“รอมฎอน” ร่วมสังเกตการณ์คดีตากใบ ผิดหวังไร้จำเลยปรากฏตัวต่อศาล ลั่นถ้าความยุติธรรในประเทศไม่ทำงาน เตรียมเดินหน้าใช้ศาลอาญาระหว่างประเทศแทน

“รอมฎอน” ร่วมสังเกตการณ์คดีตากใบ ผิดหวังไร้จำเลยปรากฏตัวต่อศาล ลั่นถ้าความยุติธรรในประเทศไม่ทำงาน เตรียมเดินหน้าใช้ศาลอาญาระหว่างประเทศแทน ชี้ “พล.อ.พิศาล” ลาออกแล้ว ถือเป็นผลดีกับรัฐบาลจะได้จัดการให้เด็ดขาด

วันที่ 15 ตุลาคม 2567 ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์คดีตากใบ ในการนัดเบิกคำให้การครั้งที่สอง หลังจากที่นัดครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ที่ผ่านมาจำเลยทั้ง 7 คนไม่มาศาล โดยวันนี้ทางจำเลยก็ไม่ได้เดินทางมาที่ศาลเช่นเดียวกัน ซึ่งผู้พิพากษาได้มีคำสั่งให้นัดพร้อมประชุมคดีอีกครั้งในวันที่ 28 ตุลาคม 2567
.
รอมฎอน กล่าวหลังร่วมนัดสังเกตการณ์คดีว่า สิ่งที่น่ากังวล คือ ในวันนัดพร้อมนั้น จะเป็นวันเลยกำหนดอายุความที่จะสิ้นสุดในเวลา 00.00 น. ของวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ไปแล้ว ทั้งนี้ ในอายุความที่เหลืออยู่อีก 10 วัน จำเลยยังมีโอกาสที่จะแสดงตัวต่อศาล หรือมอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อให้คดีมีการพิจารณาต่อไปได้

อย่างไรก็ดี ศาลได้เปิดโอกาสให้คู่ความแถลงต่อศาล รวมทั้งให้ตนในฐานะผู้สังเกตการณ์จากอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติได้แถลงให้ความเห็นต่อศาลด้วย โดยในส่วนของญาติผู้เสียหายซึ่งเป็นญาติของโจทก์ที่ 3 ได้สะท้อนความรู้สึกที่อึดอัดคับข้องใจเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในการนำตัวจำเลยที่ถูกออกหมายจับมาดำเนินคดีว่า มีการเลือกปฏิบัติและใช้สองมาตรฐานหรือไม่ เพราะในขณะที่ประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ตกเป็นจำเลยหรือผู้ต้องหาจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติแบบหนึ่ง แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงถูกออกหมายจับกลับไม่มีความจริงจังมากนัก ทำให้รู้สึกหมดศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมในการฟื้นความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ
.
รอมฎอน กล่าวต่อไปว่า ตนในฐานะ สส. ได้แถลงต่อศาล โดยระบุว่า ยังคงมีความหวังว่า ภายในกรอบระยะเวลาเท่าที่มีอยู่ จำเลยจะสามารถให้ความร่วมมือต่อศาลได้และเจ้าหน้าที่จะสามารถนำตัวจำเลยมาศาลได้ทัน ถือเป็นความหวังที่จำเป็นต้องมี เพราะผลกระทบของคดีนี้จะกว้างไกลมาก หากไม่สามารถนำตัวจำเลยมาทำให้คดีเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความมั่นคงของชาติ สถานการณ์ความรุนแรง และความคืบหน้าของกระบวนการสันติภาพ
.
ถ้ากระบวนการยุติธรรมไม่สามารถเดินต่อไปได้ ความเชื่อมั่นต่อสถาบันที่เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายทั้งหมดก็จะเสื่อมถอยลง สิ่งที่ต้องการมากที่สุดในการแก้ปัญหาในกรณีความขัดแย้งชายแดนใต้ คือ ความเชื่อมั่นไว้วางใจของประชาชนต่อสถาบันของรัฐ หากปราศจากความเชื่อมั่นไว้วางใจแล้วก็ย่อมเป็นการยากที่จะหาข้อตกลงที่จะอยู่ร่วมกันในอนาคตได้ รวมถึงข้อตกลงสันติภาพด้วย
.
รอมฎอน ยังกล่าวต่อไปว่า ตนยังได้แถลงต่อศาลอีกว่า ถ้ากระบวนการยุติธรรมภายในประเทศไม่สามารถทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น และความปรารถนาที่จะได้ความจริงและความยุติธรรมของประชาชนยังดำรงอยู่ ทางเลือกหนึ่งที่ประชาชนอาจจำเป็นต้องใช้ คือ การใช้กลไกกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศหรือศาลอาญาระหว่างประเทศ แม้ประเทศไทยจะไม่ได้ให้สัตยาบรรณต่อธรรมนูญกรุงโรม แต่ก็มีบางช่องทางที่สามารถหยิบยกมาเรียกร้องให้มีการไต่สวนด้วยกลไกศาลอาญาระหว่างประเทศได้
.
แม้จะเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก แต่หนทางและความปรารถนาของประชาชนที่จะได้รับความยุติธรรมก็ยังคงมีอยู่ ถ้ากลไกภายในประเทศไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งตนก็ตระหนักดีว่า ฝ่ายความมั่นคงมีความกังวลต่อกรณีนี้ แต่ถ้าประเทศไทยไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนได้ การใช้กลไกดังกล่าวมาช่วยอำนวยความยุติธรรมก็เป็นเรื่องที่ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ตนต้องขอขอบคุณญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บที่ร่วมกันฟ้องคดีในครั้งนี้ ถือเป็นความกล้าหาญที่ควรต้องได้รับความชื่นชม โดยเฉพาะในความพยายามเพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้เกิดขึ้นในประเทศนี้ว่า จะต้องไม่มีใครใช้อำนาจรัฐในการฆ่าประชาชนได้อีกต่อไป
.
สำหรับกรณีที่ พล.อ.พิศาล รัตนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 จำเลยที่ 1 ได้มีการลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งทำให้ขาดสถานะจากความเป็น สส. นั้น รอมฎอนระบุว่า แม้จะมีการลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยแล้ว แต่รัฐบาลและหัวหน้าพรรคเพื่อไทยก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในฐานะเป็นผู้ใช้อำนาจฝ่ายบริหารในเวลานี้ได้ ทั้งหมดนี้ยังขึ้นอยู่กับการบังคับใช้กฎหมายและการพยายามทำหน้าที่อย่างถึงที่สุดของฝ่ายบริหารในการนำตัวจำเลยทั้ง 7 ในคดีที่ราษฎรฟ้องเอง และผู้ต้องหาอีก 8 คนในคดีที่อัยการสั่งฟ้อง รวมทั้งสองสำนวน 14 คนมาสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้
.
ทั้งนี้ ในกรณีใบลาออกของ พล.อ.พิศาล เข้าใจว่า รองนายกรัฐมนตรี ภูมิธรรม เวชยชัย ได้รายงานต่อหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ทั้งรองนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีก็ยังคงมีภาระหน้าที่ที่ต้องสืบเสาะหาต้นสายปลายเหตุว่า ตอนนี้ พล.อ.พิศาล อยู่ที่ไหน จดหมายฉบับนี้ถูกเขียนที่ไ่หน และใช้กลไกในทางการทูตของฝ่ายบริหารทุกหนทางในการนำตัว พล.อ.พิศาล มาขึ้นศาลให้ได้ภายในกรอบระยะเวลาที่มีอยู่ ซึ่งตนเข้าใจว่า คนที่รับหนังสือนี้ไม่ว่า ติดต่อผ่านช่องทางไหน จะเป็นช่องทางสำคัญในการสืบเสาะและด้วยขีดความสามารถของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ก็ย่อมสามารถเสาะหาตัวได้แน่ ๆ
.
“ทั้งหมดนี้เป็นภาระความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะต้องแสดงให้เห็นว่าได้มีความพยายามอย่างจริงจังในการกำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการนำตัวจำเลยและผู้ต้องหาเหล่านั้นมาขึ้นศาลให้ทันก่อนอายุความจะหมดลง แม้สมาชิกภาพของ พล.อ.พิศาล จะสะดุดหยุดลง แต่ก็เป็นโอกาสดีที่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และการกำชับของฝั่งรัฐบาลจะทำงานได้อย่างเต็มที่โดยปราศจากอคติและการเลือกปฏิบัติ และคาดหวังว่า อีก 10 วันที่เหลือจะได้เห็นการปฏิบัติการที่เข้มแข็ง รัดกุม และทันท่วงทีมากขึ้นจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นหน่อยว่า รัฐบาลได้ทำงานอย่างเต็มที่แล้ว” รอมฎอน กล่าว
.
นอกจากนี้ รอมฎอนยังได้แสดงความเห็นต่อกรณีคณะรัฐมนตรีมีมติขยายการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงออกเป็นครั้งที่ 78 ว่า การขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินโดยไม่ได้มีการลดพื้นที่ของการประกาศลงครั้งนี้ ถือเป็นการขยายเวลาครั้งแรกในรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงว่า รัฐบาลไม่ได้มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายพิเศษใด ๆ ทั้งสิ้น จึงถือได้ว่า เป็นความคืบหน้าที่ไม่คืบหน้า
.
ทั้งกรณีตากใบและการขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้นำมาสู่คำถามว่า ตกลงยุทธศาสตร์ใหญ่และแนวทางนโยบายของพรรครัฐบาลจะทำอย่างไรต่อกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีความชัดเจนโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังอายุความของคดีตากใบสิ้นสุดลง และในฐานะหัวหน้ารัฐบาล นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ก็จะต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้