เผยแพร่ |
---|
จบไปแล้วกับการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (บอร์ด ธปท.)หลังมีวิวาทะมานาน กรณีการคัดเลือกประธานบอร์ดคนใหม่ จนต้องเลื่อนกระบวนการคัดเลือก
มีการเคลื่อนไหวคันค้านกดดันอย่างต่อเนื่อง ต่อมาเกิดปรากฏการณ์ร่วมกันลงชื่อไม่เห็นด้วยกับการคัดเลือกผู้ได้รับการเสนอชื่อบางคน
ในที่สุด ช่วงเย็นของวันที่ 11 พ.ย. ที่ประชุมมีมตีเลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ แทน นายปรเมธี วิมลศีรี ซึ่งหมดวาระเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา
แน่นอนว่านายกิตติรัตน์ เป็นอดีตรองนายกฯและ รมว.คลังจากพรรคเพื่อไทย ช่วงที่ผ่านมาก็ออกความเห็นทางเศรษฐกิจตรงข้ามกับ ผู้ว่าฯธปท.คนปัจจุบันอยู่บ่อยครั้ง จึงเป็นที่มาที่ถูกจับตาว่าหลังจากนี้ สภาวะในธปท.จะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะแนวโน้มทิศทางของค่าเงิน
อย่างไรก็ตาม มีความเข้าใจผิดว่า ประธาน ธปท. สามารถปลด ผู้ว่าฯ แบงค์ชาติได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง
จึงเป็นโอกาสอันดีในการย้อนไปทำความเข้าใจว่า อำนาจและหน้าที่ของส ประธานบอร์ด ธปท. คืออะไร
“บทบาทหน้าที่ และความสำคัญของ “ประธานบอร์ด” ธปท.นั้น ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ระบุดังนี้
มาตรา 24 ให้คณะกรรมการ ธปท.ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่ง ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ผู้ว่าการ รองผู้ว่าการ 3 คน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อํานวยการสํานักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีก 5 คน เป็นกรรมการ ให้ผู้ว่าการเป็นรองประธานกรรมการและแต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งเป็นเลขานุการ
มาตรา 25 คณะกรรมการ ธปท. มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการ และการดําเนินการของ ธปท. เพื่อให้บรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา 7 เว้นแต่กิจการและการดำเนินการที่เป็นอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชําระเงิน รวมทั้งให้มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย
1. พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงานและงบประมาณ และประเมินผลการดําเนินกิจการและการ ดําเนินการของ ธปท. รวมทั้งประเมินผลการปฏิบัติงานโดยทั่วไปของผู้ว่าการ
2. กําหนดข้อบังคับว่าด้วยโครงสร้างองค์กร และการบริหารงานบุคคล
3. กําหนดข้อบังคับว่าด้วยการเสนอชื่อ การพิจารณา และการคัดเลือก ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชําระเงิน
4. กําหนดข้อบังคับว่าด้วยการป้องกันการมีส่วนได้เสียและจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของกรรมการในคณะกรรมการตามมาตรา 17 ผู้ว่าการพนักงานและ ลูกจ้าง
5. กําหนดข้อบังคับว่าด้วยการมอบอํานาจ การรักษาการแทน การบริหารงานหรือดําเนินกิจการอื่นใด
6. กําหนดข้อบังคับว่าด้วยงบประมาณและรายจ่าย และการจัดซื้อและจัดจ้าง
7. กําหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการกําหนดเงินเดือนและเงินอื่น ๆ รวมตลอดถึงการให้กู้ยืมเงินการสงเคราะห์และให้สวัสดิการต่าง ๆ แก่พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ซึ่งพ้นจากตําแหน่ง และครอบครัวของบุคคลดังกล่าว
8. กําหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสํารองเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราและสินทรัพย์ของ ธปท. ตามส่วนที่ 3 ของหมวด 6
9. พิจารณาให้ความเห็นชอบการตั้งและการเลิก สาขาหรือสํานักงานตัวแทน
10. กําหนดขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบตามมาตรา 55
11. กํากับดูแลการจัดทํางบการเงิน รายงานประจําปี และรายงานอื่นๆ ของ ธปท.ตามที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัตินี้
12. ปฏิบัติการอื่นตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น
มาตรา 26 ให้นําบทบัญญัติมาตรา 18 มาตรา 19 และมาตรา 20 มาใช้บังคับแก่ประธานกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. โดยอนุโลม
มาตรา 27 ในวาระเริ่มแรก เมื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดํารงตําแหน่งครบ 1 ปี 6 เดือน ให้ออกจากตําแหน่ง 3 คนโดยวิธีจับสลาก และให้ถือว่าการออกจากตําแหน่งโดยการจับสลากดังกล่าวเป็นการพ้นจากตําแหน่งตามวาระ
มาตรา 28 ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตําแหน่งก่อนวาระ ให้รัฐมนตรีดําเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 28/1 ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตําแหน่ง
มาตรา 28/1 ในกรณีที่จะต้องมีการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกคณะหนึ่ง ประกอบด้วยกรรมการจำนวน 7 คน เพื่อทําหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กรรมการดังกล่าวในคณะกรรมการ ธปท. และให้ผู้ว่าการแต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งเป็นเลขานุการ
กล่าวโดยสรุป
อำนาจคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือบอร์ดแบงก์ชาติ นอกเหนือจากการบริหารจัดการงานภาพรวม
1. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนของเงินสำรองระหว่างประเทศ โดยกำหนดได้ว่าจะไปลงทุนในสินทรัพย์ใดบ้าง
ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธปท. มาตรา 25 (8) คณะกรรมการ ธปท. มีอำนาจหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราและสินทรัพย์ของ ธปท. ตามส่วนที่ 3 ของหมวด 6 การบริหารจัดการสินทรัพย์ของ ธปท. เช่น สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ว่าเอาเงินไปลงทุนอะไรได้บ้าง
2. แต่งตั้งคณะกรรมการด้านนโยบาย (Policy Board) ทั้ง 3 ด้าน ที่เป็นกลไกสำคัญในการกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน สถาบันการเงิน และการชำระเงินของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีอิสระจากการเมือง เพื่อดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว
ออกข้อบังคับในการเสนอชื่อการพิจารณาและการคัดเลือก กนง. กนส. กรช.
พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 25 (3) กำหนดข้อบังคับว่าด้วยการเสนอชื่อการพิจารณาและการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.)
แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่จะไปเป็นกรรมการใน กนง. 4 คน จาก 7 คน
พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 28/6 ให้ กนง. ประกอบด้วย ผู้ว่าการเป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่าการซึ่งผู้ว่าการกำหนด จำนวน 2 คน โดยให้รองผู้ว่าการคนหนึ่งซึ่งผู้ว่าการมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์หรือด้านการเงินการธนาคารซึ่งคณะกรรมการ ธปท. แต่งตั้ง จำนวน 4 คน เป็นกรรมการ
แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่จะไปเป็นกรรมการใน กนส. 5 คน จาก 11 คน
พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 28/9 ให้ กนส. ประกอบด้วย ผู้ว่าการเป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่าการซึ่งผู้ว่าการกำหนด จำนวน 2 คน โดยให้รองผู้ว่าการคนหนึ่งซึ่งผู้ว่าการมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะกรรมการ ธปท. แต่งตั้ง จำนวน 5 คน เป็นกรรมการ
แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่จะไปเป็นกรรมการใน กรช. 3 คน จาก 7 คน
พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 28/1 ให้ กรช. ประกอบด้วย ผู้ว่าการเป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่าการซึ่งผู้ว่าการกำหนด จำนวนวน 2 คน โดยให้รองผู้ว่าการคนหนึ่งซึ่งผู้ว่าการมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ ประธานสมาคมธนาคารไทย และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะกรรมการ ธปท. แต่งตั้ง จำนวน 3 คน เป็นกรรมการ
3. ให้คำแนะนำต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อปลดผู้ว่าการในกรณีบกพร่องในหน้าที่ร้ายแรงหรือหย่อนความสามารถ
ตาม พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 28/19 (5) ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ออก โดยคำแนะนำของรัฐมนตรีหรือการเสนอของรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ธปท. เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรงหรือหย่อนความสามารถ โดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง