีใต้ได้ยื่นญัตติถอดถอนประธานาธิบดียุนจากความพยายามที่ล้มเหลวของเขาในการบังคับใช้กฎอัยการศึกเมื่อช่วงดึกของวันอังคาร
ญัตติดังกล่าวยังคงต้องมีการอภิปรายก่อนลงมติ ซึ่งอาจเป็นในช่วงปลายสัปดาห์นี้
เมื่อมีการเสนอร่างกฎหมายถอดถอนแล้ว รัฐสภาเกาหลีใต้ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 300 คน จะต้องลงมติถอดถอนประธานาธิบดียุนอย่างน้อย 2 ใน 3 ซึ่งต้องลงมติอย่างน้อย 200 เสียง ขั้นตอนต่อไปคือ ประธานรัฐสภา วู วอนซิก จะต้องเปิดสมัยประชุมเพื่ออภิปรายญัตติดังกล่าว ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เร็วสุดภายใน 2 วัน
ประธานาธิบดีเป็ดง่อย (a lame duck president )
มีการวิเคราะห์กันว่า การประกาศกฏอัยการศึก เป็นการพยายามรวบอำนาจจากความอ่อนแอและความตกต่ำทางการเมืองของประธานาธิบดีเอง โดยนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2565 ยุนได้ประสบปัญหาในการผลักดันนโยบายต่างๆ เนื่องจากฝ่ายค้านครองเสียงข้างมากในรัฐสภา รวมถึงคะแนนนิยมในตัวประธานาธิบดียังลดต่ำลง
แถมยังมีข่าวอื้อฉาวของภรรยาประธานาธิบดี คิม กอน ฮี รับกระเป๋า Dior บาทหลวงชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี ที่เขาปฏิเสธข้อเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนอิสระ และเรื่องอื้อฉาวก่อนหน้านี้ที่ว่าคิม กอน ฮี ปลอมแปลงเอกสารวิชาชีพ ลอกวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก
ขณะที่พรรครัฐบาล ยังประสบภาวะชะงักงันในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.งบประมาณของรัฐบาลเกาหลีใต้อีกด้วย ทำให้สถานการณ์ขณะนี้ จะเรียกได้ว่าเขาเป็น ประธานาธิบดีเป็ดง่อย (a lame duck president ) ก็คงไม่เกินจริง
การประกาศกฏอัยการศึกครั้งสุดท้าย
ครั้งล่าสุดที่มีการประกาศกฏอัยการศึกคือเมื่อ 45 ปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2522 หลังจากการลอบสังหารประธานาธิบดีปาร์ค จุงฮี ครอบคลุมไปยังพื้นที่เมืองหลวงคือกรุงโซล และเมืองใหญ่อีกหลายเมืองเพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์ทางการเมืองที่วุ่นวาย
แต่ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2523 กองทัพเกาหลีใต้ นำโดยชุน ดูฮวาน ได้ขยายกฎอัยการศึกไปทั่วประเทศเพื่อรวบรวมอำนาจ เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดการลุกฮือเพื่อประชาธิปไตยที่กวางจู หรือที่เรียกอีกอย่างว่าการเคลื่อนไหว 18 พฤษภาคม ซึ่งมีพลเรือนเสียชีวิตจำนวนมากระหว่างการปราบปรามของกองทัพ
ด้าน รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อ.คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความแสดงความเห็นถึงการประกาศกฏอัยการศึกครั้งนี้ ระบุว่า
“สิ่งที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ไม่ใช่การรัฐประหารโดยกองทัพ แต่คือ การลุอำนาจของประธานาธิบดีที่กำลังเผชิญปัญหาคอร์รัปชั่นและคะแนนนิยมตกต่ำ จึงฉวยใ้ช้การประกาศกฎอัยการศึกเป็นเครื่องมือ หวังว่าจะปราบฝ่ายค้าน แต่ประชาธิปไตยเกาหลีใต้เดินมาไกลเกินกว่าจะถอยกลับไปง่ายๆ แล้ว”