จุรินทร์ ห่วง นิรโทษกรรมเหมาเข่งไม่ปรองดอง บอกแค่นับหนึ่งก็แตกแยกแล้ว เตือน พท.จับมือ ปชน.ได้ไม่คุ้มเสีย อนาคตพรรคร่วม รบ.จะทำงานกันอย่างไร

จุรินทร์ ห่วง นิรโทษกรรมเหมาเข่งไม่ปรองดอง บอกแค่นับหนึ่งก็แตกแยกแล้ว เตือน พท.จับมือ ปชน.ได้ไม่คุ้มเสีย อนาคตพรรคร่วม รบ.จะทำงานกันอย่างไร

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม 4 ฉบับที่บรรจุอยู่ในวาระสภา และรอการนำขึ้นมาพิจารณาว่า ในส่วนของตนและพรรคประชาธิปัตย์ มีจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม การกระทำความผิดตามมาตรา 110 และมาตรา 112 ส่วนที่บางพรรคการเมืองบอกว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง โดยรวมมาตรา 112 ด้วยจะเป็นการปกป้องสถาบันนั้น ตนมองว่ามันจะเกิดสิ่งตรงข้ามมากกว่า และอาจเป็นแรงจูงใจในอนาคตให้มีการละเมิดมาตรา 110 และมาตรา 112 มากขึ้น เพราะเห็นว่าเมื่อละเมิดแล้วก็สามารถนิรโทษกรรมได้ และที่บอกว่าจะทำให้เกิดความปรองดอง ตนเห็นว่านับหนึ่งก็แตกแยกแล้ว

ส่วนกรณีที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ระบุว่าต่อไปจะเป็นคิวของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 4 ฉบับนั้น โอกาสที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งยังมีอยู่ใช่หรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า ยังมีโอกาสอยู่ เพราะมีบางร่างที่เสนอเข้าไปค้างอยู่ในวาระประชุมสภา แต่ก็อยู่ที่มติสภา ส่วนจะพิจารณาแบบแยกฉบับ หรือพิจารณาพร้อมกัน ขึ้นอยู่กับวิปที่จะต้องหารือกัน ถ้าวิปเห็นพ้องกันว่าให้พิจารณาก็ต้องหยิบขึ้นมาพิจารณา

“หลักพิจารณาของผมมีอยู่แล้ว ถ้าเป็นเรื่องมาตรา 110 มาตรา 112 ทุจริตคอร์รัปชั่น อาญาร้ายแรง ผมและพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่เห็นด้วย ยกเว้นเป็นการนิรโทษกรรมอันเกิดจากการกระทำความผิดจากแรงจูงใจทางการเมืองทั่วไป เช่น การชุมนุมทางการเมือง การผิด พ.ร.บ.จราจร หรือคำสั่งต่างๆ และถ้าสังคมเห็นพ้อง ผมก็ไม่ขัดข้อง” นายจุรินทร์กล่าว

ส่วนที่มีความเป็นห่วงว่าอาจเกิดกรณีเหมือน 143 เสียงของพรรคประชาชน รวมกับ 141 เสียงของพรรคเพื่อไทยร่วมกันยกมือให้ผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมจะเป็นไปได้หรือไม่นั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า เป็นไปได้หรือเปล่าตนไม่ทราบ แต่ถ้ารวมกันก็ชนะ เพราะเสียงเกินครึ่ง และเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายมีความกังวล แต่หลักๆ ทางการเมืองตนมองว่าได้ไม่คุ้มเสีย เพราะการที่เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแล้วไปจับมือกับฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาลจะคิดอย่างไร และจะทำงานร่วมกันอย่างไรในอนาคต และที่สำคัญความรู้สึกของประชาชนจะคิดอย่างไรด้วย