อดีต ปลัด มท.ชื่นชม นายกฯ-รัฐบาล แก้ปัญหาคนไร้สัญชาติ เป็นคุณูปการต่อประเทศชาติ พร้อมย้อนเล่าประวัติศาสตร์

5 พ.ย. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย โพสต์ ถึงมติ ครม. เมื่อ 29 ตุลาคม 2567 คือ การสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการช่วยทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สิ่งดีงามที่ต้องชมเชยนายกรัฐมนตรี และ ครม. โดยแท้

ระหว่างผมพักเหนื่อยจากการขุดดินถากหญ้า รดน้ำต้นไม้ในพื้นที่บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง ทองหล่อ 21 อันเป็นกิจวัตรประจำวันเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร มีอาหารปลอดภัยรับประทาน ลดรายจ่าย ได้ออกกำลังกาย อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ได้เปิดดูข่าวจากมือถือ โดยเฉพาะข่าวมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ที่มีคนมาคัดค้านฯ โดยปัจเจกบุคคล และบางส่วนก็มาเป็นกลุ่ม ตามปรากฏเป็นข่าว

ผมเองอยากจะกราบเรียนว่า เรื่องนี้จริงๆแล้วยาวนานมาเป็นร้อยปีแล้ว กับสิ่งที่ผิดและทำให้ชีวิตเพื่อนมนุษย์คนไทยด้วยกันเสียโอกาสดีของชีวิตในการเป็นคนไทยที่ได้ช่วยเหลือดูแลครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ …

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงค้นพบปัญหานี้ มาก่อนปี 2506 อย่างแน่นอน เพราะในปี 2506 ทรงแก้ไขปัญหาคน(ไทย) ไร้สัญชาติ ไร้บัตรประจำตัวประชาชน ด้วยการจัดทำเหรียญลักษณะคล้ายเหรียญบาท ด้านหน้าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ครึ่งพระองค์ มีพระนาม“ภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9” ด้านหลังเหรียญจารึก“ที่ระลึกสำหรับชาวเขา“ มีรูปแผนที่ประเทศไทยและตอกอักษรย่อของจังหวัด เช่น ชม หมายถึงเชียงใหม่ , ชร หมายถึง เชียงราย ตามด้วยหมายเลข 6 หลัก เพื่อมอบให้คนที่อยู่ในพื้นแผ่นดินไทยมาแต่เก่าก่อน แต่ไม่มีสัญชาติไทย แต่เขาคือ พสกนิกรชาวไทย ในกาลต่อมาผู้ได้รับเหรียญพระราชทานนี้บางคนก็ได้รับบัตรประจำตัวประชาชน

ปฐมบทนี้ดูจากบทความที่ผมค้นหาจากมือถือ (Google)ที่ส่งมาข้างต้นได้ แต่หลังจากนั้นกระบวนการแก้ไขโดยฝ่ายบ้านเมือง

ตามแนวพระราชดำรินั้นก็เป็นไปอย่างล่าช้า ดังที่ทราบๆกันอยู่ ครั้นท่านนายกรัฐมนตรีท่านมีดำริแก้ไขในสิ่งผิด เพื่อให้พสกนิกรของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีความสุขจากการได้รับเอกสารหลักฐานการเป็นคนไทย อย่างที่ควรจะได้เป็นในเวลาอันรวดเร็วและถูกต้องตามกฎหมายด้วย จึงควรค่าแห่งการที่ต้องยกย่องชมเชย เหมือนที่ UNHCR ที่ดูแลผู้ไร้สัญชาติ และผู้อพยพทั่วโลกได้ชมเชยว่าเป็นประวัติศาสตร์ของโลกที่รัฐบาลสามารถช่วยเหลือให้ประชาชนจำนวนมากที่สุดในโลกที่เคยมีรัฐบาลในโลกนี้ทำมา

มีข้อความที่คนคัดค้านและคนสนับสนุนยังใช้ข้อความที่คลาดเคลื่อนอยู่บ้าง คือ ระบุว่าคน 480,000 คนเศษ ตามมติ ครม. เป็นผู้อพยพอยู่ในไทยมานาน ที่ว่าคลาดเคลื่อน คือ กลุ่มคนพวกนี้จำนวนมากอยู่มาตั้งแต่สมัยอยุทธยา รัตนโกสินทร์ตอนต้นต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันก็มาก เช่น ชาวเขา , ชาวมอแกน , ชาวไทยเกาะกง บางส่วนก็อพยพมาจริงและรัฐบาลไทยใช้เป็นกันชนเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากลัทธิการเมืองการปกครองของต่างชาติ เช่น ที่เบตง ยะลาที่แม่สลอง เชียงราย ที่เขาค้อ เพชรบูรณ์ มีลูกมีหลานอยู่กันมาหลายชั่วอายุคน รวมเป็นล้านคน ที่ทางท่านนายอำเภอ ได้ดำเนินการจัดทำทะเบียนบ้าน ทะเบียนบุคคล ไว้อย่างถูกต้อง ใช้เวลา ยาวนานมากกว่า 30 ปีที่สามารถอนุมัติให้ได้รับสัญชาติไทย จนเหลือ 480,000 คนเศษที่ ท่านนายกรัฐมนตรีมีภาวะผู้นำสั่งการให้หน่วยงานความมั่นคงช่วยกันลดขั้นตอน..กระบวนการ…เพื่อให้การช่วยเหลือคนไทยผู้เดือดร้อนเหล่านี้ได้พ้นจากความการไม่สามารถเข้าถึงบริการของรัฐ การไร้สิทธิ ไร้โอกาสในการศึกษา การประกอบอาชีพ ให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็วภายใน 1 -2 ปี

ประชาชนคนเหล่านี้ อยู่ในพื้นแผ่นดินไทยภายใต้พระบรมโพธิสมภารมาเนิ่นนาน

แม้เขาจะมีความแตกต่างด้านภาษา วัฒนธรรม ประเพณี จากคนกรุงเทพฯ (ภาคกลาง) แต่เขาก็คือ คนไทย (ไร้ราก ไร้รัฐ) ที่ทุกข์ทรมานมาน เขาคือ คนที่ไม่ว่าราชการจะดูแลหรือไม่ดูแล เขาคือ คนไทย การไม่ยอมรับทางเอกสารบัตรประจำตัวประชาชน หรือทะเบียนบ้าน เป็นการสร้างภาระให้สังคมที่ควรจะได้ทรัพยากรบุคคลเหล่านี้มาช่วยพัฒนาประเทศชาติในฐานะทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า เพราะราชการเองในทางปฏิบัติก็ไม่อาจขับไล่ใสส่งให้คนเหล่านี้ออกนอกประเทศได้ เพราะถิ่นที่อยู่ของเขาเหล่านั้น เป็นผืนแผ่นดินของเขาเหมือนกับสวนผัก ผลไม้ที่ทองหล่อ 21 เป็นของผมและครอบครัว ….การทำตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 จึงเป็นสิ่งที่มีคุณูปการต่อคนไทยโดยรวม เป็นคุณูปการต่อประเทศชาติ และถ้าการทำดี เช่นนี้ จะทำให้ท่านนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร) และครม. ได้คะแนนนิยม จากการทำดี ก็ควรให้ได้ไป

ผมในฐานะคนเกษียณอายุราชการแล้ว

ขอวิงวอนบุคคล คณะบุคคลที่คัดค้านมติ ครม. เรื่องการแก้ไขในสิ่งผิดที่ทำให้คนไทยไร้สัญชาติมานาน ขอให้ช่วยกันศึกษาข้อมูลดีๆ

อ่านต่อที่ Suttipong Juljarern