เผยแพร่ |
---|
ปชน.ร่วมรำลึก 51 ปี 14 ตุลาฯ ย้ำเป้าหมายวีรชนยังไม่บรรลุ ขอทุกฝ่ายร่วมสืบสานกระบวนการประชาธิปไตย-คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ร่วมผลักดันวาระเร่งด่วนจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่-นิรโทษกรรมผู้ต้องหาการเมือง-ติดตามจำเลยคดีตากใบ
วันที่ 14 ตุลาคม 2567 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ สี่แยกคอกวัว แกนนำและ สส.พรรคประชาชน ร่วมกิจกรรมวางพวงมาลารำลึกและกล่าวคำไว้อาลัยวีรชน เนื่องในโอกาสครบรอบ 51 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยมี ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และ ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กรุงเทพ เป็นผู้แทนของพรรคประชาชนในการวางพวงมาลาและกล่าวคำไว้อาลัย
ณัฐพงษ์ ระบุว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา ไม่ได้เป็นเพียงแค่การรำลึกถึงการสูญเสีย การเสียสละ และการต่อสู้ของวีรชนในอดีตเท่านั้น สิ่งสำคัญไม่แพ้กัน คือ การรำลึกถึงวัตถุประสงค์และข้อต่อสู้เรียกร้องของวีรชนในอดีต วันนี้ตนอายุ 37 ปี ขณะกล่าวคำรำลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดไม่ทัน ย่อมไม่สามารถเข้าใจถึงความคับแค้นใจและความรู้สึกของประชาชนที่เรียกร้องกันมา เท่ากับผู้ที่อยู่ในยุคสมัยนั้น
แต่เชื่อว่า คนทุกรุ่นทุกยุคสมัย รวมทั้งเยาวชนที่ร่วมต่อสู้ในกระบวนการประชาธิปไตยในยุคนี้สมัยนี้มีร่วมกันกับทุกคนที่ต่อสู้มาในอดีต คือเจตจำนงทางการเมืองที่ต้องการพัฒนาประชาธิปไตยและผลักดันสังคมไทยไปข้างหน้า คือ อยากได้สังคมไทยที่มีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่การชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจทางการเมืองโดยสุจริตย่อมต้องถูกคุ้มครองโดยกฎหมาย มันเป็นเรื่องเรียบง่ายมากที่ประชาชนต้องการจะมีรัฐบาลที่ให้สิทธิสวัสดิการ รวมถึงการให้บริการสาธารณะขั้นพื้นฐานกับประชาชนเฉกเช่นโลกที่หนึ่ง และเป็นเรื่องเรียบง่ายมากที่ประชาชนอยากมีประเทศที่ปลอดการทุจริตคอรัปชั่น
ณัฐพงษ์ กล่าวต่อไปว่า 1 ทศวรรษหลังปี 2500 ประชาชนไทยที่ได้ต่อสู้เรียกร้องมาก็ได้รัฐธรรมนูญปี 2511 มีการเลือกตั้งปี 2512 ทำให้เกิดกระบวนการประชาธิปไตยต่าง ๆ ที่เริ่มงอกงาม ไม่ว่าจะเป็นศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ขบวนการการต่อสู้ของแรงงาน รวมถึงพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่มีกลุ่มก้าวหน้า แต่กงล้อประวัติศาสตร์ก็ได้ถูกวนกลับไปด้วยการยึดอำนาจตัวเองด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญของเผด็จการทหารอีกครั้ง
ขอถามทุกท่านที่เคยอยู่บนถนนราชดำเนินที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องเพื่ออยากได้ประเทศไทยที่ถวิลหาเมื่อ 51 ปีที่แล้วว่า วันนั้นท่านได้จินตนาการถึงประเทศไทยในอีก 51 ปีข้างหน้าไว้อย่างไร และวันนี้ประเทศไทยได้เป็นอย่างที่ทุกคนถวิลหาแล้วหรือยัง แม้ตนจะไม่ได้อยู่ในเหตุการ์วันนั้น แต่ก็เชื่อว่า ประเทศไทยยังไปไม่ถึงจุดนั้น กระบวนการประชาธิปไตยหลายอย่างในประเทศ เช่น การจัดทำรัฐธรรมนูญยังคงมีอุปสรรค สิทธิเสรีภาพของประชาชนยังไม่ถูกคุ้มครอง คนที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องยังคงถูกเล่นงานกลั่นแกล้งด้วยคดีการเมือง การดำเนินการของรัฐที่สร้างบาดแผลลึกให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ยังคงไม่ได้รับการสะสาง ยังมีบุคคลที่เป็นจำเลยหลบหนีอยู่ต่างประเทศและยังไม่ได้ถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
.
ณัฐพงษ์ กล่าวต่อไปว่า เหตุการณ์ในอดีตกำลังสอนพวกเราว่า วันนี้กระบวนการประชาธิปไตยในประเทศไทยอาจจะยังเดินหน้าไปไม่ถึงไหน แต่หลายคนที่อยู่ที่นี่ย่อมสามารถร่วมกันผลักดันมันไปด้วยกันได้ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งวันนี้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า ประชามติเพียง 2 ครั้งก็เพียงพอแล้ว ติดอยู่เพียงแต่การบรรจุร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมกัน ถ้าเดินหน้าต่อด้วยกระบวนการแบบนี้เราย่อมสามารถทำให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้าได้
.
สำหรับคณะรัฐมนตรีก็สามารถผลักดันให้เกิดกระบวนการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองได้ ปัจจจุบันมีบุคคลหลายกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ที่ควรได้รับความเป็นธรรม ไม่ควรถูกดำเนินคดีกลั่นแกล้งทางการเมือง เรายังสามารถผลักดันการนิรโทษกรรมร่วมกันได้ รวมถึงการสร้างนิติรัฐนิติธรรมที่รัฐบาลเองก็เสนอเป็นนโยบายที่จะขับเคลื่อนและแถลงไว้ต่อรัฐสภา รวมถึงการแสดงเจตจำนงติดตามจำเลยในคดีที่สร้างบาดแผลลึกต่อประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลสามารถดำเนินการได้เลยในวันนี้ ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่การแสดงความตั้งใจและแสดงออกให้ประชาชนเห็นว่า รัฐบาลเอาจริงกับเรื่องนี้ คือ สิ่งที่สังคมต้องการ
.
ณัฐพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน วันนี้ตนเองก็ต้องมีส่วนในการพัฒนากระบวนการประชาธิปไตยและระบบการเมืองในประเทศเช่นเดียวกัน สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน คือ การทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างแข็งขัน และอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ฝ่ายค้านก็พร้อมนับสนุนในกระบวนการดังกล่าวไปพร้อมกับรัฐบาลอย่างเต็มที่
.
“คนทุกรุ่นทุกยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นวีรชน คนยุคก่อนหน้า คนยุคผม และคนยุคต่อจากผม เราก้าวเท้าสู่เส้นทางการเมืองมารับคมหอกคมดาบขวากหนามต่าง ๆ เพื่อพัฒนากระบวนการประชาธิปไตยและผลักดันสังคมไทยไปข้างหน้า ความฝันที่เรียบง่ายนี้ เราสามารถเดินหน้าต่อด้วยกันได้ อย่าทำให้การสูญเสียเลือดเนื้อของวีรชน 14 ตุลาฯ ต้องสูญเปล่า” ณัฐพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย