เผยแพร่ |
---|
‘จาตุรนต์’ กล่าวรำลึก “คนเดือนตุลาตายหรือยัง” ชี้ เรียกร้องจากคนตุลาไม่ได้ แต่อุดมการณ์เดือนตุลายังมีความหมาย
.
วันนี้ (6 ต.ค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ร่วมกล่าวรำลึกครบรอบ 48ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในหัวข้อ “คนเดือนตุลาตายหรือยัง” โดยเผยว่าแม้คนเดือนตุลาจะมีความแตกต่างหลากหลาย จนทำให้หลายคนคิดไปว่าไม่สามารถเรียกร้องอะไรจากคนเดือนตุลาได้อีก แต่อุดมการณ์เดือนตุลาที่เป็นประสบการณ์จากทั้งพ่ายแพ้และชนะ สามารถนำมาเป็นบทเรียนในการทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยผ่านการแกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ โดยนายจาตุรนต์ กล่าวว่า
สวัสดีผู้รักประชาธิปไตยทุกท่าน บ่ายวันนี้ผมได้มากล่าวรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา ในหัวข้อ “คนตุลาตายหรือยัง?” ทำให้การพูดในวันนี้เกินความสามารถที่จะพูดในนามพรรคการเมือง ผมจึงพูดในฐานะนายจาตุรนต์ ฉายแสง ที่เป็นคนเดือนตุลา
.
ที่ธรรมศาสตร์วันนี้มีป้ายติดหน้าหอประชุมใหญ่เขียนไว้ว่า “48 ปี 6 ตุลาคมไม่มีแล้วอุดมการณ์” ก็แสดงว่าผู้คนให้ความสนใจในประเด็นทำนองนี้
.
พอบอกว่า “คนเดือนตุลาคมตายหรือยัง” ก็ยังดีที่ไม่ถามไปอีกว่า “คนเดือนตุลาตายหมดหรือยัง” แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกขอบคุณที่ตั้งหัวข้อแบบนี้แล้วให้ผมมาพูด อย่างน้อยก็ไม่น่าจะเชิญคนที่ตายแล้วมาพูด คนที่ตายไปแล้วไม่น่าจะพูดอะไรได้อีก
.
ผมขอย้ำอีกครั้งหนึ่งเหมือนกับที่พูดรำลึกในหลาย ๆ ปีที่ผ่านมาประการแรกว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา ที่มีการ สังหารหมู่นักศึกษาประชาชนจำนวนมากกลางกรุงเทพฯ เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบเสียหายร้ายแรงต่อธรรมศาสตร์เท่านั้น แต่มีผลกระทบต่อนักศึกษาประชาชนที่ร่วมต่อสู้ทั่วประเทศ
.
ประการที่ 2 เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นกลางดึกของคืนวันที่ 5 ต่อมาเช้าวันที่ 6 แล้วจบลงในเย็นวันที่ 6 แค่นั้น แต่เหตุการณ์ 6 ตุลา คือความต่อเนื่องของความตั้งใจและการวางแผนไว้ล่วงหน้าเพื่อที่จะทำรัฐประหาร ทำลายประชาธิปไตยและนำสังคมไทยสู่การปกครองระบอบเผด็จการอีกครั้งหนึ่ง… นั่นคือความหมายของ 6 ตุลาในความเห็นผม
มีการศึกษาและพูดถึงเหตุการณ์เดือนตุลา คนเดือนตุลา และอุดมการณ์เดือนตุลา ให้เป็นเหตุการณ์ที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์ อย่างเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทำให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย จากที่มีผู้เข้าร่วมต่อสู้หลายฝ่ายทั้งนักศึกษา ประชาชน รวมถึงชนชั้นนำ แต่หลายคนก็พูดว่าผ่าน 14 ตุลาก็ไม่เห็นชนะเลย สุดท้ายก็โดนยึดอำนาจไปเมื่อตอน 6 ตุลา 2519อยู่ดี
.
นั่นก็เป็นความจริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์ 4 ตุลา ไม่มีความหมาย เพราะเมื่อประชาชนพร้อมใจกันขึ้นมาต่อสู้กับเผด็จการ เรียกร้องประชาธิปไตย จนสามารถเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองได้ ทำให้เห็นบรรยากาศของบ้านเมืองที่มีเสรีภาพ ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงเท่าเทียมกัน ประชาชนที่ทุกข์ยากถูกกดเอาไว้เป็นเวลาสิบ ๆ ปีสามารถขึ้นมาเรียกร้องสิทธิประโยชน์ของตนเองได้ ส่วนนักศึกษาประชาชนและคนหนุ่มสาวก็สามารถที่จะใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีงาม เรียกร้องสังคมที่ดีงาม และต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีงามก็เกิดขึ้นได้เพราะมีการต่อสู้ในเหตุการณ์ 14 ตุลา
.
พอเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เกิดการสังหารหมู่ มีการปราบนักศึกษาประชาชนต่อเนื่องกันมา รวมถึงผู้นำกรรมกรผู้นำชาวนาหลายสิบคนถูกฆ่ามาก่อนหน้านั้น ในที่สุดก็เกิดการวางแผนเพื่อใส่ร้ายป้ายสีนักศึกษาที่ชุมนุมกันในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และนำมาสู่การสังหารโหด ต่อด้วยการรัฐประหาร
.
ทั้งหมดนี้คือเหตุการณ์เดือนตุลา
.
แต่ “คนเดือนตุลา” ที่หมายถึงกันก็คือคนที่เข้าร่วมในเหตุการณ์ต่อสู้ในเดือนตุลา ซึ่งหมายถึงตั้งแต่ก่อน 14 ตุลา 2516 มาจนถึง 6 ตุลา 2519 และหลังจากนั้นไปอีกระยะหนึ่ง ช่วงเวลาทั้งหมดนี้คือคนเดือนตุลา
.
คนเดือนตุลาที่ว่าผ่านการเมืองจากทั้ง 14 ตุลาที่รับแนวคิดเสรีประชาธิปไตยเข้ามา ร่วมกันต่อต้านเผด็จการ ทำให้มีการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ โดยเรียกร้องง่ายๆตรงไปตรงมาก็คือจากที่ไม่มีรัฐธรรมนูญเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญ ส่วน 6 ตุลาเกิดขึ้นจากการต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม หมายความว่าต่อต้านการกลับมาของเผด็จการ แต่ในระหว่างนั้นก็มีแนวคิดสังคมนิยมเข้ามาสู่สังคมไทยและสู่ขบวนการต่อสู้
.
แต่ถึงอย่างไรขบวนการที่นักศึกษาประชาชนต่อสู้ช่วงเดือนตุลาใน 3 ปีกว่าๆนั้น เป็นขบวนการที่ประกาศต่อสาธารณชนว่าไม่เอาเผด็จการ ต้องการประชาธิปไตยต้องการเสรีภาพ ขบวนการนี้ไม่ได้เรียกร้องว่าต้องไปต่อสู้ด้วยอาวุธ และไม่ได้เรียกร้องว่าต้องเปลี่ยนประเทศไทยเป็นสังคมนิยม แต่ว่าในที่สุดเหตุการณ์ 6 ตุลาและการรัฐประหารได้ผลักให้ขบวนการนักศึกษาประชาชน เขาป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และไปต่อสู้ในแนวทางสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์
.
แล้วมันไปสิ้นสุดเมื่อขบวนการนักศึกษาเดือนตุลาออกจากป่า ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่สังคมนิยมในโลกกำลังล่มสลาย โซเวียตกำลังล่มสลาย ประเทศสังคมนิยมหลายประเทศเปลี่ยนแปลงไปหมด รวมถึงอาเซียนก็มีการเปลี่ยนแปลงของสังคมนิยมอย่างมาก นักศึกษาออกจากป่ามาได้ข้อสรุปว่าการต่อสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ใช่ทางออก ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง พิมพ์เขียวของสังคมนิยมก็ไม่มีอีกต่อไป และไม่นานพรรคคอมมิวนิวส์ก็เลิกไป
.
ผมยกเรื่องนี้มาเพื่อที่จะบอกว่า คนเดือนตุลาในระหว่าง 4-5 ปีที่กล่าวมานี้ก็ยังมีความคิดที่ต่างกัน ดังนั้นต่อมาอีก 48 ปีคนเดือนตุลาซึ่งมีความคิดแตกต่างกันนี้ ผ่านเหตุการณ์ต่างๆที่หลากหลายมากมาย ความคิดต่างๆก็ย่อมหลากหลายต่างกันไป ซึ่งการต่อสู้ไม่ว่าที่ไหนในโลกเป็นธรรมชาติว่าเมื่อผ่านการต่อสู้ระยะหนึ่งจะไม่มีทางที่จะรักษาความคิดอย่างเดิมจนหยุดนิ่งได้
.
คนเดือนตุลาจึงเลือกที่จะจำต่างกัน เลือกที่จะลืมต่างกัน บางคนก็จำมาว่ารัฐสภาเป็นของหลอกลวงของชนชั้นนายทุน บางคนก็จำมาว่าต้องล้มทุนนิยมเพราะเราเป็นสังคมนิยม บางคนก็คิดว่าต้องล้มรัฐบาลไม่ว่ารัฐบาลแบบไหนก็จะล้ม และบางคนก็เลยไปถึงขั้นจะสนับสนุนการรัฐประหาร อันนี้ก็ชักไม่ใช่คนเดือนตุลา เพราะคนเดือนตุลาที่ผ่านมาเขาต่อสู้เพื่อต่อต้านเผด็จการ
.
การที่ผมบอกว่าคนเดือนตุลามีความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องธรรมดา แต่ผมไม่ได้จะบอกว่างั้นก็ช่างมัน ในทางกลับกันผมกำลังบอกว่าบางทีเราอาจไม่สามารถเรียกร้องให้คนเดือนตุลาเหมือนกันได้ แต่เราควรจะมาให้ความสนใจกับอุดมการณ์เดือนตุลา ที่ยังมีความหมายและมีคุณค่าเพราะสังคมไทยปัจจุบันนี้ยังไม่เป็นประชาธิปไตย
.
แต่ถามว่าอุดมการณ์เดือนตุลา พอหรือไม่กับสังคมในปัจจุบัน ที่เรามีรัฐธรรมนูญที่ซับซ้อนที่สุด ไม่เป็นประชาธิปไตยที่สุด และมีภูมิต้านทานในตัวเองให้แก้ได้ยากที่สุด
.
ดังนั้นถ้าเราเห็นว่าอุดมการณ์นี้ยังมีความหมาย ผู้คนพากันมารำลึกถึงเหตุการณ์ดือนตุลา ผมคิดว่าเราต้องศึกษาทำความเข้าใจอุดมการณ์เดือนตุลา ซึ่งเป็นสิทธิ์ของทุกคนที่จะเรียกร้องกับคนเดือนตุลา แต่ที่สำคัญคือบทเรียนและประสบการณ์ของคนเดือนตุลาก็น่าจะยังเป็นประโยชน์ เอาบทเรียนทั้งที่ประสบความสำเร็จทั้งที่ล้มเหลว บทเรียนของความพ่ายแพ้ที่มีมากกว่าชนะ ให้บทเรียนนี้นำมาใช้ในการต่อสู้เพื่อให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยต่อไปครับ