กมธ.ทหาร ชำแหละทรัพย์สินกองทัพ จากที่ดิน-โรงแรม-สถานีโทรทัศน์ จนถึงสนามกอล์ฟ พบขาดทุนมากกว่ากำไร ถามกองทัพบริหารธุรกิจไม่เป็น แต่ทำไมลงทุนทุกอย่างตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ

“วิโรจน์” นำทีม กมธ.ทหาร ชำแหละทรัพย์สินกองทัพ จากที่ดิน-โรงแรม-สถานีโทรทัศน์ จนถึงสนามกอล์ฟ พบขาดทุนมากกว่ากำไร ถามกองทัพบริหารธุรกิจไม่เป็น แต่ทำไมลงทุนทุกอย่างตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ จี้ทบทวนตัวเองแล้วเปิดเผยข้อมูลเพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้


วันที่ 12 ตุลาคม 2567 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎรจัดงานเสวนา “ตามหาขุมทรัพย์ของกองทัพไทย : การบริหารธุรกิจเชิงพาณิชย์ของกองทัพ”

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และประธานคณะกรรมาธิการการทหาร กล่าวเปิดงาน โดยระบุถึงความจำเป็นในการปฏิรูปกองทัพ ว่าการปฏิรูปกองทัพมีองค์ประกอบย่อยหลายอย่าง หนึ่งในเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน คือ การยกเลิกการเกณฑ์ทหารหรือการเปลี่ยนเป็นระบบรับสมัครทหารกองประจำการ 100%

ประเทศไทยมีหน่วยรบพิเศษมากมาย การฝึกของหน่วยรบพิเศษหลายครั้ง คือ การฝึกมนุษย์เหล็กที่โหดและหนักมาก แต่ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการการทหารไม่เคยได้รับข้อร้องเรียนใด ๆ จากการฝึกหน่วยรบพิเศษเหล่านี้เลย เพราะเป็นการฝึกที่มีแบบแผนและคนที่เข้าร่วมการฝึกก็ล้วนแต่มาจากความสมัครใจและรู้อยู่ก่อนแล้วว่าจะเจอกับการฝึกแบบไหน ความสมัครใจจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ที่จะทำให้เราได้ทหารมืออาชีพ

วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่มีการเปิดโครงการพลทหารปลอดภัย คณะกรรมาธิการการทหารได้รับเรื่องร้องเรียนถึง 38 เรื่อง หลายกรณีปัญหามาจากตัวพลทหารที่ไม่พร้อมเอง หลายกรณีมีเรื่องยาเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้อง หลายกรณีมาจากความไม่พร้อมและความไม่สมัครใจที่จะเป็นทหาร ทำให้ครูฝึกดำเนินการได้ไม่เป็นไปตามแผน หลายครั้งมีการระบายอารมณ์ส่วนตัว กระทำการที่เข้าข่ายซ้อมทรมาน หลายครั้งมีการชี้แจงว่า พลทหารกระทำความผิดอย่างร้ายแรง แต่คณะกรรมาธิการฯ ก็ตั้งคำถามกลับไปเสมอว่า ทำไมไม่ดำเนินคดีสั่งฟ้องต่อศาลทหาร แต่กลับใช้วิธีทำทารุณกรรมในค่ายทหารแทน

สิ่งที่คณะกรรมาธิการฯ ทำได้ คือ การชี้เบาะแสและรวบรวมข้อเท็จจริงส่งให้ดีเอสไอ อัยการฝ่ายสำนักงานสอบสวนบ้างหรือล่าสุดกรณีพลทหารศิริวัฒน์ ใจดี คณะกรรมาธิการฯ ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานเพื่อดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก เพราะผู้กระทำจะต้องขึ้นศาลอาญาคดีทุจริต โดยในมาตรา 42 ให้มีการเอาผิดครึ่งหนึ่งกับผู้บังคับบัญชาด้วย

วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า จากกรณีที่เข้าข่ายการซ้อมทรมานที่ผ่านมา ไม่เคยมีครั้งใดเลยที่กองทัพบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ หรือเอาผิดกับนายทหารระดับบังคับบัญชาอย่างจริงจัง จนมีข้อเสนอสำคัญขึ้นมาว่า ตราบใดที่ยังไม่มีระเบียบภายในของกระทรวงกลาโหมที่จะเอาผิดนายทหารระดับบังคับบัญชา โดยออกระเบียบอิงกับ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ หรือ พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ฯ มาตรา 13 ที่ให้ข้าราชการมีความรับผิดถึงสองเท่า และถ้าไม่เห็นการเอาผิดระดับบังคับบัญชา วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดก็จะคงอยู่เรื่อยไป
.
วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องของเสนาพาณิชย์ที่จะมีการพูดถึงในวันนี้ ทุกครั้งมักมีการอธิบายจากกองทัพว่า มีความจำเป็นต้องใช้เงินนอกงบประมาณเพื่อมาจัดสวัสดิการให้ทหารชั้นผู้น้อย แต่ขัดกับข้อเท็จจริงที่ว่า ปัญหาหนี้สินของทหารชั้นผู้น้อยที่ผ่านมามีความรุนแรงมาก จากจำนวนกำลังพลของทุกเหล่าทัพ 2.5 แสนนาย คนที่ถูกหักเงินกู้สหกรณ์จนเหลือเงินเดือนน้อยกว่า 30% มีจำนวนถึง 53,210 นาย หรือ 21% และมีคนที่ถูกหักแล้วเหลือเงินเดือนน้อยกว่า 9,000 บาทถึง 81,030 นาย หรือ 32% ของกำลังพลทั้งหมด ทั้งที่มีมติคณะรัฐมนตรีแล้วว่า ห้ามหักเงินเดือนข้าราชการจนเหลือน้อยกว่า 30% แต่เหล่าทัพต่าง ๆ ก็ยังคงไม่ปฏิบัติตาม เว้นแต่กองทัพอากาศที่มีการออกประกาศมาชัดเจนแล้วว่าจะไม่หักเงินเดือนกำลังพลให้ต่ำกว่า 30% และน้อยกว่า 9,000 บาท

“นี่คือภัยความมั่นคงของทหารทั้งหมด ทั้งที่ควรจะการแก้ไขปัญหาได้ไม่ยาก แต่ทำไมเหล่าทัพต่าง ๆ จึงยังไม่ยอมทำตามมติคณะรัฐมนตรีที่ออกมา มีข้อสังเกตจากกรรมาธิการว่า นายพลจำนวนไม่น้อยมีตำแหน่งแห่งที่ในสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ และได้ผลประโยชน์จากดอกผลจากการปล่อยกู้กับนายทหารชั้นผู้น้อย ที่พูดมานี้ไม่ใช่หมายความว่า ให้พลทหารเบี้ยวหนี้ แต่การที่จะปล่อยให้ใครกู้ต้องเช็คเครดิตด้วย ไม่ใช่ปล่อยกู้แบบไม่อั้นแล้วหวังว่าจะได้ดอกเบี้ยจากเขา อยู่ในฐานะทั้งเจ้านายและเจ้าหนี้ในตัวคนเดียวกัน นี่เป็นการหน่วงรั้งที่ทำให้ไม่เกิดการแก้ไขหรือออกกฎระเบียบไม่ให้หักเงินเดือนทหารให้เหลือน้อยกว่า 30% และ 9,000 บาทหรือไม่”

วิโรจน์ ยังระบุอีกว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ แหล่งเงินที่จะเอามาใช้ดูแลทหารชั้นผู้น้อย คณะกรรมาธิการทหารไม่เคยมีเจตนาว่า จะเอาเงินนอกงบประมาณของกองทัพทุกอย่างคืนกลับมาคลัง แต่เราต้องการความโปร่งใส อะไรที่ตอบไม่ได้ว่า เกี่ยวพันกับภารกิจกองทัพอย่างไรก็ควรจะถ่ายโอนคืนกลับมาให้อยู่ภายใต้การบริหารของรัฐที่มีประสิทธิภาพมากกว่า อย่างเช่น คลื่นวิทยุ ที่ต้องสงสัยว่าจะขาดทุนมหาศาล เหตุผลที่ไม่ถ่ายโอนคืนคืออะไร

“สิ่งที่ทั้งกรรมาธิการวิสามัญถ่ายโอนฯ และกรรมาธิการการทหารต้องการมากที่สุด คือ ความโปร่งใส การที่เอาเงินไปใช้อุดหนุนดูแลสวัสดิการทหารชั้นผู้น้อยต้องเต็มเม็ดเต็มหน่วยให้กำลังพลมีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มภาคภูมิ ในฐานะที่เขาเป็นมดงานที่สำคัญของประเทศ แต่ถ้าเงินนอกงบประมาณถูกใช้อย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ถูกใช้อย่างปกปิดอำพราง ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ สิ่งที่อ้างว่า ทำเพื่อทหารชั้นผู้น้อยก็ยากที่ประชาชนจะเชื่อได้ 100%” วิโรจน์ กล่าว

ส่วน รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมาธิการถ่ายโอนธุรกิจกองทัพฯ กล่าวในหัวข้อ “ภาพรวมที่ดินและธุรกิจกองทัพ” ระบุว่า แม้กองทัพจะดูเหมือนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงมีการบริหารจัดการธุรกิจอย่างต่างคนต่างทำสูง หน่วยงานหลักทั้ง 5 มีอาณาจักรธุรกิจของตัวเอง ถือคนละบัญชี ไม่มีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน ต่างคนต่างดูแลผลประโยชน์ของตัวเองไป ปัญหาของการมีอาณาจักรธุรกิจที่แยกกันทำคือบางครั้งเกิดความซ้ำซ้อนกัน

สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเมื่อพูดถึงธุรกิจกองทัพก็คือที่ดิน เป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้กองทัพสามารถทำธุรกิจสารพัดชนิดได้ ทั้งสนามกอล์ฟ ปั๊มน้ำมัน โรงแรม รีสอร์ท การขายน้ำไฟให้ประชาชน ฯลฯ คำว่าที่ดินของกองทัพนี้ ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ของกองทัพเองแต่เป็นที่ดินราชพัสดุในการดูแลของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง โดยที่ราชพัสดุนี้อยู่ในความครอบครองกองทัพมากที่สุดถึง 5.8 ล้านไร่ ผู้ครอบครองมากที่สุดคือกองทัพบก คิดเป็นจำนวนถึง 45.5% และเมื่อรวมกับที่ดินส่วนอื่น ๆ ทั้งที่เป็นพื้นที่ป่าสงวนในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ และที่ดิน ส.ป.ก. ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยเข้าไปด้วย กองทัพก็จะมีที่ดินรวมกันถึง 6.5 ล้านไร่

รศ.พวงทอง กล่าวต่อไปว่า ธุรกิจของกองทัพนั้นสามารถแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ได้ 3 หมวดใหญ่ด้วยกัน คือ กองทุนสวัสดิการ เงินนอกงบประมาณ และการลงทุนในบริษัทจำกัด โดยในส่วนของกองทุนสวัสดิการสามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วน คือ 1) สวัสดิการภายใน ที่มุ่งเน้นให้บริการกำลังพลหรือครอบครัวของกองทัพโดยรายได้ทั้งหมดไม่ต้องส่งคืนกระทรวงการคลัง ภายใต้กฎหมายที่กำกับดูแลคือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และ 2) สวัสดิการเชิงธุรกิจ ที่ผู้ใช้บริการมากกว่า 50% เป็นบุคคลภายนอกไม่แตกต่างจากที่เอกชนทำ เป็นส่วนที่ตามกฎหมายต้องแบ่งรายได้ให้กรมธนารักษ์ โดยสวัสดิการภายในมีทั้งหมด 277 กิจการ สวัสดิการเชิงธุรกิจมี 161 กิจการ รวมทั้งหมดเป็น 438 กิจการ

แม้กองทุนสวัสดิการภายในจะเป็นสิ่งที่หน่วยงานรัฐอื่น ๆ ก็มีเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าสวัสดิการ สหกรณ์ออมทรัพย์ ร้านตัดผม ร้านอาหาร ฯลฯ ไว้บริการบุคลากรภายในในราคาถูก แต่สิ่งที่กองทัพแตกต่างจากหน่วยงานอื่น คือ มีธุรกิจแบบนี้จำนวนมาก หลายรายการมีการถือครองทรัพย์สินมูลค่าสูง โดยเฉพาะที่ดินและธุรกิจที่หน่วยงานอื่นไม่มี

กมธ.ทหาร กล่าวต่อว่า แม้สวัสดิการเชิงธุรกิจจะเป็นส่วนที่ตามกฎหมายกำหนดไว้ว่า ต้องแบ่งรายได้ให้กรมธนารักษ์ แต่ที่ผ่านมากลับไม่เคยมีการปฏิบัติตามกฎหมายจริงเลย จนกระทั่งเมื่อสี่ปีที่แล้วหลังเหตุกราดยิงที่นครราชสีมา จึงทำให้มีการปรับปรุงการบริหารงานกองทัพให้เป็นไปตามกฎหมายยิ่งขึ้น แต่ 4 ปีผ่านไปก็ยังเหลืออีกกว่า 87 กิจการที่ยังทำข้อตกลงไม่เสร็จเสียที

สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญของกองทุนสวัสดิการ คือ กองบัญชาการกองทัพไทยและกองทัพบก ไม่เคยให้ข้อมูลตัวเลขรายรับรายจ่ายและกำไรขาดทุนกับคณะกรรมาธิการฯ เลยแม้แต่ครั้งเดียว เท่ากับว่ากองทัพกำลังทำกิจการเอง ทำบัญชีเอง ตรวจสอบบัญชีเอง โดยที่การจัดทำงบประมาณการเงินและหมายเหตุประกอบงบประมาณการเงินที่ได้รับจากกองทัพบางส่วน มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐานตามมาตรฐานการสอบบัญชีทั้งของสำนักงบประมาณ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือบริษัทเอกชน

สำหรับกรณีเงินนอกงบประมาณของกองทัพนั้น สามารถแบ่งได้เป็นสองประเภท คือประเภทที่ 1 ที่ไม่ต้องส่งเงินให้กระทรวงการคลัง แต่ยังมีสถานะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ประกอบด้วยกิจการ 9 กลุ่ม เช่น ศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ โรงงานแบตเตอรี่ทหาร โรงงานเภสัชกรรมทหาร เงินทุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โรงงานผลิตวัตถุระเบิดทหาร โรงพยาบาลในสังกัดกองทัพ สถานศึกษาในสังกัดกองทัพ และยังมีรายได้จากโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและเมืองการบิน ซึ่งอยู่ในการดูแลของกองทัพเรือด้วย

เงินนอกงบประมาณประเภทนี้มีตัวเลขที่สูงมาก ตัวเลขรวมปี 2565 มีจำนวนสูงถึง 4.5 หมื่นล้านบาท และเพิ่มขึ้นมาในปี 2568 เป็น 4.9 หมื่นล้านบาท โดยเป็นตัวเลขรวมของเงินที่ยกมาจากปีก่อนหน้านี้บวกกับรายได้ที่ได้ในปีนั้นๆ โดยหน่วยงานที่มีเงินนอกงบประมาณมากที่สุดคือกองทัพบก ซึ่งเป็นตัวเลขที่การใช้จ่ายค่อนข้างสม่ำเสมอ แต่ไม่อาจทราบได้ว่าใช้จ่ายอะไรบ้างเนื่องจากไม่ยอมเปิดเผย

เงินนอกงบประมาณประเภทที่สอง กระทรวงการคลังอนุญาตให้กองทัพสร้างเงินนอกงบประมาณประเภทใหม่ขึ้นมาได้ ซึ่งหน่วยงานอื่นไม่มี โดยกองทัพสามารถตั้งงบประมาณเอง อนุมัติเอง ทำบัญชีเอง สอบบัญชีเองได้โดยไม่ต้องรายงานคนนอก

มีตัวอย่างสำคัญ คือ กิจการวิทยุและโทรทัศน์ ททบ.5 ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีปัญหาที่สุดทั้งในแง่กฎหมายและความโปร่งใส ซึ่งไม่ได้มีแค่สถานีโทรทัศน์ แต่ยังเป็นเจ้าของ MUX sinv สถานีที่ทำการส่งสัญญาณดิจิทัล 2 สถานีที่ให้บริษัทเอกชนมาเช่าคลื่นความถี่ หลายบริษัทโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงก็อาศัยการเช่าจาก ททบ.5 นี้ และยังมีจำนวนคลื่นวิทยุ FM/AM รวมกันถึง 196 คลื่น เป็นของกองทัพบกถึง 122 คลื่น ซึ่งไม่มีตัวเลขรายรับรายจ่ายเช่นกัน

สำหรับกรณีการลงทุนในบริษัทจำกัดนั้น กองทัพมีการลงทุนในบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ถึง 8 บริษัทใหญ่ มีมูลค่ารวมกันถึง 1,400 ล้านบาท เช่น ธนาคารทหารไทยธนชาติ ธนาคารกรุงเทพ บริษัทเกียรตินาคิน และบริษัททางด่วนและรถไฟกรุงเทพ โดยสัดส่วนส่วนใหญ่ 82% อยู่ที่ธนาคารทหารไทย-ธนชาติ และยังมีการลงทุนในบริษัทจำกัดที่มีนัยสำคัญสองบริษัท คือ บริษัท อาร์ทีเอเอ็นเตอร์ไพรซ จำกัด และบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด ในกรณีหลังมีปัญหาประสิทธิภาพ 20 ปีที่ผ่านมายังไม่สามารถคืนกำไรให้ผู้ถือหุ้นได้เลย

ปัญหา คือ การที่กองทัพลงทุนกับบริษัทเอกชนเหล่านี้ ไม่มีกฎหมายอนุญาตหรือรองรับให้กระทรวงกลาโหมหรือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมไปดำเนินกิจการเชิงพาณิชย์หรือถือหุ้นบริษัทเอกชนได้ ถ้าจะทำต้องทำด้วยการจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจในการควบคุมของกลาโหม หรือให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทนั้น แล้วให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้หน่วยงานเหล่าทัพไปควบคุมกำกับดูแล แต่ที่ผ่านมาเราพบว่ากองทัพและหน่วยงานในสังกัดกองทัพเข้าไปถือหุ้นในบริษัทเอกชนและตลาดหุ้นจำนวนมาก และเวลาที่มีกำไรปันผลขึ้นมาก็ไม่มีใครทราบได้ว่ากำไรไปอยู่ที่ไหนและบริหารจัดการอย่างไร

เรื่องความโปร่งใสเป็นปัญหาใหญ่นำมาสู่คำถามเรื่องประสิทธิภาพและความไม่เป็นธรรม กองทัพมักอ้างว่า รายได้เหล่านี้นำไปเลี้ยงดูกำลังพล บางครั้งก็อ้างว่ากิจการบางอย่างทำให้กองทัพสามารถเลี้ยงตัวเองได้ แต่ความเป็นจริงกิจการเหล่านี้ดำเนินงานโดยใช้ทรัพยากรพื้นฐานของชาติ คือที่ดิน อาคารสำนักงาน กำลังพล น้ำ ไฟ บางกิจการเข้าไปดูรายละเอียดจริงๆ แล้วขาดทุน ที่ระบุว่าไม่ขาดทุนก็เพราะเอาเงินงบประมาณที่ตั้งขอจากรัฐมาบวกเข้ากับรายรับด้วย

“นี่คือการขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีข้อจำกัดโดยอาศัยทรัพยากรของชาติ พอไม่เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดเราก็ตั้งคำถามได้ว่ารายได้ที่เป็นจริงน่าจะสูงมากกว่านี้หรือไม่ แล้วกองทัพต้องใช้เงินมากเพียงใดในนามของสวัสดิการภายในของกำลังพล แต่เราก็ได้ยินข่าวบ่อยๆ ว่าทหารชั้นผู้น้อยถูกเบียดบังอย่างมาก แล้วรายได้พวกนี้มันหายไปไหน” รศ.พวงทอง กล่าว

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี สื่อมวลชนอิสระและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการถ่ายโอนธุรกิจกองทัพฯ กล่าวในหัวข้อ “ผูกขาดชั่วนิรันดร์ วิทยุโทรทัศน์ทหาร” ว่า กองทัพรับใบอนุญาตครอบครองคลื่นวิทยุ-โทรทัศน์ โครงข่ายทีวีดิจิทัล และโทรคมนาคม ทั้งสิ้น 200 ใบ มากกว่ากรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีหน้าที่โฆษณางานของรัฐและประกาศข่าวทางราชการ 2 เท่า เริ่มต้นจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 หรือ ททบ. 5 ครอบครองคลื่นโทรทัศน์ 1 คลื่น เป็นสถานีโทรทัศน์ “สาธารณะประเภท 2” เพื่อความมั่นคง และได้ใบอนุญาตให้บริการโครงข่าย 2 โครงข่ายคือ MUX 2,5
สุภลักษณ์ กล่าวอีกว่า สถานี ททบ. ไม่ตอบโจทย์ทางด้านความมั่นคง เพราะมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงจริง ๆ เพียง 8 % ไม่นับรายการข่าว เพราะก็เป็นข่าวสารทั่วไปเหมือนกับสถานีอื่น ๆ เนื้อหาด้านบันเทิงและกีฬาก็คล้าย ๆ กับทีวีทั่วไปเช่นกัน ส่วนเรตติ้งของช่อง 5 ก็ค่อนข้างต่ำ อยู่ในอันดับ 19 ผู้ชมเฉลี่ย 8,915 เข้าถึงผู้ชมทั้งหมด 7.1 ล้านคน
“ผลประกอบการในรอบ 6 ปีที่ผ่านมาขาดทุนเฉลี่ย 100 ล้านบาทต่อปี แต่ไม่ทราบว่า ขาดทุนจากการดำเนินงานทีวีหรือส่วนอื่นใด เพราะ ททบ.5 ไม่ยอมเปิดเผย บัญชีงบดุล แต่มีรายได้ที่สามารถประเมินได้จากค่าเช่าโครงข่ายของทีวีดิจิตอล 11 สถานี รวมทั้ง ททบ. 5 เอง คิดเป็นเงินประมาณ 882 ล้านบาทต่อปี”
ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่ต้องการเน้นย้ำเป็นพิเศษ คือ ความผิดปกติและปัญหาเงื่อนงำใน ททบ.5 ที่ผู้แทนทั้งจากสถานีและกองทัพบกชี้แจงอย่างไรก็ไม่กระจ่าง คือ 1.สถานะทางกฎหมาย ททบ.5 ไม่ชัดเจนนัก โดยแจ้งว่า เป็นหน่วยงานสังกัดกองทัพบก แต่ไม่รวมงบประมาณเข้ามาอยู่ในบัญชีกองทัพบก
2.เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2540 ระหว่างที่อุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนกำลังเฟื่องฟู ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจไม่นานมีการจัดตั้งบริษัท ททบ.5 โดยกองทัพบกถือหุ้น 100 % เพื่อทำธุรกิจสถานี ททบ.5 รายงานผู้สอบบัญชี ปี 2543, 2544 แจ้งว่า บริษัทนี้มีรายได้จากค่าโฆษณาและเช่าช่วงเวลาสถานี ททบ.5 บริษัทนี้ มีหนี้สินกับสถานี ททบ.5 จำนวน 1,400 ล้านบาท นอกจากนี้ยังปรากฏชื่อนายทหารยศนายพลถือหุ้นในนามกองทัพบก และ นายทหารหลายคนเป็นผู้ถือหุ้นส่วนที่เหลือร่วมกับพลเรือนจำนวนหนึ่ง ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2547 ปรากฏชื่อบริษัท RTA Entertainment จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
3.ครม.มีมติเมื่อปี 2547 ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนพบความผิดปกติหลายประการเกี่ยวกับการดำเนินการของบริษัทและททบ.5 เช่น สถานีให้บริษัท RTA Entertainment เช่าเวลาและทำการตลาดนานถึง 30 ปีได้อย่างไร, ทำไมจึงมีการโอนสิทธิการซื้อหุ้นเพิ่มทุนธนาคารทหารไทยให้บริษัทที่จดทะเบียนที่เกาะบริติชเวอร์จิน และอาจจะมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะผู้บริหารสถานีกับผู้บริหารบริษัทเป็นคนกลุ่มเดียวกัน
“กรรมการฯ ในช่วงนั้นเสนอให้ ครม.ส่งเรื่องให้ ปปช. ปรากฏว่า ปปช. นั่งทับอยู่นานถึง 19 ปี เพิ่งจะมีมติตีตกเมื่อปี 2566 เพราะเหตุที่ไม่พบว่า ผบ.ทบ.ในขณะนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับความผิดปกติทั้งหมด แต่มีข้อสังเกตว่า บริษัท ททบ.5 ควรมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ”
นอกจากนี้ยังมีปัญหาหนี้สินระหว่างบริษัทกับ ททบ.5 ที่เริ่มจากปี 2541 ที่บริษัท ททบ.5 กู้เงินจาก สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 จำนวน 1,446.7 ล้านบาทไปซื้อหุ้นธนาคารทหารไทย 114 ล้านหุ้น เพื่อช่วยพยุงฐานะธนาคารช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะมีหน่วยงานสังกัดกระทรวงกลาโหมหลายหน่วยถือหุ้นธนาคารแห่งนี้ ต่อมาสถานี ททบ.5 ให้บริษัทททบ.5 กู้เงินจากธนาคารทหารไทย 1,615 ล้านบาท เพื่อลงทุนโครงการโทรทัศน์ดาวเทียมตามกระแสความนิยมในวงการสื่อสมัยนั้น
“ผลการสอบของคณะกรรมการชุดที่ครม.ตั้งเมื่อปี 2547 ระบุว่า 2547 RTA Entertainment เป็นหนี้สถานีททบ.5 จำนวน 1,320 ล้านบาท และ สถานี ททบ.5 เป็นหนี้ RTA Entertainment 1,536 ล้านบาท หากมีการหักกลบหนี้กัน สถานีจะต้องใช้เงินคืนให้บริษัท 216 ล้านบาท เรื่องนี้ไม่มีความกระจ่างเพราะ ปปช.ไม่สืบสาวเอาเรื่อง”
เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเป็นชื่อ RTA Enterprise ความจริงแล้วก็คือบริษัท RTA Entertainment เดิมนั่นเอง แต่บริษัทใหม่นี้มีบริษัทในเครือเพิ่มขึ้น เมื่อตรวจสอบพบว่า กรรมการบริษัททั้งหมดเป็นนายทหาร ที่สำคัญ คือ ในรายงานผู้สอบบัญชีพบว่า ปี 2565 บริษัทมีผลการดำเนินงานขาดทุนเกินทุน 1,005.21 ล้านบาท ในปี 2565 เช่นกัน รายงานที่ประชุมผู้ถือหุ้น เปลี่ยนแปลงประเพณี กรรมการบริหารททบ. ต้องเป็นกรรมการและประธานกรรมการบริษัท เพราะคนที่เพิ่งหมดวาระในปีนั้น
สื่อมวลชนอิสระ กล่าวอีกว่า ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ ปี 2565 รายงานการสอบบัญชีระบุว่า ความสามารถในการดำเนินงานของบริษัทขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการประกอบการของ ททบ.5 ที่ยืนยันจะสนับสนุนด้านการเงินแก่บริษัทต่อไป แต่เมื่อปี 2566 หมายเหตุผู้สอบบัญชีระบุว่า สถานีไม่ยืนยันที่จะสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทอีกต่อไปแล้ว แต่ในปี 2566 นั้นข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท 49 % ยังคงเป็นกองทัพบก
“ขอเรียกร้องให้ ผบ.ทบ.คนใหม่ทำความกระจ่างเกี่ยวกับความเคลือบแคลงทางกฎหมายและธุรกิจดังต่อไปนี้ 1.กองทัพบกจัดตั้งบริษัท ททบ. 5 และต่อมา คือ RTA Enterprise ในปัจจุบันได้อย่างไร ในเมื่อ พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหมปี 2551 ไม่ได้ให้อำนาจหน่วยงานในสังกัดดำเนินการเชิงพาณิชย์หรือร่วมกับเอกชนทำธุรกิจ 2.นายพลทั้งหลายเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัท RTA Enterprise ได้อย่างไร ในเมื่อคำสั่งคณะปฏิรูปแผ่นดินที่ 38/2519 ห้ามข้าราชการกระทรวงกลาโหม เป็นกรรมการหรือผู้จัดการบริษัท 3.จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อผู้แทนสถานี ททบ.5 ปฏิเสธความสัมพันธ์และไม่ยืนยันความเกี่ยวข้อง ไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินกับบริษัทอีกต่อไป และ 4.ผู้แทนสถานี ททบ.5 ยอมรับว่า บริษัทมีฐานะเป็นลูกหนี้ แต่ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดการบังคับชำระหนี้ และหนี้นี้อาจจะเป็น “หนี้เสีย ที่สงสัยว่าจะกลายเป็นหนี้สูญ”
นอกจากยังพบว่า วิทยุทหารมี 196 สถานีทั่วประเทศ ทั้งระบบ AF/FM อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 19 จาก 40 สถานีเป็นของกองทัพ ซึ่งรายได้จากสถานีวิทยุลดลงอย่างมีนัยสำคัญในรอบ 10 ปี อีกทั้งสถานีวิทยุจำนวนไม่น้อยไม่มีรายได้หรือขาดทุน และพบว่าระบบบัญชีไม่ได้มาตรฐาน มีรายจ่ายที่น่าเคลือบแคลงมากมาย การดำเนินการส่วนหนึ่งให้บริษัทเอกชนเป็นผู้ร่วมผลิตรายการ
“ที่น่าตกใจที่สุด คือ ค่าใบอนุญาตรายปีที่จ่ายให้ กสทช.เพียง 3,631.51 บาทต่อปี เมื่อหารด้วย 14 สถานีก็จะตกใบอนุญาตละ 259.40 บาทเท่านั้น”
ส่วนกองทัพเรือมี 21 คลื่น ก็มีสภาพไม่ต่างกันเท่าใดนัก มีคลื่นในครอบครองเป็น FM 14 คลื่น มีเอกชนแบ่งเวลา 12 คลื่น AM 7 คลื่น มีเอกชนแบ่งเวลา 2 คลื่น ส่วนกองทัพอากาศมี 36 สถานีเจอปัญหาเหมือนกัน คือ ขาดทุน
สุภลักษณ์มีข้อเสนอ 4 ข้อ คือ 1.ในแง่ของความจำเป็นที่จะธำรงสภาพสถานี-วิทยุโทรทัศน์ทหารคงไม่มากนัก เพราะมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับความมั่นคงเพียงไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ 2.ความมีประสิทธิภาพ ททบ. 5 นั้นเรตติ้งต่ำมาก ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน อีกทั้งผลการดำเนินงานก็ขาดทุน 3.การดำเนินงานของสถานีวิทยุ-โทรทัศน์ทหารส่วนใหญ่ไม่โปร่งใส เช่น ททบ.5 และกองทัพบกไม่เคยแสดงบัญชีให้ กมธ. ดูเลย และ 4.ความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมต่อหน่วยทหารด้วยกันระหว่างหน่วยที่ครอบครองคลื่นกับหน่วยที่ไม่ได้ครอบครอง ไม่เป็นธรรมกับหน่วยราชการอื่นที่ไม่ได้มีคลื่นวิทยุโทรทัศน์เป็นของตัวเอง
“อยากจะเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ รัฐบาล รัฐมนตรีกลาโหม ผบ.เหล่าทัพทุกท่าน ได้แน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด เพื่อให้เป็นเกียรติเป็นศรีแก่วงศ์ตระกูล เพื่อความเจริญก้าวหน้าวัฒนาถาวรของกองทัพและประเทศชาติสืบไป” สุภลักษณ์ กล่าว
——————
ขณะที่เชตวัน เตือประโคน สส.ปทุมธานี พรรคประชาชน และรองประธานคณะกรรมาธิการการทหาร ได้รายงานข้อมูลที่เกี่ยวกับกิจการสนามกอล์ฟของกองทัพ โดยระบุว่า จากการชี้แจงของกองทัพมีรายงานสนามกอล์ฟของกองทัพในปัจจุบันรวมทุกเหล่าทัพมีทั้งหมด 57 แห่ง บนที่ดินรวมกัน 20,871 ไร่ จากการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการฯ พบว่า ยังมีส่วนที่กองทัพไม่ได้แจ้งอีก 4 แห่ง ทำให้ในความเป็นจริงกองทัพมีสนามกอล์ฟรวมทั้งหมด 61 สนามบนที่ดินถึง 21,454 ไร่ โดยเป็นสนามของกองทัพเรือ 4 สนาม ที่ดินรวมกัน 2,354 ไร่ กองทัพอากาศ 13 สนาม ที่ดินรวมกัน 4,047 ไร่ และของกองทัพบก 40 สนาม ที่ดินรวมกัน 14,470 ไร่ เมื่อลองนำสนามกอล์ฟทั้งหมดจากทุกเหล่าทัพมาปักหมุดในแผนที่ประเทศไทยพบว่า สนามกอล์ฟเหล่านี้กระจายอยู่ในทุกภูมิภาค ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ แต่ที่เข้าใจไม่ได้ คือ การมีสนามของกองทัพหลายแห่งอยู่ติดกันใกล้กันมาก ทั้งจากคนละเหล่าทัพและจากเหล่าทัพเดียวกัน

เชตวัน กล่าวต่อไปว่าประชาชนไม่เข้าใจว่าทำไมกองทัพถึงใช้ที่ดินรัฐไปทำสนามกอล์ฟมากมายถึงเพียงนี้ และทำไมแต่ละเหล่าทัพต้องมีคนละสนามในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ไม่นับรวมว่า มีสนามกอล์ฟของกองทัพที่อยู่ใกล้สนามกอล์ฟของเอกชนด้วย ที่ผ่านมากองทัพเคยชี้แจงว่า ใช้เพื่อเป็นที่ออกกำลังกายของทหาร มีไว้รับรองแขกบ้านแขกเมือง มีไว้เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายและค่าบริการของสนามกอล์ฟเอกชนที่อยู่ใกล้เคียง และมีไว้เพื่อการบริหารจัดการพื้นที่ในเชิงความมั่นคง

แต่ในระยะหลังทุกเหตุผลที่กองทัพเคยยกมาเหมือนจะถูกลืมไปแล้ว มีการรวมกันเป็นเหตุผลเดียว คือ เพื่อเป็นสวัสดิการของทหารชั้นผู้น้อย เพราะเป็นแหล่งรายได้เข้าสู่กองทุนสวัสดิการ อย่างไรก็ตามข้ออ้างดังกล่าวนั้นยังไม่สามารถตอบคำถามได้ว่า กองทัพจำเป็นต้องมีสนามกอล์ฟจำนวนมากขนาดนี้ไปทำไม นั่นทำให้ตนและพรรคประชาชนมีข้อเสนอว่า ต้องมีการนำสนามกอล์ฟเหล่านี้มาพิจารณาความสมเหตุสมผลใหม่อีกครั้งว่า จะให้กองทัพบริหารจัดการต่อไปหรือควรต้องส่งคืนให้รัฐใช้ประโยชน์อื่น

เชตวัน ยกตัวอย่างกรณีสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ บนพื้นที่กว่า 625 ไร่ หากเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะจะทำให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์เกือบ 3 แสนคน เฉพาะสำหรับชาวปทุมธานี หากรวมประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงอื่นด้วยจะมีประชาชนได้ประโยชน์กว่า 5 แสนคน อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากกำไร 11 ล้านบาทต่อปีที่สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ได้รับ ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าเสียโอกาสจากการไม่ได้พัฒนาพื้นที่กว่า 625 ไร่ ราคาประเมินไร่ละ 16.4 ล้านบาท มูลค่ารวมถึง 10,250 ล้านบาทนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เชตวัน ยังระบุว่า การนำสนามกอล์ฟเหล่านี้มาทำประโยชน์ในทางอื่น จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศและประชาชนได้มากกว่านี้มาก เช่น สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ หากเปลี่ยนให้เป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ แม้ไม่ได้สร้างรายได้ แต่ประชาชน 3-5 แสนคนจะได้ใช้ที่ดินแห่งนี้เป็นที่ออกกำลังกาย มีสุขภาพที่ดี และจะสามารถประหยัดงบประมาณของประเทศในการดูแลความเจ็บไข้ได้ป่วยได้มหาศาล เปลี่ยนจากผู้ใช้งานที่เป็นนายพลจำนวนไม่มาก ไปสู่ประชาชน สามารถออกแบบให้เป็นได้ทั้งศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตครบวงจรกลางเมือง ศูนย์กีฬาและพื้นที่จัดงานอีเวนต์ สวนสาธารณะสีเขียวขนาดใหญ่

“ผมเข้าใจเรื่องความจำเป็นในการออกกำลังกายของทหาร ความมั่นคง สวัสดิการกองทัพ ข้อเสนอการเปลี่ยนสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์เป็นสวนสาธารณะ การยกเลิกสนามกอล์ฟกานต์รัตน์ การยกเลิกสนามกอล์ฟในตัวเมืองโคราช หรือเชียงราย ไม่ใช่ว่าต้องตะบี้ตะบันเอามาให้ได้ อะไรที่จำเป็นสำหรับกองทัพและความมั่นคง ถ้ากองทัพอธิบายกับสังคมได้ว่าจำเป็นอย่างไรก็บริหารต่อไป แต่อะไรที่ตอบไม่ได้ ไม่สมเหตุสมผล ใช้ที่ดินไม่คุ้มค่า กองทัพก็ต้องพิจารณาตัวเอง ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมกับทุกคน เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่และประเทศ” เชตวันกล่าว

เบญจา แสงจันทร์ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า และกรรมาธิการถ่ายโอนธุรกิจกองทัพฯ ได้รายงานข้อมูลกิจการของกองทัพที่เกี่ยวกับพลังงานปิโตรเลียม โดยระบุว่า ตามหลักกฎหมายไทย ทรัพยากรธรรมชาติใต้ดินไม่ได้เป็นสมบัติของผู้หนึ่งผู้ใด เจ้าของที่ดินมีสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์บนผืนดินเท่านั้น รัฐบาลต้องเป็นผู้บริหารจัดการทรัพยากรใต้ดินนั้น โดยมอบสิทธิให้เอกชนเป็นผู้สำรวจ ผลิต และนำทรัพยากรมาใช้ รัฐยังต้องเป็นผู้ได้รับรายได้จากค่าภาคหลวงและภาษีต่าง ๆ และยังมีกฎหมายปิโตรเลียม ที่ระบุว่า น้ำมันดิบเป็นของรัฐ ผู้ใดจะสำรวจขุดเจาะไม่ว่าบนที่ดินของตนเองหรือบุคคลอื่นต้องได้รับสัมปทานจากรัฐ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐเป็นคนกำหนด

แต่ที่ผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษ มีแหล่งน้ำมันอยู่แห่งหนึ่งที่กองทัพไทยเป็นเจ้าของ คือ แหล่งน้ำมันลุ่มแอ่งฝาง โดยเป็นบ่อน้ำมันที่กองทัพผลิตเอง สำรวจเอง ขุดเจาะเอง กลั่นเอง และเก็บเงินไว้ใช้เองโดยไม่ต้องส่งคืนคลัง โดยอ้างว่า เป็นการสำรองไว้เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน อยู่ในการดูแลของศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ กรมการพลังงานทหาร ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุม 6 จังหวัดในภาคเหนือ เป็นพื้นที่นอกกฎหมายปิโตรเลียมที่รัฐไม่ต้องสัมปทานให้กับใคร ให้เพียงแค่ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือเป็นผู้รับผิดชอบ โดยไม่ต้องรายงานปริมาณที่ผลิตได้เหมือนเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจรายอื่น

เบญจา กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลการชี้แจงโดยศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ มีการระบุว่า ศูนย์ฯ เป็นผู้ผลิตน้ำมันมาตั้งแต่ปี 2499 มีน้ำมันดิบหลายลุ่มแอ่งใน 6 จังหวัดภาคเหนือ แต่แหล่งฝางเป็นแหล่งที่มีคุณภาพและศักยภาพมากที่สุด มีการขุดมาใช้แล้ว 16 ล้านบาร์เรลจากทั้งหมดประมาณ 300 แห่ง โดยลุ่มแอ่งฝางยังผลิตน้ำมันไปได้อีก 11 ปี และในอนาคตจะมีการสำรวจและขุดเจาะเพิ่มเติมต่อไปในพื้นที่
.
ลุ่มแอ่งฝางมีปริมาณสำรองน้ำมันอยู่ 63 ล้านบาร์เรล มีกำลังผลิตอยู่ที่วันละ 800 บาร์เรลต่อวัน จากการสืบค้นข้อมูลยังพบว่า ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือเคยรายงานต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติว่า มีปริมาณน้ำมันดิบที่ขุดเจาะได้ 3 แสนบาร์เรลต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับภาพรวมน้ำมันดิบของทั้งประเทศ ที่ผลิตน้ำมันดิบได้ราว 29 ล้านบาร์เรลต่อปี หรือวันละ 80,000 บาร์เรล จะเท่ากับว่าน้ำมันที่ผลิตได้ที่ฝางคิดเป็นเพียง 1% ของปริมาณการผลิตน้ำมันทั่วประเทศเท่านั้น เป็นสัดส่วนที่ผลิตได้น้อยมากเมื่อเทียบกับรัฐวิสาหกิจและเอกชนรายอื่น ทำให้ข้ออ้างที่กองทัพมักอ้างเสมอว่า บ่อน้ำมันที่ฝางเป็นไปเพื่อสร้างหลักประกันความมั่งคงทางพลังงานให้แก่กองทัพและประเทศในยามวิกฤติแทบเป็นไปไม่ได้เลย

เบญจา กล่าวต่อไปว่า หากนำเอาปริมาณน้ำมันดิบในปีที่ขุดเจาะได้น้อยที่สุด มาคำนวณด้วยราคาค่าเฉลี่ยกลางด้วยระยะเวลา 68 ปี น้ำมันดิบที่ผลิตจากแหล่งฝางจะมีมูลค่าอย่างน้อยที่สุด 34,000 ล้านบาท ค่าภาคหลวงที่ต้องเสีย 12.5% คิดเป็นเงินจำนวน 4,250 ล้านบาท ไม่รวมภาษีอื่น ๆ นี่เป็นมูลค่าต่ำสุดที่รัฐต้องเสียไปกับการแลกให้กองทัพเอาทรัพยากรของประเทศไปแบ่งปันรายได้ภายในค่ายทหารเท่านั้น คำถามคือ รายได้เหล่านั้นได้ถูกนำไปจัดสรรสวัสดิการให้กำลังพลได้อย่างเป็นธรรมทั่วถึงมากน้อยเพียงใด และเหมาะสมที่กองทัพจะเป็นผู้ลงทุนในธุรกิจนี้ต่อไปหรือไม่

นอกจากนี้กองทัพยังเป็นเจ้าของโรงกลั่นน้ำมันขนาดกำลังกลั่นวันละ 2,500 บาร์เรล โดยน้ำมันที่กลั่นได้ทั้งหมดถูกนำออกไปขายให้ลูกค้าที่เป็นหน่วยงานกองทัพด้วยกัน โดยผลิตภัณฑ์อื่นๆ ยังนำไปขายให้เอกชนที่เป็นคู่ค้าภายนอก ที่เหลือขายออกไปยังต่างประเทศ เช่น ลาว เมียนมา และจีนตอนใต้ โดยที่ต้องส่งน้ำมันไปขายยังต่างประเทศ ก็เพราะน้ำมันดีเซลของโรงกลั่นที่ฝางไม่เป็นไปตามมาตรฐานการรับซื้อของประเทศ เนื่องจากมีค่ากำมะถันสูงเกินไปเทียบเท่าได้กับยูโร 1 ทำให้ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือวันนี้ต้องการงบประมาณเพิ่มเพื่อนำไปสร้างโรงกลั่นแห่งใหม่ และได้เสนอโครงการต่อรัฐบาลแล้ว เรื่องนี้ตนขอให้ทุกคนได้ติดตามอย่างใกล้ชิดว่า รัฐบาลจะอนุมัติงบประมาณถึง 400 ล้านบาทเพื่อสานต่อธุรกิจเดิมของกองทัพที่ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนต่อไปหรือไม่

เบญจา ระบุว่า กองทัพเองไม่มีความจำเป็นใด ๆ ต้องสร้างโรงกลั่นใหม่เพื่อรองรับปริมาณน้ำมันเพียงเท่านี้ ศูนย์ปิโตรเลียมภาคเหนือสามารถส่งน้ำมันดิบของตัวเองออกไปยังโรงกลั่นภายนอกที่มีขีดความสามารถและเทคโนโลยีที่เหมาะสม จะเป็นการไม่สิ้นเปลืองและคุ้มค่ามากกว่ามาก นอกจากนี้ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานร่วมขนาด 10.4 เมกะวัตต์ ดำเนินธุรกิจขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีรายได้หลายร้อยล้านบาทต่อปี แม้จะปลดระวางไปแล้วแต่ก็ต้องตั้งคำถามว่าเงินรายได้มหาศาลกว่า 20 ปีโดยเป็นเงินอุดหนุนที่ไม่ต้องส่งคืนคลังหายไปไหนหมด

แม้จะไม่เคยปรากฏต่อสาธารณะอย่างแน่ชัดว่า รายได้เหล่านี้ได้ถูกจัดสรรให้ใคร จัดสรรสวัสดิการให้กำลังพลเท่าไหร่ แต่ที่แน่ ๆ มีการสะสมทุนนำเม็ดเงินนี้ไปสร้างโรงแรมสองแห่ง คือ Petro Hotel Chiangmai ที่แม้จะมีการอ้างว่า มีภารกิจเพื่อเป็นศูนย์ฝึกบุคลากร แต่จากเพจเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการพบว่า ใช้เป็นที่จัดอบรมจริยธรรมและศีลธรรม ไม่ได้เกี่ยวกับการให้ความรู้ด้านพลังงานอย่างที่กล่าวอ้าง และยังเปิดขายแพคเกจทัวร์และห้องพักแบบทั่วไปด้วย และยังมีโรงแรมที่วิวดีที่สุดในจังหวัดระยองมูลค่ากว่า 770 ล้านบาท โดยใช้ที่ดินราชพัสดุติดริมชายหาด ทำธุรกิจท่องเที่ยวครบวงจรภายใต้ชื่อ Serene Phla Resort Rayong อ้างว่าเพื่อเป็นศูนย์ฝึกบุคลากรด้านปิโตรเลียมและพลังงานเช่นกัน แต่ในเพจเฟซบุ๊กหลักมีการเปิดทำธุรกิจเป็นห้องพักโรงแรม ขายทัวร์ บริการท่องเที่ยวครบวงจร สวนสนุก สวนน้ำ ลานคอนเสิร์ต โดยบางห้องมีราคาสูงถึง 33,000 บาทต่อคืน โดยใช้เงินอุดหนุนจากบ่อน้ำมันที่ฝาง

เบญจา กล่าวต่อไปว่า คำถามคือกองทัพมีความชำนาญเชี่ยวชาญในการบริหารธุรกิจมากน้อยเพียงใด ใช้เงินงบประมาณอย่างคุ้มค่าสมเหตผลหรือไม่ หลายกิจการเป็นการนำไปต่อยอดในธุรกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจหลักของกองทัพ โรงแรมสองแห่งนี้นอกจากใช้เงินอุดหนุนของกองทัพแล้วยังใช้ทรัพยากรของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรจากกำลังพล รับเงินเดือนจากภาษีประชาชน ใช้ที่ดินที่ราชพัสดุที่ทำเลดีที่สุด แต่ที่น่ากังวลที่สุด คือเม็ดเงินที่สร้างโรงแรมทั้งสองแห่งมีมูลค่ามหาศาล แต่กิจการกลับขาดทุนสะสมต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำให้เกิดคำถามว่าในอนาคตจะกลายเป็นภาระทางงบประมาณที่รัฐและประชาชนต้องเข้าไปช่วยอุ้มหรือไม่

ถึงเวลาแล้วที่กองทัพต้องคืนสิทธิในทรัพยากร คืนสมบัติของชาติให้รัฐนำไปจัดสรรและบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นธรรมต่อประชาชนทั้งประเทศ เปิดสัมปทานให้เอกชนสำรวจ ผลิต นำทรัพยากรนี้ใช้พัฒนาประเทศ รัฐจะได้รายได้จากค่าภาคหลวงและค่าภาษีต่าง ๆ เพื่อนำมาบริหารประเทศด้วย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานของกองทัพ กองทัพยังสามารถส่งบุคลากรมาฝึกงานและปฏิบัติงานร่วมกันได้ ส่วนโรงแรม กองทัพควรเปิดให้เอกชนเข้ามาพัฒนาพื้นที่เช่า ให้เอกชนที่มีประสบการณ์เข้ามาบริหารแล้วแบ่งรายได้ส่งให้รัฐ จะสามารถนำไปสนับสนุนเป็นสวัสดิการให้กำลังพลและบริหารจัดการได้อย่างโปร่งใสคุ้มค่ามากกว่า
.
“เราทุกคนเชื่อว่า สมบัติของชาติเป็นของประชาชน ธุรกิจกองทัพต้องถูกปฏิรูปเพื่อให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมต่อประชาชน และนำไปจัดสรรเป็นสวัสดิการให้เหมาะสมต่อกำลังพลชั้นผู้น้อยได้ด้วย ถึงเวลาแล้วที่ต้องคืนทหารให้ประชาชน คืนนายพลกลับไปทำงานในกองทัพ และคืนธุรกิจกองทัพให้รัฐบาลนำไปจัดสรรและกระจายทรัพยากรให้ประชาชนอย่างเป็นธรรม เพื่อสร้างความมั่นคงมั่งคั่งให้เศรษฐกิจของประเทศนี้” เบญจา กล่าว
—————————
จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สส.ฉะเชิงเทรา พรรคประชาชน กล่าวในหัวข้อ “ธุรกิจชิล ๆ สากกะเบือยันเรือรบ” ว่า กองทัพไทยยังทำธุรกิจอีกจำนวนมาก ทั้งที่เคยรู้และไม่เคยรู้ กองทัพยังมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ร้านค้าสวัสดิการ จำนวนมากที่ยังไม่ได้ทำสัญญา โดยมีตลาดสด 18 แห่ง นอกจากนี้ยังมีเรื่องการท่องเที่ยว ภายใต้สำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬา สังกัดกองทัพ โดยกองทัพมีสถานที่จัดแต่งงานอีกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นองค์กรที่มีสถานที่จัดอบรมสัมมนามากที่สุด

กองทัพยังลงทุนทำค่ายมวยที่ควรทำเงิน เช่น สนามมวยลุมพินี เรื่องนี้ กมธ.ได้เรียกร้องให้กองทัพบกเปิดเผยตัวเลขรายรับว่า มีการแบ่งกับเอกชนอย่างไร เพราะบางครั้งมีคนดูการถ่ายทอดสดถึง 400 ล้านคน ถ่ายทอดสดไปหลายประเทศ มากกว่าฟุตบอลพรีมีลีกส์อีก แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เปิดเผยข้อมูล ทราบว่า มีการขายสปอร์ตโฆษณา 3 แสน 5 หมื่นบาทต่อนาทีเท่านั้น

ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมก็พบว่า ในอดีตเคยทำโรงงานฟอกหนัง ผลิตวิทยุ โทรทัศน์ ต่อมาแบกภาระขาดทุนไม่ไหวจึงทยอยปิดตัว เช่น โรงงานแบตเตอร์รี่ เป็นต้น แต่ก็ยังมีโรงงานน้ำแข็งและโรงงานอื่น ๆ ดำเนินกิจการอยู่ ทั้งที่ขาดทุนสะสม

นอกจากนี้ยังพบว่า มีกิจการขนส่งมวลชน กิจการลอยอังคารของกองทัพเรือ ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ การทำธุรกิจการเกษตรที่ทำตั้งแต่ฟาร์มจิ้งหรีด ปลูกข้าวอินทรีย์จนถึงการแปรรูปอาหาร ทั้งนี้ยังพบการลงทุนอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ใช่งานของกองทัพ

“ที่ผ่านมาการทำงาน 9 เดือนของคณะกรรมาธิการพบว่า กองทัพมีพฤติกรรมเลี่ยงการถูกตรวจสอบ เห็นชัดมาก คือ การของบการเงินย้อนหลัง 5 ปี แต่กองทัพส่งเฉพาะหน้าปกงบการเงิน 5 ปีมาให้ ซึ่งคงไม่เกินไปจริง ๆ ที่จะบอกว่า กองทัพมีธุรกิจตั้งแต่สากกะบือยันเรือรบ ผมคิดว่า การมีต้นทุนที่ดินจำนวนมากบวกกับงบประมาณปีละ 2 แสนล้านบาท มีแรงงานวัยหนุ่มจากการเกณฑ์ทหารทำให้เป็นปัญหา”

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพฯ ได้กล่าวสรุปถึงข้อเสนอในการปฏิรูปกองทัพพาณิชย์ โดยระบุว่า การปฏิรูปธุรกิจของกองทัพต้องแบ่งเป็นส่วน ๆ มีการจัดการที่ไม่เหมือนกัน

.
ขอไล่เรียงตั้งแต่เรื่องของสวัสดิการภายใน ซึ่งเข้าใจดีว่า กำลังพลที่อยู่ในค่ายทหารหลายครั้งไม่สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ข้างนอกได้ก็จำเป็นต้องมีบริการบางอย่างที่เป็นสวัสดิการภายในให้กำลังพล ดังนั้น สวัสดิการภายในที่จำเป็นต้องมี มีขนาดไม่ใหญ่ทั้งทางรายได้และจำนวนทรัพย์สิน กองทัพสามารถมีได้เหมือนกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ มี เช่น การพื้นที่ให้ทำร้านข้าวแกงในค่ายทหาร ต่อให้ขาดทุนก็ของบประมาณอุดหนุนได้ เพื่อทำให้พลทหารและครอบครัวที่อยู่ในพื้นที่นั้นมีสวัสดิการที่ดีเพียงพอ
.
ส่วนสวัสดิการในเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่เหตุการณ์กราดยิงโคราชที่ ผบ.ทบ. ในสมัยนั้นก็ได้ริเริ่มให้ปรับเปลี่ยนจากสวัสดิการภายในเป็นสวัสดิการเชิงธุรกิจ เป็นสิ่งที่กฎหมายระบุไว้อยู่แล้วแต่กองทัพไม่เคยทำ เพิ่งมาเห็นในช่วงหลังๆ สิ่งที่แตกต่างคือสวัสดิการเชิงพาณิชย์นั้นต้องนำค่าเช่าที่ดินบวกด้วยส่วนแบ่งของรายได้หรือส่วนแบ่งของกำไรคืนกลับให้รัฐ ดังนั้น ถ้าปรับเป็นสวัสดิการเชิงพาณิชย์เมื่อไหร่ เช่น สนามกอล์ฟ ก็ต้องส่งรายได้คืนกลับคลัง
.
ทั้งนี้เงินนอกงบประมาณกับสวัสดิการเชิงพาณิชย์น่าจะมีการจัดการคล้าย ๆ กัน คือกิจกรรมที่ไม่ควรเป็นของรัฐควรขายที่ยังควรเป็นของรัฐควรโอนให้หน่วยงานที่เหมาะสมเป็นผู้บริหาร ส่วนกิจการที่ยังควรอยู่ในการดูแลของกองทัพก็ประมูลให้เอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นมาเป็นผู้บริหารในระยะยาว ส่วนกิจการที่ไม่จำเป็นและขาดทุนก็ให้ยกเลิกเสีย
.
ธนาธร กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ข้อเสนอของตนไม่ใช่การลดสวัสดิการของพลทหารชั้นผู้น้อย แต่ถ้าสวัสดิการของพลทหารขึ้นอยู่กับกำไรของกิจการก็จะเท่ากับว่า ปีไหนกำไรมากก็มีสวัสดิการ แต่ถ้าปีต่อไปขาดทุนก็ไม่มีสวัสดิการ สวัสดิการพลทหารก็จะไม่มีความเสมอต้นเสมอปลายและไม่มีความมั่นคง เเต่ถ้าสวัสดิการเกิดจากการของบประมาณก็จะมั่นคงทุกปี ไม่ต้องลุ้นว่าปีนี้จะกำไรหรือขาดทุน ถ้าทำให้ถูกต้องครบกระบวนการในกระบวนการงบประมาณปกติทั่วไป สวัสดิการก็จะมีความมั่นคงมากกว่า
.
ทั้งนี้การปฏิรูปองค์กรของรัฐเป็นสิ่งที่ทำกันเป็นปกติรัฐในหน่วยงานอื่นอยู่แล้ว ที่ผ่านมามีการพิจารณาถ่ายโอนสินทรัพย์ระหว่างหน่วยงาน การยุบหรือควบรวมการบริหารจัดการ ทั้งหมดเป็นเรื่องปกติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของภาครัฐ ดังนั้นกิจการของกองทัพเหล่านี้ก็สามารถถ่ายโอนไปให้หน่วยงานรัฐอื่นบริหารสินทรัพย์ได้เช่นกัน เช่น การถ่ายโอนศูนย์ประชุมไปให้กรมธนารักษ์ กิจการไฟฟ้าก็ถ่ายโอนไปที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ก็สามารถถ่ายโอนไปให้กับ อบจ.ปทุมธานี โรงงานเภสัชกรรมทหารก็ถ่ายโอนให้องค์การเภสัชกรรม เป็นต้น
.
ธนาธร กล่าวต่อไปว่า เวลากองทัพพูดถึงความจำเป็นที่ต้องมีกิจการเหล่านี้เป็นไปเพื่อความมั่นคง แต่ในความเป็นจริงคือความมั่นคงหลายด้านมีองค์กรที่เชี่ยวชาญอยู่แล้ว เช่น เรื่องของยาก็มีองค์การเภสัชกรรม ประเทศสามารถมีความมั่นคงทางยาได้โดยไม่จำเป็นต้องให้หน่วยรับผิดชอบภารกิจนี้เป็นกองทัพ เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญและการบริหารทรัพย์สินที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด การถ่ายโอนไปหน่วยงานที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล
.
สำหรับเงินนอกงบประมาณประเภท 2 เช่น โครงข่ายวิทยุ โทรทัศน์ ทีวีดิจิทัล และ ททบ.5 ข้อเสนอสำหรับกรณีคลื่นวิทยุ คือ กองทัพสามารถเก็บไว้ได้ แต่ควรเก็บไว้เฉพาะเท่าที่จำเป็นในภารกิจหลักของกองทัพเท่านั้น เช่น กองทัพเรือจำเป็นจะต้องมีคลื่นวิทยุและสถานีวิทยุที่ติดชายหาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลื่น AM เพื่อให้สามารถสื่อสารเข้าไปในทะเลได้ หรือกองทัพอากาศต้องมีสถานีแและคลื่นวิทยุในบริเวณที่ใกล้สนามบินในปฏิบัติการที่เป็นภารกิจหลัก เช่นนี้กองทัพควรจะมีได้และควรมีต่อไป ส่วนที่เหลือควรคืนให้ กสทช. แล้วเปิดประมูลให้หมด
.
สำหรับ MUX กองทัพไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องถือครองโครงข่ายทีวีดิจิทัลด้วยตัวเอง เพราะเวลาทั้งหมดก็เอาไปให้เอกชนเช่าแล้วก็เก็บรายได้เข้าสู่ตัวเองอยู่แล้ว โดยที่ประชาชนตรวจสอบไม่ได้ แต่จากการคาดการณ์ รายได้น่าจะสูงถึงปีละ 700-1,000 ล้านบาท
.
ส่วนกรณี ททบ.5 รายได้หลักมาจากรัฐ หมายความว่ามีเงินฟรี 600-800 ล้านบาทต่อปี ถ้าอยู่ด้วยตัวเองนี่คือสภาวะขาดทุน ดังนั้น ททบ.5 จึงมีทางเลือกที่จะเป็นอย่าง NBT หรือ MCOT หรือทีวีรัฐสภาหรือถ้าต้องการผลิตรายการเพื่อความมั่นคงเพื่อสื่อสารกับประชาชนจริง ๆ ก็ให้กองทัพผลิตรายการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแล้วเอารายการไปออกอากาศทางช่อง 9 ช่อง 11 หรือในทีวีรัฐสภา หรือไทยพีบีเอสก็ได้ แต่กองทัพไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ด้วยตัวเอง
.
ธนาธร กล่าวต่อไปว่า ที่สำคัญที่สุด คือ จะต้องยกเลิกไม่ให้มีเงินนอกงบประมาณประเภทที่ 2 ซึ่งกองทัพเป็นเพียงหน่วยงานเดียวเท่านั้นที่มีอยู่ ไม่มีหน่วยงานอื่นที่มีเงินนอกงบประมาณประเภทนี้ ที่กระทรวงการคลังอนุญาตให้เขียนระบบการใช้งบประมาณเอง อนุมัติเอง จัดซื้อจัดจ้างเอง สอบบัญชีเอง อย่างในกรณีคลื่นวิทยุที่มีการพูดถึงในวงเสวนานี้ เวลากองทัพทำสัญญาจัดรายการกับบริษัทเอกชน ไม่มีสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง สิ่งเดียวที่อ้างอิงได้คือเอ็มโอยู ไม่มีแม้แต่สัญญาเชิงพาณิชย์ และไม่มีความผูกพันทางกฎหมาย
.
ส่วนการลงทุนในบริษัทต่าง ๆ ของกองทัพ ที่มีนัยสำคัญ คือ การลงทุนในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คือ กรณีบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด ข้อเสนอของตน คือ นำบริษัทนี้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้วให้กองทัพขายหุ้นให้ลดลงเหลือต่ำกว่า 25% ส่วนกรณีบริษัท อาร์ทีเอเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ความเสียหายเกิดขึ้นไปจนจบแล้ว หรือพูดง่าย ๆ คือ หนี้ที่กองทัพไทยให้อาร์ทีเอกู้ไปพันกว่าล้านบาท ต้องยอมรับว่า วันนี้เป็นหนี้สูญแล้ว เก็บจากใครไม่ได้แล้ว แต่ที่สำคัญ คือ ต้องมีการยอมรับข้อผิดพลาดในอดีต ไม่ใช่พยายามปกปิดอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้
.
ธนาธร กล่าวต่อไปถึงกรณีที่ดินว่า ที่ดินกว่า 5.8 ล้านไร่ที่กองทัพถือครองอยู่ กองทัพยังสามารถถือครองที่ดินเป็นของตัวเองได้ แต่ต้องถือครองเฉพาะที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินภารกิจหลักเท่านั้น ส่วนที่ดินที่ไม่เกี่ยวข้องให้นำคืนกระทรวงการคลังเพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนเอาไปทำประโยชน์ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นด้านที่ดินทำกิน การพัฒนาพื้นที่สาธารณะ หรือการพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่น กรณีเชียงใหม่ กองทัพมีที่ดินอยู่ทั้งในเขตที่เป็นทั้งเมืองและป่า มีหลายกรณีที่เป็นพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ของชาวบ้านและมีข้อพิพาทกัน ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่กองทัพจะต้องถือครองที่ดินในบริเวณนี้ ซึ่งสามารถเอามาพัฒนาในเชิงพาณิชย์หรือเอามาปรับเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ได้
.
เมื่อเกิดการปฏิรูปกองทัพพาณิชย์แล้ว ประเทศจะสามารถลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นได้ ทั้งค่าน้ำค่าไฟ จำนวนบุคลากร ค่าดำเนินการที่ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจหลักก็จะลดลงไป ทรัพย์สินที่ได้มาเอามาบริหารปรับปรุงให้ถูกต้องโดยมืออาชีพและคนที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง ก็จะทำให้ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มขึ้น รัฐไทยจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 10,000 ล้านบาทนำมาพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ ได้ ส่วนผลตอบแทนที่ไม่ใช่ตัวเงินคือกองทัพจะเล็กลง มุ่งเน้นเฉพาะภารกิจหลัก มีสมาธิโดยไม่ไขว้เขว และสุดท้ายจะนำมาสู่คุณภาพชีวิตประชาชนที่ดีขึ้น และกองทัพได้รับการยอมรับจากประชาชนมากขึ้น
.
ธนาธร กล่าวต่อไปว่า เหตุผลที่ต้องมีการพูดถึงกองทัพพาณิชย์ ก็เพราะนี่คือการใช้ทรัพยากรของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความถี่ ที่ดิน งบประมาณ น้ำมัน โดยเป็นการใช้ฟรีด้วย นี่คือเหตุผลที่ทำไมงบประมาณของประเทศไม่เคยเพียงพอในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่ประชาชนตั้งคำถามขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขนส่งสาธารณะ การศึกษา หรือสวัสดิการต่างๆ ที่ต้องพูดถึงเรื่องนี้ก็เพราะในการบริหารจัดการรัฐ มันคือการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะทรัพย์สินที่อยู่ในการดูแลของกองทัพมีลักษณะร่วมกันอย่างหนึ่งคือการไม่ถูกตรวจสอบ เมื่อไม่ถูกตรวจสอบก็ไม่รู้ว่า มีประสิทธิภาพหรือไม่และจัดการอย่างไม่เป็นธรรมทั้งกับหน่วยงานอื่นและกับประชาชนหรือไม่
.
“สามารถเรียกได้ว่า กองทัพมีสภาวะยกเว้นทางเศรษฐกิจ คือ การที่มีคนกลุ่มหนึ่งมีอภิสิทธิ์บางอย่างที่ไม่ต้องทำตามกฎหมายและคนกลุ่มนี้ก็ได้สร้างชุดคำอธิบายมาสารพัดเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการดำรงอยู่ของอภิสิทธิ์เหล่านี้ เมื่อพูดถึงว่าคำว่าความมั่นคงเมื่อไหร่ เมื่อพูดถึงคำว่าการปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เมื่อไหร่ คุณไม่ต้องพูดอะไรที่เป็นเหตุเป็นผลอีกเลย” ธนาธร กล่าวสรุป