เผยแพร่ |
---|
กลายเป็นที่ฮือฮาในโซเชียลมีเดีย เมื่อเพจเฟซบุ๊ก ของ ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติโพสต์ข้อความในเชิงตั้งคำถามต่อประชาชนว่า “สร้างสังคมให้โปร่งใสไร้การทุจริต ต้องเริ่มจากอะไร?
หลังจากโพสต์เผยแพร่ออกไปไม่นาน โพสต์ดังกล่าวมีคนกดไลค์กว่า 2 หมื่นครั้ง แสดงความเห็นเกือบหมื่นข้อความ แชร์ต่อกว่า 8,000 ครั้ง โดยเสียงส่วนใหญ่คอมเมนต์เป็นเอกฉันท์ว่า ต้องเริ่มที่ ปปช. (คลิกอ่าน)
ทำให้ต่อมา เพจดังกล่าว ต้องปิดไม่ให้มีการแสดงความเห็น และทำการแก้ไขข้อความใหม่ว่า “สร้างสังคมให้โปร่งใส ไร้การทุจริตเริ่มได้จากพวกเรา คนไทยทุกคน”
ทั้งนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นองค์กรอิสระที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทุจริต ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อภาครัฐและการพัฒนาประเทศ
สำหรับ ที่มาของ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน เคยเป็นที่ถกเถียงในสังคมอย่างกว้างขวางในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ ตั้งแต่การถูกแต่งตั้งตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 22 กันยายน 2549 จนดำรงตำแหน่งมาจนถึงปี 2558 ต่อมาใน ป.ป.ช.ชุดใหม่ ก็ถูกรับรองโดย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. และ วุฒิสภาชุดก่อน ที่ถูกแต่งตั้งโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เช่นกัน
เป็นโอกาสอันดี ในการย้อนกลับไปทบทวน กับ ข่าวดังในอดีตเกี่ยวกับ ปปช. ที่เคยเกิดขึ้น
1.คดีการหมดอายุความ คดีของ สุนทร วิลาวัลย์ (อ่านข่าว) อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรีที่เกี่ยวข้องกับการบุกรุกที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กอร.มน.และชุดพญาเสือนำโดย นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ลงพื้นที่ตรวจสอบตั้งแต่ ปี 2560 ซึ่งพบที่ดินของนายสุนทร ออกโฉนดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ป.ป.ช.รับเรื่องตั้งแตปี 2563 แต่กว่า ป.ป.ช.จะชี้มูลความผิดคือ 31 พ.ค.2565 โดยเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป เป็นเผยว่า ทาง ป.ป.ช. ได้ประสานมายัง ตำรวจเพื่อให้ช่วยเร่งรัดตามจับกุมนายสุนทร และพวก ที่ยังอยู่ระหว่างการหลบหนีมาดำเนินคดีเร่งด่วน เนื่องจากคดีจะหมดอายุความในวันที่ 13 มิถุนายน กรณีนี้ ป.ป.ช.จึงถูกวิจารณ์ว่าล่าช้า
2.คดีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าไม่มีการดำเนินการอย่างเข้มงวด ทำให้สังคมมองว่าป.ป.ช. ขาดความเป็นกลางในหลายกรณี หลัง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ได้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้และตั้งคณะทำงานเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริง ในปี 2565 ป.ป.ช. มีมติให้ยกเลิกการสอบสวน เพราะไม่พบความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและการมีนาฬิกาหรู โดยให้เหตุผลว่าการที่เขาได้รับนาฬิกาเหล่านี้ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ถึงการกระทำที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมาย แถมภายหลัง ป.ป.ช.ยังถูกศาลปกครองสั่งลงโทษปรับเงิน ฐานไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลการสอบสวนคดีนาฬิกา “บิ๊กป้อม”ตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งไปก่อนแล้ว
3.คดีของ อิทธิพล คุณปลื้ม ดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา ผู้กว้างขวางแห่งเมืองชลบุรี ที่ระยะเวลาทำคดียาวนาน ล่าช้าเกิน 15 ปี จนศาลพิพากษายกฟ้อง เพราะขาดอายุความ ซึ่งอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรณีการออกใบอนุญาตสร้างโครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ สวีท แอนด์ เรสซิเดนท์ หาดพัทยา จ.ชลบุรี โดยไม่ถูกต้อง ศาลได้ยกประเด็นการขาดอายุความ ยกฟ้องคดีในส่วนของนายอิทธิพล แต่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติมีความผิด คดีนี้ ป.ป.ช.ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่า ฟ้องล่าช้า ทำให้ศาลยกฟ้อง
4.คดีคลองด่าน เกี่ยวข้องกับการทุจริตในหน่วยงานรัฐ ป.ป.ช.ถูกกล่าวหาว่าละเลยการตรวจสอบที่เข้มงวด ทั้งที่มีความเสียหายถึง 24,900 ล้านบาท แต่คดีกลับใช้เวลานานจนหมดอายุความบางส่วน และการลงโทษก็ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังจากสังคม โดยเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ป.ป.ช.ได้ยุติไต่สวนข้อกล่าวหา ‘วัฒนา อัศวเหม’ อดีตรมช.มหาดไทย – พวก คดีใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ข่มขืนใจเจ้าหน้าที่อบต.คลองด่าน จัดทำหลักฐานการประชุมเท็จ เพื่อใช้ประกอบการเบิกเงินที่มีส่วนได้เสีย เพราะเจ้าตัวหลบหนีหมายจับคดีขาดอายุความ
5. ประธาน ป.ป.ช. พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ (พ้นจากวาระเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่าน) ถูกวิจารณ์ในหลายประเด็นตลอดการดำรงตำแหน่ง โดยมีข้อครหาว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งอาจกระทบต่อความเป็นกลางในการทำงาน เพราะเคยเป็นเลขาธิการของ พล.อ.ประวิตรมาก่อน ทำให้ถูกมองว่าเขาอาจเป็นตัวแทนของกลุ่มการเมืองที่มีอำนาจอยู่เบื้องหลัง อย่างไรก็ตาม วัชรพลปฏิเสธว่าเขาทำหน้าที่อย่างอิสระตามกฎหมาย และพร้อมรับการตรวจสอบจากสาธารณะ ซึ่งกรณีปัญหาคดีนาฬิกาบิ๊กป้อม ก็ได้ถูกนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ออกมาแถลงจี้ให้เป็น“พล.ต.อ. วัชรพล” จากการสอบสวน โดยให้เหตุผลว่า สังคมรับรู้ในวงกว้างว่าใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร มาก่อน