“ศุภวุฒิ”ชี้เงินเฟ้อสหรัฐเสี่ยง ผวาลูกโซ่ศก.โลกฉุดส่งออก

ตลาดโลกผันผวนจับตานโยบายการเงินสหรัฐ “ศุภวุฒิ สายเชื้อ”กูรูเศรษฐศาสตร์ชี้โจทย์ใหญ่ “เงินเฟ้อ” สหรัฐพุ่ง ผวาเฟดขึ้นดอกเบี้ยใช้นโยบายการเงินตึงตัวกระทบลูกโซ่ถึงส่งออกไทย เศรษฐกิจไทยใน ปท.ยังไม่กระเตื้อง ตัวเลขจ้างงานลดต่ำสุด แถมมนุษย์เงินเดือน 40 ล้านคน รายได้ไม่ขยับ 3 ปี สวนทางตัวเลขจีดีพีโต

 

“เงินเฟ้อ” ปัจจัยเสี่ยงสหรัฐ

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัย กลุ่มการเงิน บริษัทเกียรตินาคินภัทร ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงประเด็นความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยที่ต้องติดตามในหลายประเด็น โดยเฉพาะปัจจัยภายนอกจากการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นสหรัฐตกใจจากตัวเลขการจ้างงานที่ดี และค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น 2.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อสหรัฐจะสูงขึ้น และคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดการณ์ ตลาดหุ้นตกเพราะการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้สภาพทางการเงินตึงตัวขึ้น ทำให้การทำธุรกิจยากขึ้น ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจและการทำธุรกิจระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม อีกกลุ่มก็มองว่าตลาดหุ้นสหรัฐตกเป็นการปรับฐานจากที่ราคาหุ้นสหรัฐแพงเกินไป เพราะปัจจุบัน P/E หุ้นสหรัฐอยู่ที่ 26 เท่า หากเทียบกับอดีตอยู่ที่เพียง 15-17 เท่าเท่านั้น ซึ่งถือว่าแพงขึ้นมาก แต่หากเป็นปัจจัยเศรษฐกิจสหรัฐที่ร้อนแรงเกินไป และรัฐบาลสหรัฐดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวก็จะกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลก

สหรัฐขึ้น ดบ.เอฟเฟ็กต์ส่งออก

นายศุภวุฒิกล่าวว่า สำหรับตลาดหุ้นไทยแน่นอนว่าตกตามตลาดหุ้นสหรัฐ เพียงแต่ไม่รุนแรงเท่า เพราะปัจจุบันสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติในตลาดหุ้นไทยลดลงไปมากแล้ว อย่างไรก็ตาม จากความผันผวนที่เกิดขึ้นในสหรัฐ จะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ แน่นอน เพราะการค้าทั่วโลกใช้ดอลลาร์เป็นสกุลเงินหลัก และเศรษฐกิจสหรัฐก็ถือเป็นเศรษฐกิจใหญ่

“ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายของสหรัฐในระยะต่อไป เพราะหากเป็นปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อ หรือเศรษฐกิจสหรัฐที่ร้อนแรง จนมีการขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด ก็จะทำให้สภาพการเงินของโลกตึง จะกระทบต่อดีมานด์คนทั้งโลก และย่อมกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

ทั้งนี้หากดูภาพเศรษฐกิจสหรัฐปัจจุบัน พบว่ามีการฟื้นตัวต่อเนื่องมากว่า 10 ปีแล้ว ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 และปีที่ผ่านมา สหรัฐดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายค่อนข้างมากทำให้สภาพคล่องในโลกสูง ปีที่ผ่านมามีการพูดกันว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวแบบยกแผง ทั้งสหรัฐ ยุโรป จีน แต่ถ้าสหรัฐดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวก็มีโอกาสลงแบบยกแผงได้เช่นกัน

นอกจากนี้การที่ตลาดหุ้นตกก็กระทบต่อความมั่งคั่ง อย่างสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดสหรัฐร่วงหนักก็กระทบความมั่งคั่งของทั่วโลกราว 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็จะกระทบต่อกำลังซื้อทั่วโลก ทำให้ตัวเลขส่งออกมีโอกาสเติบโตต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ได้ ทั้งนี้แบงก์ออฟอเมริกาพันธมิตรของภัทรฯ ประเมินส่งออกปีนี้ของไทยจะเติบโต 5%

จ้างงานลด-เงินเดือนนิ่ง 3 ปี

นายศุภวุฒิกล่าวต่อว่า สำหรับปีนี้ภัทรฯคาดการณ์การเติบโตของการขยายตัวเศรษฐกิจไทยที่ 3.8% เท่า ๆ กับปีที่ผ่านมา แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะไม่เป็นไปตามเป้า เพราะมีเรื่องเงินเฟ้อของสหรัฐเข้ามากระทบ เพราะปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวมาจากภาคส่งออก และท่องเที่ยวเป็นหลัก ไม่ได้ฟื้นตัวจากในประเทศ เห็นได้จากการส่งออกปีที่ผ่านมาเติบโตได้ 9% ซึ่งส่งออกมีผลต่อจีดีพีกว่า 60% ขณะที่ท่องเที่ยวมีผลถึง 12% โดยสองตัวนี้มีผลต่อจีดีพีถึง 72% แต่ปีนี้ปัจจัยเศรษฐกิจสหรัฐก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้ตัวเลขส่งออกไทยไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์

ขณะที่ภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน นายศุภวุฒิมองว่า ยังไม่มีอะไรแตกต่างจากปีก่อน คือยังโตได้จาก 2 ปัจจัยหลัก คือส่งออก และท่องเที่ยว เพราะปัจจัยในประเทศยังไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนแปลง การลงทุนภาครัฐส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในช่วงการประมูลเม็ดเงินยังไม่ลงไป

นอกจากนี้ตัวชี้วัดที่สำคัญ คืออัตราการจ้างงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ตัวเลขจีดีพีฟื้นตัว โดยหากดูจากข้อมูลสถิติย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2013-2017 พบว่าปี 2017 เป็นปีที่มีการจ้างงานต่ำที่สุด ภาพเศรษฐกิจไม่มีอะไรที่สะท้อนได้มากกว่าแรงงาน นอกจากนี้รายได้ของมนุษย์เงินเดือนราว 40 ล้านคนทั่วประเทศ พบว่าไม่ได้ปรับขึ้นมากว่า 3 ปี

“นี่คือเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลบอกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ถึงบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดี เพราะคนไทยส่วนใหญ่เป็นมนุษย์เงินเดือน ตัวเลขข้อมูลฟ้องว่ามนุษย์เงินเดือนเกือบ 40 ล้านคน หรือกว่าครึ่งของคนทั้งประเทศโดยเฉลี่ยรายได้ไม่เพิ่มขึ้นมา 3 ปีแล้ว แต่เศรษฐกิจที่โตขึ้นนั้นเป็นการเติบโตในส่วนของเจ้าของทุนเจ้าของธุรกิจ”

นายศุภวุฒิกล่าวว่า ข้อมูลของฝ่ายวิจัย บล.ภัทรฯพบว่าการจ้างงานของไทยในช่วงปี 2015-2017 ลดลงสุทธิ 5.56 แสนคน โดยภาคเกษตรลดลงมากสุดกว่า 6.72 แสนคน ภาคการผลิตยังหายไป 2.66 แสนคน รวมถึงภาครับเหมาก่อสร้าง หรือภาคการเงินที่มีแรงงานลดลงราว 1.4 หมื่นคน