เผยแพร่ |
---|
ศาลยกฟ้อง คดี ทายาทกรมพระยาชัยนาทฯ ฟ้อง ณัฐพล ใจจริง-ฟ้าเดียวกัน เรียก 50 ล้าน
เมื่อวันที่ 13 พ.ย. มีรายงานว่า ศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษา คดีที่ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ทายาทสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ฟ้องร้องนักวิชาการและบรรณาธิการรวมทั้งหมด 6 คน ในฐานความผิดละเมิด ไขข่าวด้วยข้อความฝ่าฝืนความจริง เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท
โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันได้เผยแพร่คำพิพากษา ระบุว่า ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่ ม.ร.ว. ปรียนันทนา รังสิต (โจทก์) ฟ้องณัฐพล ใจจริง ผู้เขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง “การเมืองไทยสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามฯ”, สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ผู้จัดพิมพ์หนังสือ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ” และ“ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี”, รวมถึงบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการหนังสือทั้งสองเล่มนี้ (รวมจำเลยทั้งหมด 5 คน) ในข้อหา “ละเมิดไขข่าวด้วยข้อความฝ่าฝืนความจริง” และเรียกค่าเสียหายจำนวน 50 ล้านบาท
ประเด็นแรก ข้อความในวิทยานิพนธ์และหนังสือ มิได้กล่าวพาดพิงโจทก์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของโจทก์และครอบครัว ทั้งเรื่องการรับรองรัฐประหาร 2490 และการเข้าแทรกแซงการเมืองสมัยจอมพล ป. ไม่มีความเกี่ยวข้องกับโจทก์ อันจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดในตัวโจทก์ อีกทั้งเมื่อกรมพระยาชัยนาทฯ สิ้นพระชนม์ก่อนแล้ว จึงเป็นการฟ้องที่กล่าวอ้างว่าเสียหายต่อผู้ที่ไม่มีสภาพบุคคลแล้วไม่ได้ แม้เป็นหลานของกรมพระยาชัยนาทฯ ก็ไม่ได้เสียหายต่อโจทก์ทายาทชั้นหลานด้วย
ข้อเท็จจริงตามเนื้อหาในหนังสือเป็นอย่างไร โจทก์ไม่ทราบและยังไม่เกิด ดังนั้น เมื่อข้อความในหนังสือไม่สื่อความหมายถึงโจทก์ ย่อมไม่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดในตัวโจทก์ซึ่งเป็นทายาทชั้นหลานได้
ประเด็นที่สอง ส่วนที่โจทก์เบิกความว่า มีการชุมนุมแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อกรมพระยาชัยนาทฯ โดยมีผู้นำสีแดงมาสาดใส่อนุสาวรีย์กรมพระยาชัยนาทฯ รวมถึงการชุมนุมกดดันให้ยกเลิกชื่อถนนอันเป็นนามวิภาวดีรังสิตตามภาพข่าว ก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นการชุมนุมปลุกระดมอันสืบเนื่องมาจากข้อความในวิทยานิพนธ์และหนังสือแต่อย่างใด จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเสียหายของโจทก์
ประเด็นที่สาม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อฟังว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไป
ด้านผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊สส่วนตัวสั้นๆว่า “กราบขอบพระคุณทุกคนที่เป็นห่วงครับ”
คดีนี้ เกิดขึ้นจาก ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ได้กล่าวหาและแจ้งแก่ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ทายาทสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ว่าวิทยานิพนธ์ “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)” และหนังสืออีก 2 เล่ม คือ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500)” และ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี : การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500” ที่เขียนโดย ณัฐพล ใจจริง ทำให้กรมพระยาชัยนาทฯ ซึ่งเป็นต้นราชสกุลรังสิตได้รับความเสียหาย
ในเดือนมีนาคม 2564 ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต (หลาน) จึงได้ฟ้องร้อง ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง ผู้เขียนวิทยานิพนธ์และหนังสือ เป็น จำเลยที่ 1รศ.ดร. กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อดีตอาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ เป็น จำเลยที่ 2 นายชัยธวัช ตุลาธน บรรณาธิการหนังสือขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ เป็น จำเลยที่ 3 น.ส.อัญชลี มณีโรจน์ บรรณาธิการหนังสือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี เป็น จำเลยที่ 4 ห้างหุ้นส่วนจำกัดสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ผู้จัดพิมพ์หนังสือทั้ง 2 เล่ม เป็น จำเลยที่ 5 นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เป็น จำเลยที่ 6 ต่อศาลแพ่งในข้อหา “ละเมิดไขข่าวด้วยข้อความฝ่าฝืนความจริง” และเรียกค่าเสียหายจำนวน 50 ล้านบาท
ประเด็นสำคัญในวันนี้อยู่ที่การพิจารณาคำร้องของ ม.ร.ว. ปรียนันทนา ที่ขอให้ศาลออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวโดยสั่งระงับการเผยแพร่วิทยาพนธ์และหนังสือทั้ง 3 รายการจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ทนายความของ ม.ร.ว.ปรียนันทนากล่าวว่าเหตุที่ดำเนินการฟ้องร้องในคดีนี้เพราะโจทก์ได้รับความเสื่อมเสียจาก “การกระทำที่บิดเบือน” ของจำเลยในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทฯ ซึ่งฝ่ายโจทก์เชื่อว่า “เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นโดยตั้งใจ ไม่ใช่ผิดพลาดแบบไม่ตั้งใจ”
ก่อนหน้านี้ ผศ.ดร. ณัฐพลชี้แจงถึงประเด็น “ข้อผิดพลาด” ในวิทยานิพนธ์ของเขาในส่วนที่เกี่ยวกับสมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทฯ ว่า หลังจากมีการทักท้วงในเรื่องนี้เขาไม่ได้นิ่งนอนใจและได้รีบตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องในทันที และพบว่าเขาอ่านเอกสารผิดพลาดจริง จึงได้แสดงเจตจำนงขอแก้ไขประเด็นนี้ต่อบัณฑิตวิทยาลัยในทันที แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้แก้ไข ซึ่งเป็นกฎที่ใช้กับวิทยานิพนธ์ทุกเล่มที่ผ่านกระบวนการสอบเสร็จสมบูรณ์แล้ว และบัณฑิตวิทยาลัยได้ดำเนินการระงับการเผยแพร่วิทยานิพนธ์ในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่าการอ่านเอกสารผิดพลาดหนึ่งจุดนี้ ไม่มีผลกระทบต่อข้อถกเถียงหลักของวิทยานิพนธ์ และ “ต่อให้ตัดข้อความดังกล่าวทิ้งก็ไม่กระทบแต่อย่างใด เพราะยังมีหลักฐานอีกจำนวนมากที่ใช้ประกอบสร้างข้อถกเถียงหลักของบทนั้น”
สำหรับกรณีนี้ สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เคยออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนและประณามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ไม่ปกป้องบุคลากรของมหาวิทยาลัย ไม่ปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยที่กล่าวอ้างว่าเป็น “สถาบันการศึกษาชั้นสูง” และระดับ “สากลโลก” เสื่อมสียที่ไม่เคารพหลักการอันเป็นสากลด้านเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเสรีภาพทางวิชาการ