เผยแพร่ |
---|
ผู้ช่วย รมต.กต. แจงยังไม่เคยมีการยกเลิก MOU44 ย้ำ เป็นกลไกเจรจารักษาประโยชน์ประเทศที่ดีที่สุด ซัดคนบิดเบือนไม่ปรารถนาดีต่อชาติ
นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงย้ำถึงความสำคัญ และความจำเป็นของ “บันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา ปี 2544” หรือ “MOU 44″ ดังนี้ 1.”MOU44” เป็นเพียงการกำหนดกรอบ และกลไกการเจรจาเกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ระหว่างไทย-กัมพูชา ที่เกิดขึ้นมากว่า 50 ปีแล้ว โดยให้เจรจากันทั้งเรื่องเขตทางทะเล และการแบ่งปันผลประโยชน์ในไหล่ทวีปไปพร้อม ๆ กัน
ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ โดยไม่ได้เป็นการยอมรับการอ้างสิทธิของอีกฝ่าย จนกว่าจะมีข้อยุติ โดย MOU44 เป็นเพียงการกำหนดกรอบกลไกในการเจรจา ซึ่งยังไม่มีผลของการเจรจาใด ๆ จึงยังไม่จำเป็นต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
2.หากท้ายที่สุด ผลของการเจรจาตาม MOU44 เมื่อมีข้อยุติ และมีบทสรุปแล้วนั้น จะต้องนำผลสรุปดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อให้ได้รับความเห็นจากรัฐสภาก่อน จึงจะมีผลในทางกฎหมาย ซึ่งหมายความว่า ผลการเจรจาใด ๆ ในเรื่องนี้ ประชาชนชาวไทย จะต้องให้ความเห็นชอบผ่านผู้แทน สส. และ สว.ก่อน ตามระบอบประชาธิปไตยที่ตรวจสอบได้
จึงจะมีผลบังคับทั้งเรื่องอธิปไตยของประเทศ และการนำทรัพยากรมูลค่ามหาศาลมาใช้ เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้ประเทศชาติ ซึ่งจะเป็นผลประโยชน์ต่อประชาชนทั้งหมด โดยไม่สามารถเป็นของใครบางคนได้ พร้อมยังย้ำว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยส่วนใหญ่ ล้วนยึดถือแนวทางตาม MOU44 นี้
ซึ่งแม้จะเคยมีมติคณะรัฐมนตรีในปี 2552 ให้ยกเลิกในหลักการ แต่ก็ขอให้ศึกษาผลดีและเสียให้รอบคอบเสียก่อน ซึ่งจากการศึกษาของหน่วยงานต่าง ๆ พบว่า MOU44 มีข้อดีมากกว่า
ต่อมาในปี 2557 คณะรัฐมนตรี จึงได้อนุมัติให้คง MOU44 ไว้ ดังนั้น จึงยังไม่เคยมีการยกเลิก MOU44 อย่างเป็นทางการจนถึงปัจจุบันแต่อย่างใด และ MOU44 จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของประเทศชาติ ในทั้งเรื่องเขตทางทะเล และการแบ่งปันผลประโยชน์ในไหล่ทวีป รวมทั้งการยกเลิก MOU44 ก็ไม่ได้ทำให้เส้นอ้างสิทธิของฝ่ายกัมพูชาหายไปแต่อย่างใด
3.”เกาะกูด” เป็นดินแดนของไทยที่แน่ชัดมาตั้งแต่ปี 2450 ตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสแล้ว ซึ่งไม่อาจเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้ และจะไม่มีการเจรจาใด ๆ ในประเด็นนี้ทั้งสิ้น และผู้ใดที่พยายามพูดบิดเบือนเป็นอย่างอื่น ถือได้ว่า ไม่มีความปราถนาดีต่อประเทศชาติ และประชาชนชาวไทย
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ยังเปิดเผยอีกว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้นั้น นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบคณะกรรมการทางเทคนิค (Joint Technical Committee) หรือ คณะกรรมการ JTC ตามขั้นตอน เพื่อเจรจากับ JTC ของทางกัมพูชาต่อไป… อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.khaosod.co.th/politics/news_9502774