นายกฯ ลั่นรัฐบาลจะรักษาแผ่นดินไทยไว้อย่างเต็มที่ ชี้เอ็มโอยู 44 ไม่เกี่ยวเกาะกูด ยันยกเลิกเองไม่ได้ ต้องตกลงทั้งสองประเทศ

นายกฯ ลั่นประเทศไทยต้องมาก่อน รัฐบาลจะรักษาแผ่นดินไทยไว้อย่างเต็มที่ ชี้เอ็มโอยู 44 ไม่เกี่ยวเกาะกูด ยันยกเลิกเองไม่ได้ ต้องตกลงทั้งสองประเทศ มั่นใจถ้าทุกคนเข้าใจหลักการไม่มีบานปลาย

เมื่อเวลา 15.10 น. วันที่ 4 พ.ย.2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยแกนนำรัฐบาล แถลงภายหลังการประชุมว่า วันนี้ได้คุยกันในเรื่องเอ็มโอยู 44 ได้คุยกันในรายละเอียด วันนี้จะมาขอยืนยันว่า เกาะกูดเป็นของประเทศไทย เป็นมาตั้งนานแล้วและกัมพูชาก็รับรู้เช่นนั้นเหมือนกัน ตามสนธิสัญญาฝรั่งเศส

รัฐบาลนี้จะไม่ยอมเสียพื้นที่ของประเทศไทยแม้แต่ตารางนิ้วเดียวไปให้ใครก็ตาม ซึ่งเรื่องเกาะกูดเป็นเรื่องที่เราไม่เคยมีปัญหากับกัมพูชาอยู่แล้ว ไม่เคยมีข้อสงสัยด้วย อาจจะมีแต่เกิดความเข้าใจผิดกันในประเทศไทยเอง และเอ็มโอยู 44 ก็ยังอยู่ เพราะไม่สามารถยกเลิกได้ นอกจากใช้การตกลงกันระหว่างสองประเทศคู่สัญญา หากเรายกเลิกเองก็จะถูกฟ้องร้องได้

เมื่อถามถึงรัศมีรอบเกาะกูดซึ่งเป็นทะเล จะแบ่งกันลงตัวอย่างไร น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ในเอ็มโอยู 44 ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับตัวเกาะกูดเลย ส่วนในพื้นที่ของทะเลนั้น มีการขีดเส้นไม่เหมือนกัน แต่ในเนื้อหาของ เอ็มโอยู เป็น agreement to negotiate หรือตกลงกันว่าจะมีการเจรจากันระหว่างประเทศ ฉะนั้น เราจะต้องมีคณะกรรมการมาคุยกัน

ขณะนี้คณะกรรมการของกัมพูชามีอยู่แล้ว แต่ของเราเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ก็ต้องตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้น ขณะนี้อยู่ในช่วงจัดตั้ง เมื่อเสร็จแล้วจะได้ศึกษาและพูดคุยกัน ซึ่งไม่น่าจะนาน เพราะตั้งแต่ตนรับตำแหน่งประมาณหนึ่งเดือน ก็เริ่มคุยกันเรื่องคณะกรรมการแล้ว แต่อาจต้องรอนิดนึงเพื่อให้ลงตัว

ส่วนที่มองว่าการยอมรับเอ็มโอยู เป็นเหมือนไทยยอมรับเส้นของกัมพูชานั้น นายกฯ กล่าวว่า อันนั้นคือความเข้าใจผิด เราไม่ได้ยอมรับเส้นอะไร เอ็มโอยูนี้คือการที่เราคิดไม่เหมือนกัน แต่ต้องแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้งสองประเทศ ตั้งแต่พ.ศ.2515 กัมพูชาได้ขีดเส้นมาก่อน และประเทศไทยได้ขีดเส้นด้วยในพ.ศ.2516 ซึ่งในตอนแรกคิดเหมือนกันแต่ข้อตกลงข้างในไม่เหมือนกัน จึงได้จัดทำเอ็มโอยูขึ้น เพื่อเจรจาว่าจะเป็นอย่างไร ขอให้คนไทยสบายใจได้เพราะเกาะกูดไม่เคยเป็นส่วนอยู่ในการเจรจานี้

เมื่อถามว่าจากที่คุยกันว่ามีการยกเลิกเอ็มโอยู 44 ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ไม่มี เพราะข้อเท็จจริงคือเอ็มโอยู ไม่สามารถเลิกได้ ถ้าไม่มีข้อตกลงระหว่างสองประเทศคู่สัญญา และจะต้องเป็นมติเข้าผ่านรัฐสภา ซึ่งในปีพ.ศ. 2552 ก็ไม่ได้มีการนำเรื่องนี้เข้ารัฐสภา และในปีพ.ศ. 2557 รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยืนยันเช่นนั้น

เมื่อถามว่าขณะนี้มีกระแสต้องการให้ยกเลิกเอ็มโอยู จะทำอย่างไรไม่ให้สถานการณ์บานปลาย น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ต้องถามก่อนว่ายกเลิกแล้วได้อะไร เราต้องกลับมาที่เหตุและผล เพราะทุกประเทศคิดไม่เหมือนกันได้ แต่เมื่อคิดไม่เหมือนกัน ก็ต้องมีเอ็มโอยู เพื่อไม่ให้เกิดเป็นปัญหาระหว่างประเทศ เรื่องนี้สำคัญมาก

การรักษาไว้ซึ่งความสงบระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญ เอ็มโอยูนี้เปิดให้ทั้งสองประเทศได้คุยกัน หากถามว่ายกเลิกแล้วได้อะไรบ้าง ถ้าเรายกเลิกฝ่ายเดียว เราโดนฟ้องร้องจากกัมพูชาอย่างแน่นอน ซึ่งมันไม่มีประโยชน์ และตนคิดว่าถ้าทุกคนเข้าใจในหลักการแล้ว ไม่น่าจะบานปลาย เพราะมันเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องเป็นแบบนั้น ไม่มีการคุยอะไรข้างหลัง เพราะนี่เป็นกรอบเป็นหลักกฎหมายอยู่แล้ว

เมื่อถามว่ากลัวว่าการแถลงวันนี้จะถูกมองว่าเป็นการเดินหน้าลุยต่อโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านหรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ไม่จริงเลย ที่มาในวันนี้ทุกคนตกลงกันอย่างง่ายดายและเข้าใจ ตามหลักการเดียวที่ว่าอันนี้เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ วันนี้ที่ออกมาแถลงเพื่ออธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่า เอ็มโอยู 44 ไม่เกี่ยวข้องกับเกาะกูด

เกาะกูดเป็นของเรา และเอ็มโอยู เป็นเรื่องระหว่างสองประเทศ เมื่อต้องการจะยกเลิก ต้องเป็นการตกลงระหว่างประเทศ และเรายังไม่ได้เสียเปรียบใดๆในการตกลงอันนี้ ดังนั้น อย่าเอาเรื่องของการเมืองมาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสั่นคลอน จึงอยากให้ทุกคนทำความเข้าใจตามหลัก

เมื่อถามว่าจากการคุยกันในวันนี้ เห็นด้วยที่จะเดินหน้าต่อใช่หรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า เดินต่อแน่นอน และที่เราต้องทำ กัมพูชาก็รอเราคือคณะกรรมการ ที่จะต้องศึกษาและเป็นตัวแทนไปพูดคุย ประกอบด้วยหลายกระทรวง เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพลังงาน ที่จะช่วยกัน

เมื่อถามว่ารัฐบาลไทยมีแนวทางตกลงเรื่องแหล่งปิโตรเลียมใต้ทะเลอย่างไรบ้าง นายกฯกล่าวว่า ต้องคุยกันระหว่างประเทศก่อน ในเรื่องนี้จริงๆ ต้องมีการศึกษารายละเอียดด้วย ว่าจะแบ่งอย่างไรได้บ้างเพื่อให้ได้ผลประโยชน์กับทั้งสองประเทศ ให้ได้เกิดความยุติธรรมมากที่สุด ซึ่งเราทราบอยู่แล้วว่าการมีแก๊สธรรมชาติจะช่วยลดต้นทุนพลังงานได้ จึงต้องตั้งและส่งคณะกรรมการผู้รู้ไปศึกษาร่วมกันกับทางกัมพูชาด้วย เพื่อจะได้คำตอบที่ตอบประชาชนได้อย่างชัดเจน

เมื่อถามว่าจะใช้ความสัมพันธ์ที่ดีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อพูดคุยกับทางกัมพูชาหรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ความสัมพันธ์ที่ดีสามารถสร้างคอนเนกชั่นดีๆได้ เช่น หากเรามีเพื่อนสนิท เราสามารถพูดคุยกับเพื่อนสนิทเราได้ แต่ในเรื่องของผลประโยชน์ของประเทศเขาและประเทศเรา เราต้องใช้คณะกรรมการเพื่อไม่ให้เกิดความลำเอียง จะได้มีความรู้จริง รู้ครบและเกิดความยุติธรรมขึ้นมาด้วย

เมื่อถามว่ายืนยันว่ารัฐบาลไทยจะรักษาประโยชน์ของประเทศไทยใช่หรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า “ดิฉันเป็นคนไทย 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างที่บอกไว้ว่า ประเทศไทยต้องมาก่อน คนไทยต้องมาก่อน ฉะนั้นรัฐบาลยืนยันจะรักษาแผ่นดินไทยไว้อย่างเต็มที่ และจะทำให้ประชาชนมีความสุขที่สุด”